กสทช. เปิดโอกาส 15 วัน “กกท.” คืนเงิน 600 ลบ. ก่อนเดินหน้าฟ้องศาล!

กสทช. ขีดเส้น “กกท.” คืนเงินสนับสนุนซื้อลิขสิทธิ์ “ฟุตบอลโลก” 600 ล้านบาท ภายใน 15 วัน ก่อนเดินหน้าฟ้องศาล! หากไม่อยากจ่ายต้องยกเลิก MOU กับ TRUE พร้อมให้ประชาชนรับชมฟุตบอลโลกทั่วถึง


นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยว่า บอร์ด กสทช.วานนี้มีฉันทามติทั้ง 6 เสียงให้การกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. คืนเงิน 600 ล้านบาทที่ใช้สนับสนุนการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกปี 2022 รอบสุดท้าย ภายใน 15 วัน หลังจากไม่สามารถปฏิบัติได้ตามบันทึกข้อตกลง (MOU) ไว้ทั้งที่ กสทช.ได้ย้ำกับทาง กกท.เกี่ยวกับเกณฑ์ Must Carry ที่ทุกแพลตฟอร์มต้องได้รับการถ่ายทอดสดรายการฟุตบอลโลกปี 2022 รอบสุดท้าย แต่ก็ยังมีปัญหาว่า ช่อง IPTV จอดำ

ขณะที่วานนี้ได้ส่งหนังสือไปถึง กกท. แล้ว แต่ยังไม่ได้รับการติดต่อเข้ามาหารือแต่อย่างใด ส่วนการเรียกคืนเงินสนับสนุนก็เป็นทางเลือกหนึ่ง บอร์ดได้ส่งหนังสือให้แจ้ง กกท.แล้ว ซึ่งก็ต้องให้โอกาส กกท.ดำเนินการ และต้องมาคุยกันว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร โดยกสทช.หวังว่าก่อนถึงนัดชิงชนะเลิศจะได้ชมกันทุกแพลตฟอร์ม คาดหวังว่ากกท.คงจะปฏิบัติตาม

ทั้งนี้ กสทช.ยังไม่เห็นเรื่องที่ กกท.ไปทำสัญญากับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ด้วยการที่ TRUE จ่ายเงินสมทบซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลโลก ปี 2022 ซึ่งเข้าใจว่าจะยึดตามกฎหมายลิขสิทธิ์ แต่ทาง กสทช.จะยึดตามกฎ Must Carry

“ซึ่งทางกสทช.ทำ MOU กับ กกท.แต่ไม่ได้ทำกับ TRUE ถามว่ามีอำนาจมากน้อยแค่ไหน เราไม่ได้ทำ MOU กับ TRUE แต่ทำ MOU กับ กกท. ฉะนั้นเราเพียงกำกับให้ กกท.ทำตาม MOU กับเราไว้ ส่วนกรณีการคืนเงินของกกท. ยังไม่ทราบว่าจะนำเงินจากส่วนไหนมาคืน เพราะถ้ามีเงินคงไม่มาขอรับการสนับสนุนจาก กสทช. ซึ่งหากไม่คืน การฟ้องศาลปกครองก็เป็นทางเลือก หากไม่นำเงินมาคืนภายใน 15 วัน และหาก กกท. ยกเลิกเอ็มโอยูที่ทำร่วมกับ TRUE และเปิดให้ประชาชนได้รับชมการแข่งขันฟุตบอลโลกได้อย่างทั่วถึง ก็เป็นทางเลือกหนึ่งของ กกท. ในการแก้ปัญหานี้” นพ.สรณ กล่าว

อย่างไรก็ตาม หาก กกท.ไม่จ่ายเงินคืน กสทช. ก็จะปรึกษาอัยการเกี่ยวกับการเรียกเงินคืน แม้ว่าการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ปี 2022 จะจบลงไปแล้ว

นอกจากนี้ กสทช.จะต้องทบทวนกฎ Must Carry เป็นปัญหาที่กสทช.ต้องแก้ไข ต้องคิดกันอย่างรอบคอบ ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะยกเลิกกฎ Must Carry

Back to top button