กกร. คง GDP ปี 66 โต 3-3.5% ส่งออกชะลอตัวกดดัน

กกร. คง GDP ปี 66 โต 3-3.5% ประเมินว่ามูลค่าการส่งออกของไทย มีโอกาสหดตัวในกรอบ -1 ถึง 0% หลังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เผชิญแรงกดดันจากค่าเงินที่ผันผวน


นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า กกร.คงประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ไว้ตามเดิมที่ 3.0-3.5% ตามกรอบที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ และประเมินว่ามูลค่าการส่งออกของไทย มีโอกาสหดตัวในกรอบ -1 ถึง 0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าจะอยู่ในกรอบ 2.7-3.2%

โดยวิกฤตสถาบันการเงินที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ และยุโรป ที่ทำให้ตลาดการเงินเกิดความผันผวน และเพิ่มโอกาสที่เศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัวมากขึ้น แม้ทางการสหรัฐฯ และสวิตเซอร์แลนด์ จะเข้ามาช่วยเหลือสถาบันการเงินที่ประสบปัญหาอย่างรวดเร็ว ไม่ให้เกิดการลุกลามเหมือนวิกฤตสถาบันการเงินปี 2551 แต่คาดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจโลกไปแล้ว โดยนักลงทุนมองโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอยเป็นไปได้มากขึ้น จากการที่ภาคการเงินมี risk appetite ในการปล่อยสินเชื่อลดลง เกิดภาวะการเงินตึงตัว และตลาดการเงินอ่อนไหวต่อทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นมากกว่าเดิม โดยตลาดเริ่มคาดหวังให้ธนาคารกลางของสหรัฐฯ (เฟด) ลดดอกเบี้ยภายในปีนี้ ซึ่งผลกระทบทางตรงต่อภาคการเงินไทยมีน้อยมาก

ส่วนเศรษฐกิจจีนมีสัญญาณฟื้นตัว แต่อานิสงส์ยังจำกัดอยู่ในประเทศ อุปสงค์ภายในประเทศของจีนมีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจนภายหลังการเปิดประเทศตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ภาคการผลิตและการส่งออกของจีนยังอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวแย่ลงในเดือนมีนาคม ทั้งการผลิตและแนวโน้มการส่งออก ไม่ต่างจากประเทศอื่นในภูมิภาค ดังนั้นแนวโน้มการส่งออกสินค้าของไทยยังคงชะลอตัว และคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะหดตัวในปีนี้

ขณะที่เศรษฐกิจไทย มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากรายได้การท่องเที่ยว และอุปสงค์ในประเทศ โดยภาคการท่องเที่ยวปรับดีขึ้น และถือเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนการเติบโต นักท่องเที่ยวต่างชาติ 3 เดือนแรก (ม.ค.-มี.ค.) มียอดเข้าไทยมากถึง 6.5 ล้านคน คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจสูงถึง 27-30 ล้านคนในปีนี้ ส่วนอุปสงค์ในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการจ้างงานในภาคบริการ และรายได้ภาคเกษตรที่ยังอยู่ในระดับดี ส่งผลให้ฐานรายได้ของประชาชนปรับตัวดีขึ้น

สำหรับความกังวลต่อทิศทางการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และอาจเผชิญแรงกดดันจากค่าเงินที่ผันผวนในทิศทางแข็งค่า ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกนั้น ควรเร่งดำเนินการจัดหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ อาทิ กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ (GCC) กลุ่มประเทศเอเชียกลาง เป็นต้น เพื่อชดเชยการส่งออกไปยังตลาดหลักที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง

นอกจากนั้น นายเกรียงไกร ยังกล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติเห็นชอบค่า Ft งวดเดือน พ.ค.-ส.ค.66 เป็นอัตราเดียวกันสำหรับบ้านที่อยู่อาศัยและผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ เท่ากับ 98.27 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.77 บาทต่อหน่วยนั้น กกร.เห็นว่าคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ควรพิจารณาทบทวนค่า Ft งวดที่ 2 เพื่อลดภาระของภาคประชาชนในครัวเรือน และภาคธุรกิจ โดยในวันที่ 7 เม.ย.นี้ กกร. จะส่งหนังสือไปถึงนายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน กพช. ให้พิจารณากรณีการเร่งคืนหนี้ค่าไฟฟ้า ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จากเดิม 3 ปี เปลี่ยนเป็น 2 ปี ซึ่งอาจเร็วเกินไปจนอาจเกิดผลกระทบต่อการคิดค่า Ft โดยจะเสนอให้คงระยะเวลาการคืนหนี้ให้ กฟผ.เป็น 3 ปี ตามงวด 1/66

อีกทั้งยังเสนอให้ปรับวิธีประมาณการราคาตันทุนเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ และราคา LNG ที่ใช้คำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้า โดยใช้ราคาที่สะท้อนแผนการนำเข้า LNG ในช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค.66 แทนการใช้ข้อมูลราคาเดือน ม.ค.66 ซึ่งมีราคาสูงจากความต้องการใช้ในช่วงฤดูหนาว

พร้อมกันนี้จะขอให้ภาครัฐเร่งจัดตั้ง กรอ.พลังงาน เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมให้ความเห็น ในการกำหนดนโยบายด้านพลังงาน รวมถึงมาตรการช่วยเหลือด้านพลังงานต่างๆ เพื่อให้สามารถบรรเทาผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และภาคผู้ประกอบการรายย่อยได้อย่างแท้จริง และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

Back to top button