“ซิงเกอร์” สำรองพุ่ง-ราคาดิ่ง! ฉุด JMART พลิกขาดทุน 300 ล้าน ส่งซิกพ้นจุดต่ำสุดแล้ว!

JMART เปิดงบไตรมาส 1/66 พลิกขาดทุน 300 ล้านบาท สาเหตุจากรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจาก SINGER หลังมีการตั้งสำรองพุ่ง พ่วงผลจากการขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากเงินลงทุนตราสารทุน อย่างไรก็ตามบริษัทส่งซิกว่าพ้นจุดต่ำสุดแล้ว คาดปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2/2566 เป็นต้นไป


บริษัท เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JMART รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2566

บริษัทรายงานงบไตรมาส 1 ปี 2566 พลิกขาดทุนสุทธิ 294.73 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 325.12 ล้านบาท ทั้งนี้ผลประกอบการที่ขาดทุนมีสาเหตุหลักจากการผลกระทบของการรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจาก SINGER ตามสัดส่วน 25.2% ด้วยมูลค่า 218 ล้านบาท และผลจากการขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง (Unrealized Loss) จากเงินลงทุนในตราสารทุน มูลค่า 352 ล้านบาท (หลังหักภาษี) แต่หากไม่รวมผลจากการขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง (หลังหักภาษี) จะทำให้บริษัท JMART จะมีกำไรสุทธิ 57 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามหากเจาะรายละเอียดเพิ่มเติมพบว่าบริษัทกลับมีรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อจากการซื้อลูกหนี้และเงินให้สินเชื่อ 712.60 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.6% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน 638.40 ล้านบาท และกำไรจากเงินให้สินเชื่อจากการซื้อลูกหนี้ ซึ่งเป็นรายได้ในส่วนของธุรกิจการเงินทั้งในส่วนของเจเอ็มที 969.80 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.9% เนื่องจากการจัดเก็บหนี้ด้อยคุณภาพได้มากขึ้น

ขณะเดียวกันยังมีรายได้ค่าเช่า 88.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 70.7 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการขยายพื้นที่เช่าเพิ่มขึ้น และอัตราการเช่าที่ดีขึ้นในส่วนธุรกิจของ เจเอเอส แอสเซ็ท

รวมถึงรายได้จากการรับประกันภัย 74.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.3% จากงวดเดียวกันของปีก่อน 58.70 ล้านบาท โดยเป็นรายได้ที่เกิดขึ้นจากการจัดทำงบการเงินรวมของบริษัทย่อยในธุรกิจประกันภัย ซึ่งมีการเติบโตของยอดขายเพิ่มขึ้น ทั้งช่องทางของบริษัทเองและบริษัทในกลุ่มเจมาร์ท

นอกจากนี้ มีต้นทุนขายและบริการรวม 2,254.90 ล้านบาท ลดลง 7.8% จากงวดเดียวกันของปีก่อน 2,446.70 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการลดลงของต้นทุนขายในส่วนธุรกิจการจัดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ

ส่วนกำไรขั้นต้นจากงบการเงินรวมไตรมาส 1/2566 อยู่ที่ 1,122.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.3% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตของรายได้ในแต่ละส่วนงานธุรกิจหลัก โดยเฉพาะส่วนของธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ

ทั้งนี้ บริษัทและในกลุ่มได้ทราบถึงสถานการณ์ดังกล่าว โดยได้ปรับกลยุทธ์ในการดำเนินการให้รัดกุมยิ่งขึ้น เพื่อจำกัดผลกระทบดังกล่าวให้เกิดขึ้น โดยบริษัทคาดการณ์ว่าไตรมาส 1/2566 นี้จะเป็นจุดที่ต่ำที่สุดของผลประกอบการของบริษัทที่จะได้รับผลกระทบ และจะปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2/2566 เป็นต้นไป

โดยบริษัทมีเหตุผลดังต่อไปนี้

1. ธุรกิจหลักในกลุ่มของบริษัทเจมาร์ท เช่น ธุรกิจการจำหน่ายมือถือ ธุรกิจบริหารหนี้ และธุรกิจบริหารพื้นที่เช่า ยังคงมีการเติบโตที่ดี ซึ่งจะทำให้ Core Earning ของบริษัทยังคงเติบโตได้

2. บริษัทคาดว่าฝ่ายบริหารของ Singer และ SGC จะสามารถปรับกลยุทธ์การดำเนินงานเพื่อแก้ไขสถานการณ์ได้ภายในไตรมาส 2/2566 นี้ โดยเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการบริหารงานใหม่ที่รัดกุมยิ่งขึ้น รวมถึงการนำเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้สามารถดำ เนินการได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

3. ธุรกิจใหม่ที่บริษัทได้เข้าไปลงทุนสามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างต่อเนื่อง เช่น Teenoi, PRTR และ BRR มีการเติบโตในด้านผลการดำเนินงานที่ดีและ Teenoi มีแผนในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในอนาคต

นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทเจมาร์ท ยังคงดำเนินธุรกิจภายใต้การดำเนินงานร่วมกันของกลุ่มบริษัทย่อย และร่วม โดยมี 6 สายธุรกิจหลัก ที่เน้นการประกอบธุรกิจหลักในธุรกิจค้าปลีก และการเงิน ด้วยเทคโนโลยีภายใต้ปณิธานของการดำเนินงานในแนวคิด “The Power of Synergy” ซึ่งเป็นกลยุทธ์หลักที่สำคัญที่จะสร้างระบบนิเวศในการดำเนินงาน (Ecosystem) เพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น

ส่วนราคาหุ้นบนกระดานของ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER ในช่วงไตรมาสแรกปรับตัวลงเรื่อยๆ จาก ราคาหุ้นปิด ณ วันที่ 30 ธ.ค.65 อยู่ที่ 28.75 บาท จนกระทั่งมาถึงวันที่ 28 เม.ย.66 อยู่ที่ 14.20 บาท ส่งผลให้ราคาหุ้นลดลง 14.55 บาท หรือลงไป 50.61% โดยจากผลดังกล่าวทำให้ JMART รับรู้กำไรจากส่วนต่างราคาลดลง

Back to top button