BPP ตั้งเป้าปี 66 รายได้นิวไฮ! ขยายกำลังผลิตพันเมกฯ จ่อ COD อีก 2 โรงไฟฟ้า

BPP ตั้งเป้าปี 66 รายได้นิวไฮ! ปิดดีล M&A โรงไฟฟ้าเพิ่ม ขยายกำลังผลิตเพิ่มอีก 1 พันเมกฯ เตรียมยื่นขายไฟฟ้าหมุนเวียน หลัง “กพช.” เปิดรอบเก็บตกอีก 3.6 พันเมกฯ จ่อ COD โรงไฟฟ้าอีก 2 โครงการ


นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 66 ทำสถิติสูงสุดใหม่ (New-High) จากปี 65 อยู่ที่ 24,501 ล้านบาท เป็นไปตามกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เข้ามาเพิ่มขึ้น จากการเข้าซื้อกิจการ (M&A) โรงไฟฟ้าในต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันบริษัทก็อยู่ระหว่างการเจรจาทำดีล ดิลิเจนท์ (Due Diligence) มากกว่า 1,000 เมกะวัตต์ และคาดว่าในปีนี้จะสามารถปิดดีล และมีกำลังการผลิตเข้ามาเพิ่มอีก 1,000 เมกะวัตต์ได้

ทั้งนี้ บริษัทยังมีแผนจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ปีนี้เพิ่มอีก 2 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานลมหวินเจา เฟส 1 ประเทศเวียดนาม กำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ และโซลาร์บนหลังคา PT. ITM Banpu Power Co. Ltd. (IBP) ประเทศอินโดนีเชีย กำลังการผลิต 1 เมกะวัตต์

ขณะที่อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ยามางาตะ อิเดะ ประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิตรวม 102 เมกะวัตต์ (BPP ถือหุ้นรวมกับบ้านปูเน็กซ์ ในสัดส่วน 51%) และโรงไฟฟ้าพลังงานหวินเจา เวียดนาม เฟส 2-3 กำลังการผลิต 25 เมกะวัตต์ และโซลาร์บนหลังคา เจิ้งติ้ง ประเทศจีน กำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์

บริษัทยังสนใจเข้ายื่นเสนอขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มอีก หลังคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จะเปิดรับซื้อไฟฟ้า รอบเก็บตกอีก 3,668.5 เมกะวัตต์ โดยอยู่ระหว่างรอดูเงื่อนไขต่างๆ

ในด้านความพร้อมทางการเงิน บริษัทวางลงทุนไว้ที่ 500-700 ล้านเหรียญฯในช่วง 3 ปี (66-68) เพื่อรองรับการทำ M&A โดยมีเป้าหมายขยายกำลังผลิตรวมเป็น 5,300 เมกะวัตต์ภายในปี 68 ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีเป้าหมายกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียน 800 เมกะวัตต์ โดยแหล่งเงินลงทุนมาจากกระแสเงินสด ,เงินกู้จากสถาบันการเงิน , ตราสารหนี้

ทั้งนี้ BPP ยังคงมองหาโอกาสในการขยายการเติบโตไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ซึ่งนอกเหนือจากการประสบความสำเร็จในการลงทุนในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I แล้ว BPP ยังพิจารณาขยายการลงทุนเพิ่มเติม เช่น ธุรกิจซื้อขายไฟฟ้าผ่านแพลตฟอร์มระบบกลาง (Energy Trading) และธุรกิจค้าปลีกไฟฟ้า โดยเป็นการผนึกพลังร่วมภายในระบบนิเวศของ BPP ด้วยการใช้ความรู้และทรัพยากรภายในองค์กร และข้อได้เปรียบในการบริหารจุดคุ้มทุนและกระจายความเสี่ยงด้านธุรกิจไฟฟ้าที่ครบวงจรครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทาน

สำหรับธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานที่ดำเนินการโดยบ้านปู เน็กซ์ บริษัทฯ เน้นการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่ส่งเสริมศักยภาพและการเติบโต รวมถึงหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ (New S-curve) อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาได้เพิ่มสัดส่วนการเข้าถือหุ้นในบริษัท ดูราเพาเวอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด (Durapower) จาก 47.68% เป็น 65.10% ด้วยเงินลงทุน 70 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตของธุรกิจแบตเตอรี่ให้แข็งแกร่งมากขึ้น

Back to top button