สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 1 ธ.ค. 2565

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 1 ธ.ค. 2565


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบในวันพฤหัสบดี (1 ธ.ค.) หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีภาคการผลิตร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี ซึ่งทำให้ตลาดวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขณะที่นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐในวันนี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,395.01 จุด ลดลง 194.76 จุด หรือ -0.56%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,076.57 จุด ลดลง 3.54 จุด หรือ -0.09% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,482.45 จุด เพิ่มขึ้น 14.45 จุด หรือ +0.13%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกในวันพฤหัสบดี (1 ธ.ค.) และอยู่เหนือระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน เนื่องจากนักลงทุนขานรับความเห็นของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ส่งสัญญาณชะลออัตราการปรับขึ้นดอกเบี้ย และจีนตัดสินใจผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคโควิด-19

ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 443.96 จุด เพิ่มขึ้น 3.92 จุด หรือ +0.89%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,753.97 จุด เพิ่มขึ้น 15.42 จุด หรือ +0.23%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 14,490.30 จุด เพิ่มขึ้น 93.26 จุด หรือ +0.65% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,558.49 จุด ลดลง 14.56 จุด หรือ -0.19%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลบในวันพฤหัสบดี (1 ธ.ค.) หลังปรับตัวขึ้น 2 วันติดต่อกัน โดยหุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มการเงินร่วงลง และการแข็งค่าของเงินปอนด์เมื่อเทียบกับดอลลาร์ถ่วงตลาดลงด้วย หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าจะชะลออัตราการปรับขึ้นดอกเบี้ย

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,558.49 จุด ลดลง 14.56 จุด หรือ -0.19%

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันพฤหัสบดี (1 ธ.ค.) โดยได้ปัจจัยหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ และความหวังที่ว่าความต้องการใช้น้ำมันในจีนจะฟื้นตัว หลังจากทางการจีนประกาศผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ในกรุงปักกิ่งและเมืองกว่างโจว

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนม.ค. เพิ่มขึ้น 67 เซนต์ หรือ 0.8% ปิดที่ 81.22 ดอลลาร์/บาร์เรล

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนม.ค. ลดลง 9 เซนต์ หรือ 0.1% ปิดที่ 86.88 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 3% ในวันพฤหัสบดี (1 ธ.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์และการร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ นอกจากนี้ ข้อมูลที่บ่งชี้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว ยังเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดทองคำ

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. พุ่งขึ้น 55.3 ดอลลาร์ หรือ 3.14% ปิดที่ 1,815.2 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค. 2565

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 1.06 ดอลลาร์ หรือ 4.87% ปิดที่ 22.841 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนม.ค. เพิ่มขึ้น 15.6 ดอลลาร์ หรือ 1.5% ปิดที่ 1,054.9 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนธ.ค. พุ่งขึ้น 80.30 ดอลลาร์ หรือ 4.3% ปิดที่ 1,946.30 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (1 ธ.ค.) หลังมีรายงานบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังถูกกดดันจากการที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าเฟดจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธ.ค.

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 1.15% แตะที่ระดับ 104.7300

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 135.24 เยน จากระดับ 137.99 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9367 ฟรังก์ จากระดับ 0.9455 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3427 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3443 ดอลลาร์แคนาดา และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับโครนาสวีเดน ที่ระดับ 10.3088 โครนา จากระดับ 10.5042 โครนา

ส่วนยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ที่ระดับ 1.0522 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0414 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2257 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2055 ดอลลาร์

Back to top button