BTS ทวงหนี้ “รัฐบาลใหม่” ก้อนแรก 1.1 หมื่นล้าน ดีเดย์เดินรถ “สายสีเหลือง” มิ.ย. 66

BTS ประเดิมทวงหนี้ “รัฐบาลใหม่” ก้อนแรก 1.1 หมื่นล้านบาท ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงสายสีเขียวส่วนต่อขยาย คาดได้ข้อสรุปปีนี้ ส่วนสายสีเหลืองพร้อมเปิดเดินรถมิ.ย. 66 ขณะที่ต้นปี 67 ผู้โดยสารบีทีเอสกลับสู่ปกติ 7.5 แสนคนต่อวัน หลังล่าสุดแตะระดับ 80% ดัน EBITDA เด้ง


นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ในเครือบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ให้สัมภาษณ์กับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า สิ่งแรกที่ BTS อยากให้รัฐบาลชุดใหม่เร่งดำเนินการ คือ การชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถ และซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ค้างชำระแก่ BTS

สำหรับเรื่องดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง โดย BTS ได้ยื่นฟ้องกทม.กับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ครั้งที่ 1 ให้ชำระค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 คือ ส่วนต่อขยายสายสีลม (สะพานตากสิน-บางหว้า) และสายสุขุมวิท (อ่อนนุช-แบริ่ง) กับส่วนต่อขยายที่ 2 (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ) ที่ค้างจ่ายตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2560 ถึงกรกฎาคม 2564 ซึ่งศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้กทม.และกรุงเทพธนาคมร่วมกันรับผิดชอบชำระแก่ BTS เป็นเงิน 11,755.06 ล้านบาท ปัจจุบัน กทม.และกรุงเทพธนาคมอยู่ระหว่างอุทธรณ์คดี คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้

จากนั้นเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 BTSC ได้ยื่นฟ้องกทม., กรุงเทพธนาคมฯ กับพวก ต่อศาลปกครองเป็นครั้งที่ 2 กรณีไม่ชำระค่าจ้างให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 ตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2564-22 พฤศจิกายน 2565 เป็นเงิน 10,600 ล้านบาท ซึ่งเป็นช่วงเวลาต่อเนื่องจากการฟ้องจากครั้งที่ 1

ทั้งนี้ จากประเด็นทั้งหมดที่ยังค้างคาอยู่ ตนหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่จะรีบตัดสินใจ เพราะขณะนี้เรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งหมด ได้นำส่งที่กระทรวงมหาดไทยแล้ว และหวังว่าจะได้ข้อสรุปกับกทม.ภายในปีนี้ เพราะภาระหนี้สะสมเพิ่มขึ้นทุกวัน และมีหนี้ก้อนใหญ่คือค่าติดตั้งระบบอีกประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งถึงกำหนดมานานแล้ว แต่มีการขอใช้สิทธิซัพพลายเออร์เครดิต ซึ่งจะหมดลงในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้

ส่วนกรณีการพิจารณาต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งระบบเพื่อแลกการชำระคืนหนี้แก่ BTS ที่สืบเนื่องมาจากคำสั่งม.44 นั้น หากรัฐบาลชุดใหม่ไม่ต้องการใช้วิธีนี้ ก็อยากให้ครม.มีมติให้ชัดเจน เพื่อนำไปสู่การเคลียร์ภาระหนี้ที่ค้างชำระอยู่ให้เสร็จสิ้น เพราะปัจจุบันกระทรวงมหาดไทยยังไม่สามารถเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของครม.ได้ โดยค้างมาตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อน

สำหรับนโยบายของพรรคการเมืองที่จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล กรณีไม่ต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวสายหลักที่จะหมดอายุในเดือนธันวาคม 2572 แต่จะให้มีการเปิดประมูลใหม่ ทาง BTS ก็ไม่มีปัญหา และพร้อมให้ความร่วมมือ เพราะต้องขึ้นกับการพิจารณาของรัฐบาลชุดใหม่อยู่แล้ว และขอย้ำว่าแนวคิดการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น ไม่ใช่ความคิดหรือข้อเสนอจากทาง BTS แต่เป็นแนวคิดจากทางรัฐบาลชุดก่อนที่ต้องการควบคุมค่าโดยสารให้อยู่ในระดับ 30-40 บาท รวมทั้งต้องการให้ BTS ช่วยรับภาระหนี้สินงานโยธาที่กทม.รับโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 มาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อแลกกับการต่อสัมปทานด้วย

ทั้งนี้ หากให้ประเมินสภาพเศรษฐกิจหลังจากมีรัฐบาลชุดใหม่นั้น ณ วันนี้คงยังต้องรอดูความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาลก่อน แต่เบื้องต้นเชื่อว่าเมื่อมีรัฐบาลใหม่ ก็น่าจะมีสิ่งที่ดีขึ้นกว่าเดิม อย่างน้อยในช่วงแรกก็เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น แต่ก็มีปัจจัยภายนอกที่ต้องพิจารณาร่วมด้วย เช่นหากเศรษฐกิจโลกไม่ดี ก็จะส่งกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศเช่นกัน

สำหรับแนวโน้มจำนวนผู้โดยสารปีนี้จะกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 ซึ่งสิ้นปี 2566/2567 (เม.ย. 2566-มี.ค. 2567) จะกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด-19 ประมาณ 7-7.5 แสนคนต่อวันทำการ จากปัจจุบันอยู่ที่กว่า 6 แสนคนต่อวันทำการ หรือประมาณ 80%

ทั้งนี้ ผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2565/2566 (ม.ค.-มี.ค. 2566) จะประกาศในช่วงปลายเดือน พ.ค.นี้ โดยแนวโน้มทั้งปี 2565/2566 (เม.ย. 2565-มี.ค. 2566) ในส่วนของรายได้อาจจะลดลงเล็กน้อย เนื่องจากการรับรู้รายได้จากงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองใกล้จะเสร็จ แต่โดยภาพรวมอัตรากำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) น่าจะดีขึ้น จากสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงด้านบริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI ปรับดีขึ้น ซึ่ง EBITDA ในช่วง 9 เดือนแรกอยู่ที่ประมาณ 60%

สำหรับธุรกิจระบบขนส่งมวลชน (ธุรกิจ MOVE) จะมีการเปิดโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพู ทั้ง 2 สายภายในปีนี้ โดยสีเหลืองบริษัทมีความตั้งใจและจะพยายามเปิดให้ได้ภายในเดือน มิ.ย.นี้ อย่างไรก็ตามยังขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งต้องหารือร่วมกัน โดยทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะต้องเป็นผู้อนุญาตด้วย

ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูยังติดปัญหาถนนบางจุดที่ต้องทำงานร่วมกันหลายหน่วยงาน จะต้องทำไปทีละขั้นตอน ทำให้พื้นที่บางจุดบันไดลงยังไม่ได้ เช่น ถนนแจ้งวัฒนะเป็นหลัก ช่วง NT และบริเวณศูนย์ราชการที่เชื่อมกับสายสีม่วง เนื่องจากเพิ่งมีการส่งมอบพื้นที่ เป็นต้น บริษัทก็พยายามหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งรัดงานในส่วนนี้ เพราะระบบส่วนใหญ่เสร็จหมดแล้ว ขณะนี้มีการทดลองระบบเป็นส่วน ๆ ซึ่งพอทำเสร็จทั้งเส้น ก็จะทดลองระบบทั้งหมดแบบวิ่งเสมือนจริง อย่างสายสีเหลืองที่ทำไปแล้ว อย่างไรก็ตามสายสีชมพูจะพยายามเร่งเปิดให้บริการภายในปีนี้ โดยจะทำให้เร็วขึ้นมาครึ่งปี ตามแผนมีกำหนดแล้วเสร็จไม่เกินเดือน ก.ค. 2567 แต่อย่างไรก็ตามจะต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

Back to top button