ครม. เคาะ 1.5 หมื่นล้าน แก้ปัญหาหนี้เกษตรกร 4 แบงก์รัฐ

ครม. เห็นชอบแนวทางการดำเนินการและกรอบวงเงินชดเชย ตามโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรลูกหนี้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง วงเงิน 1.55 หมื่นล้าน


เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 66 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบแนวทางการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟู และพัฒนาเกษตรกรลูกหนี้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)

โดยเป็นการจัดสรรงบประมาณเพื่อจ่ายชดเชยให้กับธนาคารทั้ง 4 แห่ง มีเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายตามโครงการฯ 50,621 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 15,481 ล้านบาท กรณีเกษตรกรมีเหตุสุดวิสัยไม่สามารถชำระหนี้ได้ และได้ขอให้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ ชำระหนี้แทน ให้กองทุนฟื้นฟูฯ เสนอขอรับการจัดสรรงบฯ เพื่อชำระหนี้ให้แล้วเสร็จภายใต้ระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแผนการชำระหนี้ตามสัญญา

ทั้งนี้ในการดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าว รัฐจะต้องรับภาระในการจัดสรรชดเชยให้กับธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ได้แก่ เงินต้นครึ่งหลัง (50%) และดอกเบี้ยของเงินต้นเดิม รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 15,481 ล้านบาท โดยเบิกจ่ายจากงบประมาณประจำปี พ.ศ.2568-2580 ให้กับธนาคารที่เกษตรกรทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ จำแนกตามข้อมูลของแต่ละธนาคารได้ ดังนี้

1.ธ.ก.ส. ลูกหนี้ 47,973 ราย เงินต้นครึ่งหลัง 7,340.176 ล้านบาท ดอกเบี้ย 6,718.949 ล้านบาท กรอบวงเงินชดเชย 14,059,125 ล้านบาท

2.ออมสิน ลูกหนี้ 552 ราย เงินต้นครึ่งหลัง 81.184 ล้านบาท ดอกเบี้ย 173.385 ล้านบาท กรอบวงเงินชดเชย 254.569 ล้านบาท

3.ธอส. ลูกหนี้ 2,008 ราย เงินต้นครึ่งหลัง 153.207 ล้านบาท ดอกเบี้ย 478.649 ล้านบาท กรอบวงเงินชดเชย 631.856 ล้านบาท

4.ธพว. ลูกหนี้ 88 ราย เงินต้นครึ่งหลัง 146.861 ล้านบาท ดอกเบี้ย 389.246 ล้านบาท กรอบวงเงินชดเชย 536.107 ล้านบาท

โดยมีการรวมจำนวนลูกหนี้ทั้งสิ้น 50,621 ราย เงินต้นครึ่งหลัง 7,721.428 ล้านบาท ดอกเบี้ย 7,760.229 ล้านบาท กรอบวงเงินชดเชย  15,481.657 ล้านบาท

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังย้ำให้ถึงความสำคัญในการกำกับดูในการดำเนินโครงการ ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ช่วยเหลือเกษตรกรอย่างทั่วถึง โปร่งใสและเป็นธรรม รวมทั้งมีมาตรการดูแล เพื่อสร้างวินัยด้านการเงินให้กับเกษตรกร เพื่อป้องกันปัญหาหนีที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในอนาคต

Back to top button