เปิด 2 หุ้นท็อปพิก ครึ่งปีหลัง “สินทรัพย์” แกร่ง

“โนมูระ” ชี้ KTC-THANI ท็อปพิกกลุ่ม ครึ่งปีหลัง 66 คุณภาพสินทรัพย์แกร่ง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 1/2566 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.25% เป็น 1.50% ต่อปี โดยให้มีผลทันที ซึ่งคณะกรรมการฯ เห็นว่าการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ

โดยคณะกรรมการฯ มองว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนจะได้รับแรงส่งต่อเนื่องจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ขณะที่การส่งออกสินค้าชะลอตัวในปีนี้ แต่จะกลับมาขยายตัวดีขึ้นในปี 67 ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ปรับดีขึ้น ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลง แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวในระดับสูง และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า จากกรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.00 เป็นร้อยละ 1.50 ต่อปี ทั้งนี้ทางฝ่ายวิจัยมีมุมมอง Slightly Negative ต่อกลุ่ม Consumer Finance ทั้งมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (SAWAD, MTC, TIDLOR,THANI, MICRO) และไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (KTC, AEONTS) เพราะบริษัทปล่อยสินเชื่อแบบอัตราดอกเบี้ยคงที่ ดังนั้นรายรับจะยังไม่ปรับเพิ่มทันที สำหรับด้านแหล่งที่มาของเงินทุนจะมีเงินกู้ระยะสั้นและหุ้นกู้ที่จะครบกำหนด คาดเงินกู้หรือออกหุ้นกู้ใหม่ถูกทดแทนในอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินมีแนวโน้มปรับระดับเพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมของทางฝ่ายวิจัยได้ ดังนั้นทางฝ่ายวิจัยคาดว่าจะทำให้ Net Interest Margin (NIM) ลดลง

สำหรับการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ไม่กระทบต่อประมาณการของทางฝ่ายวิจัยอย่างมีนัยสำคัญ เพราะรวมในประมาณการเรียบร้อยแล้ว โดยตลาดคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75-2% สูงกว่าทางฝ่ายวิจัยคาดที่ 1.50% เบื้องต้นได้ประเมินผลกระทบภายใต้สมมติฐานอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นทุกๆ 0.25% กระทบเต็มปีในปี 66 พบว่าประมาณการกำไรสุทธิปี 66 ของกลุ่มมี downside ประมาณ -0.9%

ทั้งนี้การปรับขึ้นของดอกเบี้ยนโยบายทางฝ่ายวิจัยมองเป็นผลลบระยะสั้น จากช่วงแรกต้นทุนทางการเงินปรับขึ้นเร็วกว่าอัตราดอกเบี้ยการปล่อยสินเชื่อ (สินเชื่อบางประเภทสามารถปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยได้ หากบริษัทปล่อยสินเชื่อต่ำกว่าเพดานที่ BOT กำหนด) อย่างไรก็ตามท้ายสุดมองว่าการเพิ่มขึ้นของต้นทุนทางการเงิน จะถูกชดเชยกับการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยการปล่อยสินเชื่อ

อย่างไรก็ดียังคงน้ำหนัก NEUTRAL ต่อกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ เพราะปัญหาคุณภาพสินทรัพย์อ่อนแอต่อเนื่อง จากเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ซึ่งกลุ่มรากหญ้าได้รับผลกระทบมาก ทำให้คาดว่าค่าใช้จ่ายสำรอง (credit cost) และ NPL Ratio ยังคงอยู่ระดับสูง กดดันผลประกอบการอีกประมาณ 1-2 ไตรมาส โดยคาดว่าจะเริ่มเห็นคุณภาพสินทรัพย์กลับมาดีขึ้นช่วงครึ่งปีหลัง 66 สำหรับ Top Pick ของกลุ่มคือ KTC แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมายปี 66 ที่ 75 บาท และ THANI แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมายปี 66 ที่ 5.5 บาท

Back to top button