KBANK ชี้กรอบ “เงินบาท” สัปดาห์หน้า 34.50-35.20 บ. จับตาฟันด์โฟลว์-เงินเฟ้อสหรัฐ

KBANK มองกรอบการเคลื่อนไหวเงินบาทสัปดาห์หน้า 34.50-35.20 บาท/ดอลลาร์ แนะติดตามเงินเฟ้อสหรัฐ และผลประชุม ECB รวมถึงทิศทางลงทุนต่างชาติ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทสัปดาห์หน้า (13-17 มี.ค.66) ที่ระดับ 34.50-35.20 บาท/ดอลลาร์ จากปิดตลาดในวันศุกร์ที่ 10 มี.ค. 66 ที่ระดับ 35.03 บาท/ดอลลาร์

โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าขึ้นช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ ก่อนจะกลับมาอ่อนค่าลงตามทิศทางสกุลเงินเอเชียอื่นๆ ท่ามกลางแรงหนุนของเงินดอลลาร์จากสุนทรพจน์ของประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งสะท้อนว่า เฟดจะยังคงต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป โดยเฉพาะหากข้อมูลเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ยังคงมีสัญญาณดีต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ตลาดการเงินทยอยกลับมาประเมินโอกาสที่เฟดจะกลับมาเร่งขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุม FOMC เดือนมี.ค. นี้อีกครั้ง ขณะที่มีความไปได้มากขึ้นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ที่สะท้อนจาก dot plot ใหม่ของเฟดจะสูงขึ้นกว่าที่เคยให้ไว้เดิม

อย่างไรก็ดี แรงขายเงินบาทชะลอลงบางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ หลังตลาดปรับตัวรับสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินจากประธานเฟดไปมากแล้ว ขณะที่เงินดอลลาร์ยังคงรอปัจจัยใหม่มากระตุ้น โดยเฉพาะข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตร และตัวเลขตลาดแรงงานอื่นๆ ในเดือนก.พ. ของสหรัฐฯ

สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 6-10 มี.ค.66 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 10,381 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทยติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่สองที่ 9,157 ล้านบาท โดยซื้อสุทธิ 10,147 ล้านบาท ขณะที่มีตราสารหนี้หมดอายุ 990 ล้านบาท

ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์หน้า ได้แก่ ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ทิศทางเงินลงทุนของต่างชาติและสกุลเงินเอเชีย

ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค, ยอดค้าปลีก, การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีราคาผู้ผลิต และตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านเดือนก.พ. ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย ดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์จากมุมมองผู้บริโภค ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและสาขาฟิลาเดลเฟียเดือนมี.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน

นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนก.พ. ของยูโรโซน และข้อมูลเศรษฐกิจจีน อาทิ ยอดค้าปลีก และการผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนม.ค.-ก.พ. เช่นกัน

Back to top button