“กกร.” ชี้ GDP ไทยปี 66 ขยายตัว 3-3.5% โตต่ำภูมิภาค เซ่นพิษเศรษฐกิจอ่อนแอ

“กกร.” คาดเศรษฐกิจไทยปี 66 ขยายตัว 3.0-3.5% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่น้อยกว่าภูมิภาค ขณะที่การส่งออกประเมินว่าจะชะลอตัวตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลง


นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า ที่ประชุม กกร. ประเมินเศรษฐกิจว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเริ่มมีผลกระทบต่อการส่งออกอย่างชัดเจน กิจกรรมในภาคการผลิตของประเทศหลักไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ กลุ่ม EU ญี่ปุ่น และจีน ชะลอตัวลงพร้อมกันในเดือนพ.ย. สอดคล้องกับการที่การส่งออกสินค้าหดตัวในประเทศที่มีความสำคัญด้านห่วงโซ่อุปทาน ได้แก่ เกาหลีใต้ และไต้หวัน ส่วนการส่งออกของประเทศไทยก็หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 20 เดือนในเดือนต.ค.

สำหรับในปี 66 เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องจากภาวะการเงินที่ตึงตัว และวิกฤตเงินเฟ้อ โดยเขตเศรษฐกิจหลักเผชิญความเสี่ยงที่แตกต่างกัน สหรัฐฯ เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวแต่อาจไม่เกิดภาวะถดถอยเนื่องจากตลาดแรงงานยังแข็งแกร่ง ขณะที่ยุโรปจะได้รับผลกระทบหนักสุดจากวิกฤตพลังงานจึงมีโอกาสสูงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย ส่วนจีนที่กลับมาประสบปัญหาการแพร่ระบาดระลอกใหม่รวมถึงการต่อต้านมาตรการล็อกดาวน์อาจซ้ำเติมเศรษฐกิจจีนที่อยู่ในช่วงชะลอตัวจากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์

โดยที่ประชุม กกร. จึงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 66 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 3.0-3.5% ซึ่งจะเป็นอัตราการเติบโตที่น้อยกว่าประเทศคู่เทียบในภูมิภาคอาเซียนอย่าง มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ขณะที่การส่งออกประเมินว่าจะชะลอตัวตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลง ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวในกรอบ 1.0% ถึง 2.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ในกรอบ 2.7 ถึง 3.2%

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจยังมีสัญญาณของความเปราะบางที่สะท้อนให้เห็น เช่น สินเชื่อที่ถูกจัดชั้นว่ามีความเสี่ยงด้านเครดิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนั้นมีสัดส่วนที่สูงขึ้น และผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ยังมีการค้างชำระเป็นสัดส่วนสูงแม้จะพ้นช่วงโควิด-19 มาแล้ว นอกจากนี้ เครื่องยนต์เดียวอาจมีแรงส่งไม่เพียงพอ ในภาวะที่ธุรกิจมีแรงกดดันจากภาวะต้นทุนจากค่าไฟ ค่าแรง และวัตถุดิบ

นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบจากบริบทของการปรับนโยบายเศรษฐกิจสู่ภาวะปกติ (Policy Normalization) ของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะการปรับค่าธรรมเนียม FIDF ตั้งแต่ ม.ค. 66 ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของระบบการเงิน และอาจจะทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปรับสูงขึ้นได้ถึง 0.4-0.6% ในคราวเดียว

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 65 ยังขยายตัวสอดคล้องกับกรอบการประมาณการที่เคยคาดไว้ จากอานิสงส์ของการส่งออกในช่วง 9 เดือนแรก และตามการปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยวและอุปสงค์ภายในประเทศ โดยที่ประชุม กกร. คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 65 จะขยายตัวได้ 3.2% ขณะที่มูลค่าการส่งออกจะขยายตัวได้ 7.25% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าอยู่ที่ 6.2%

ด้านนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ในประเด็นทิศทางดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นจาก 0.5% เป็น 1.25% ในปี 65 และมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปี 66 โดยที่ประชุม กกร. ประเมินว่าเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว และมีความจำเป็นเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง

นอกจากนี้ ธปท.จะมีการปรับขึ้นค่าธรรมเนียม FIDF กลับสู่ระดับปกติที่ 0.46% ในคราวเดียว ตั้งแต่ ม.ค. 66 ทำให้ต้นทุนในระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นราว 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งการส่งผ่านนโยบายดังกล่าวจะเกิดขึ้นโดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์

ดังนั้น การปรับนโยบายเศรษฐกิจสู่ภาวะปกติ จะส่งผลให้ภาคครัวเรือนและธุรกิจมีต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นในระยะข้างหน้า ระบบธนาคารพาณิชย์ได้ติดตามและประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ จากข้อมูลของเครดิตบูโรพบว่า ณ เดือนก.ย. 65 มีลูกหนี้รายย่อยที่ประสบปัญหาในการชำระหนี้เกิน 90 วันจากผลกระทบจากโควิด-19 อยู่ราว 3.2 ล้านราย โดยในจำนวนนี้เป็นลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ราว 4.24 แสนราย เพิ่มขึ้นจาก 2.75 แสนรายในเดือนม.ค. 65

นอกจากนี้ ยังพบว่าลูกหนี้ธุรกิจขนาดเล็กที่มีวงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท ประสบปัญหาในการชำระหนี้  1 เดือนและ 2 เดือนขึ้นไป ยังคงเพิ่มขึ้นแม้โควิด-19 จะคลี่คลายลงแล้ว ทั้งนี้ ระบบธนาคารพาณิชย์จึงยังมีการกันสำรองในระดับสูงเพื่อให้มั่นใจในความมีเสถียรภาพ ในขณะเดียวกันก็พร้อมให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในช่วงการเปลี่ยนผ่าน และพร้อมสนับสนุนการปรับตัวที่จะนำไปสู่การฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน

นายผยง กล่าวว่า จากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวแต่ยังมีความเปราะบาง กระทรวงการคลังจึงประสานงานกับสถาบันการเงินของรัฐจัดงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้สัญจร : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” เพื่อช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่มแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างครบวงจร ซึ่งได้จัดไปแล้ว 2 ครั้ง ที่กรุงเทพฯ และขอนแก่น และจะจัดงานครั้งที่ 3 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 16-18 ธ.ค. 65 และในปี 66 จะมีการจัดงานที่จ.ชลบุรี และอ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

กกร. ยังได้หารือเรื่องความตระหนักถึงผลกระทบจากค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่จะปรับเข้าสู่ระดับปกติตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยทั่วโลก จึงมีความเห็นว่านโยบายปรับอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อชะลอผลกระทบต่อลูกค้าโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง กลุ่มที่รายได้ยังกลับมาไม่เต็มที่ และผู้ประกอบการรายย่อยหรือ SMEs ให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด สามารถประคองตัวในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ไปได้ โดยคำนึงถึงการส่งเสริมการออมเงินของประชาชนเป็นสำคัญ

นอกจากนี้ ธนาคารยังมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าลดภาระทางการเงิน และสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างยั่งยืน ซึ่งธนาคารแต่ละแห่งจะพิจารณาและเสนอแนวทางการช่วยเหลือการปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้และความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละราย เพื่อให้สามารถช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด

Back to top button