“หอการค้าไทย” คาดปีใหม่ 66 เงินสะพัดเกินแสนล้าน นิวไฮรอบ 3 ปี

“ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย” คาดการใช้จ่ายของประชาชนช่วงปีใหม่ 66 อยู่ที่ราว 103,039 ลบ. สูงสุดในรอบ 3 ปี ประเมินการใช้จ่ายทั้งปี 65 ขยาย 20% สูงสุดในรอบ 17 ปี คาด GDP ปี 66 แตะ 3.3%


นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจ “พฤติกรรมและการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ ปี 66” พบว่า แผนการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงปีใหม่ 66 อยู่ที่ 103,039 ล้านบาท นับเป็นมูลค่าการใช้จ่ายที่สูงสุดในรอบ 3 ปี ตั้งแต่ปี 63 ซึ่งถือเป็นการปิดฉากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

นอกจากนี้ พบว่า การใช้จ่ายในปีนี้ขยายตัว 20.1% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงสุดใน 17 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 50 ที่ ม.หอการค้าไทย เริ่มทำผลสำรวจ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานต่ำหรือติดลบในปีที่แล้ว ขณะที่คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 66 จะอยู่ที่ 3.3%

การใช้จ่ายปีนี้ขยายตัว 20.1% สูงสุดในรอบ 17 ปี ผลจากฐานต่ำ แต่เป็นระดับที่น่าสนใจเพราะตั้งฐานเหมือนปี 56 ที่ 105,827 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์เริ่มกลับมา ซึ่งอาจจะทำให้ปีหน้ามีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่พอไหว เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาปกติ หรือกลับมาเท่าก่อนระดับปี 63″ นายธนวรรธน์ กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อถามผลกระทบต่อการใช้จ่ายในช่วงปีใหม่ในประเด็นต่างๆ ประเด็นภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน 54.4% บอกว่า มีผลให้ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น-เพิ่มขึ้นมาก ส่วน 45.6% ตอบว่าไม่มีผลเลย เมื่อถามถึงการแพร่ระบาดของโควิดในปัจจุบัน 80.4% บอกว่าไม่มีผลเลย ส่วน 19.6% บอกว่ามีผล ส่วนเรื่องภาระหนี้สินในปัจจุบัน 55.6% บอกว่ามีผลต่อการใช้จ่ายลดลง และ 44.4% บอกว่าไม่มีผลเลย

ผลกระทบของการใช้จ่ายช่วงปีใหม่ เรื่องของระบบเศรษฐกิจเป็นเรื่องของคนที่มีหนี้ กับไม่มีหนี้ หนี้ตกอยู่กับคนที่มีรายได้น้อย ทั้งนี้เชื่อว่าปีนี้หนี้ครัวเรือนจะลดลงจาก 90% ของ GDP ลงมาเหลือ 86% ในสิ้นปี และเมื่อถ่วงกับเรื่องโควิด จะเห็นว่าไม่มีผลต่อการใช้จ่ายเลย ดังนั้น จึงฟันธงว่าคนจะมีการใช้จ่ายจำนวนชิ้นและมูลค่ามากขึ้น ปีใหม่ปีนี้น่าจะมีการจับจ่ายใช้สอยที่คึกคักทั่วไทย และเป็นการเคาต์ดาวน์ที่มีความสุข โดยระดับแสนล้านบาทในรอบ 3 ปี หมายความว่าโควิดปิดประเด็นไปเรียบร้อยแล้ว โควิดรอบนี้ปิดฉากสำหรับเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจไทยพร้อมทะยานขึ้น” นายธนวรรธน์ กล่าว

สำหรับสรุปแผนการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงปีใหม่ 66 อยู่ที่ 103,039 ล้านบาท แบ่งเป็น 1. ไปเที่ยว ได้แก่ ในประเทศ 57,491 ล้านบาท และต่างประเทศ 2,945 ล้านบาท และ 2. กิจกรรมอื่นๆ ได้แก่ เลี้ยงสังสรรค์ 11,732 ล้านบาท, ทำบุญ 8,266 ล้านบาท, อุปโภคบริโภค 18,943 ล้านบาท, สินค้าคงทน 2,096 ล้านบาท และสินค้าฟุ่มเฟือย 1,562 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อสอบถามถึงบรรยากาศในช่วงเทศกาลปีใหม่ปีนี้ จะเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว พบว่า 48.3% ตอบว่าจะคึกคักมากกว่าปีที่แล้ว และ 42.5% ตอบว่าจะคึกคักพอๆ กับปีที่แล้ว

สำหรับสิ่งที่ต้องการได้เป็นของขวัญจากรัฐบาลมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ 1. การปฏิรูปภาครัฐ ปราบปรามการทุจริต รัฐบาลควรมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ 37.6% 2. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจการใช้จ่ายเงินภายในประเทศ อาทิ คนละครึ่ง 26.7% และ 3. ลดภาระค่าครองชีพของประชาชน อาทิ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน 12.9% และเมื่อถามถึงปัจจัยที่น่าเป็นห่วงในปี 66 มากที่สุด 5 อันดับแรก คือ เรื่องยาเสพติด รองลงมาคือ เศรษฐกิจ, ค่าครองชีพ, การตกงาน และหนี้สินในปัจจุบัน

ทั้งนี้ เมื่อให้ประเมินผลการแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ ของรัฐบาลในรอบปีที่ผ่านมา 3 อันดับแรกที่ได้คะแนนสูงสุด (เต็ม 10 คะแนน) คือ เรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ 7.9 คะแนน รองลงมาคือการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม 6 คะแนน และแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ 5.9 คะแนน

สำหรับภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 66 จะเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับปี 65 ผู้ตอบแบบสอบถาม 38.2% บอกว่าดีขึ้นเล็กน้อย 32.3% บอกว่าเหมือนเดิม และ 20.1% บอกว่าแย่ลงเล็กน้อย ส่วนทัศนะต่อประเด็นต่างๆ ในปี 66 เมื่อเทียบกับปี 65 ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ตอบว่า เรื่องรายได้ ภาระหนี้สิน และการวางแผนเดินทางท่องเที่ยว เหมือนเดิมกับปี 65

ส่วนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 65 ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ตอบว่า จะขยายตัวที่ 3.01-3.50% ขณะที่ของปี 66 ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ตอบว่า จะขยายตัวที่ 3.00-3.50%

ขณะที่สิ่งที่อยากให้รัฐดำเนินการในปี 66 อันดับแรก คือ กระตุ้นเศรษฐกิจ ดูแลการมีงานทำ สร้างงานสร้างรายได้ 34.6%รองลงมาคือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ 28.7%, ให้ความช่วยเหลือและพัฒนาเกษตรกร 14.6%, แก้ไขปัญหายาเสพติด 11.6% และดูแลค่าครองชีพให้เหมาะสม 10.5%

ทั้งนี้มาตรการของภาครัฐ จะช่วยพยุงเศรษฐกิจในไตรมาส 1/66 โดยเชื่อว่าโครงการช้อปดีมีคืน จะมีการใช้จ่ายประมาณ 4-8 หมื่นล้านบาท และรวมกับโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินที่เข้ามาเพิ่มจากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวอีกราว 1-2 หมื่นล้านบาท ซึ่งรวมแล้วทั้ง 2 โครงการ จะอยู่ที่ราว 1 แสนล้านบาท ก็จะมีส่วนช่วยผลักดัน GDP ให้เพิ่มขึ้นจากฐานเดิมได้อีก 0.7-1.0% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 66

โดยรวมแล้วทั้งสองโครงการ จะทำให้เรามีเงินแสนล้านบาทได้ง่าย และจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ช่วงเทศกาลตรุษจีนมีเม็ดเงิน มีการจับจ่ายใช้สอยคล่องตัวขึ้น เพราะมีช้อปดีมีคืนเข้าไปเสริม สิ่งต่างๆ จะพยุงให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 บวกอย่างน้อย 1% เป็นฐานทำให้ในไตรมาส 1 โตได้อย่างน้อย 3.5% และเชื่อว่าเศรษฐกิจโลกไม่มีปัญหารุนแรงมาก ตอนนี้น้ำมันยังไม่ย่อ ตลาดหุ้นไซด์เวย์ ทองคำไม่ถูกลง จึงยังไม่เห็นว่าจะทรุดมาก แต่ภาคธุรกิจน่าจะเหนื่อย การส่งออกขยายตัวไม่เด่นในครึ่งปีแรก แต่ซัพพลายเชนของการท่องเที่ยวเด่นขึ้นมาก มีโอกาสปรับเป้านักท่องเที่ยวเข้าประเทศจาก 20 เป็น 25 ล้านคนได้” นายธนวรรธน์ กล่าว

สำหรับเรื่องค่าไฟ เชื่อว่ามีผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากเป็นเรื่องต้นทุนการผลิต ซึ่งถ้าเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ที่ยังไม่ฟื้นตัวจากโควิด จะมีภาวะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เพราะค่าแรงที่สูงขึ้นจะเป็นผลกระทบต่อสภาพคล่องทางธุรกิจ ดังนั้น จึงมีความเสี่ยงที่ธุรกิจจะขึ้นราคาสินค้า ซึ่งส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ หรือธุรกิจจะมีสภาพคล่องน้อยลง ซึ่งมีผลต่อ NPL หรือมีผลต่อการจ้างงาน

การดูแลค่าพลังงาน อาจเป็นสิ่งที่ต้องประคับประคองในไตรมาส 1/66 ให้ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวได้ แต่ราคาพลังงานก็ถูกคลื่อนไปตามกลไกการตลาด ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ในช่วงไตรมาส 1 ที่เศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ น่าจะมีการดูแล” นายธนวรรธน์ กล่าว

โดยเชื่อว่าปีหน้า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะประคองอัตราดอกเบี้ย เพื่อพยุงสถานการณ์ไม่ให้ผู้ประกอบการมีภาระที่จะต้องแบกรับดอกเบี้ยสูง ดังนั้น มองว่า ธปท.จะขึ้นดอกเบี้ยประมาณ 0.5-1.0% และอาจประคองในช่วงไตรมาส 1/66 ให้ยังไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ย เพราะเงินเฟ้อยังไม่ชัดเจน และจะมีการขึ้นดอกเบี้ยในไตรมาสต่อๆ ไป

ด้าน นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาประจำของสภามหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากผลการสำรวจสิ่งที่ต้องการได้เป็นของขวัญจากรัฐบาลมากที่สุด อันดับ 1 คือเรื่องการทุจริต แสดงให้เห็นว่าประชาชนกังวลเรื่องปัญหาคอร์รัปชันมาก ประกอบกับอยู่ในช่วงที่ใกล้จะมีการเลือกตั้ง ดังนั้น หอการค้าไทย จึงมีแผนที่จะแถลงดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย (Corruption Situation Index: CSI) ในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า เนื่องจากมองว่าเป็นช่วงเวลาที่มีความเหมาะสม

การสำรวจโพลปีใหม่ครั้งนี้ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนว่า คนจะกังวลเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันเป็นอันดับหนึ่ง มากกว่าเรื่องเศรษฐกิจ คนรับรู้ได้ว่าการทุจริตไม่ลดลง ถึงแม้ผลโพลจะออกมาว่าเรื่องคอร์รัปชันมีปัญหา แต่ก็ถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะออกมาในเวลาที่พรรคการเมืองกำลังจะเอาชนะใจประชาชน ซึ่งในเรื่องการแก้ปัญหาคอร์รัปชันนั้น ก็ยังไม่มีใครพูดถึง” นางเสาวณีย์ กล่าว

Back to top button