กบน. ชงรัฐบาล 2 แนวทาง “เคาะภาษีดีเซล” ไม่เกินลิตรละ 32 บาท

กบน. เตรียมส่งข้อมูลให้รัฐบาลใหม่ตัดสินใจ รับมือคลังไม่ต่อภาษีฯ ดีเซล หลังสิ้นสุด 20 ก.ค.66 ชี้หากราคาน้ำมันโลกไม่เกิน 90 ดอลลาร์ สามารถยืนราคาลิตรละ 32 บาทได้ถึงสิ้นปี


นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้สั่งการให้กองทุนฯเตรียมสรุปสมมุติฐานต่างๆ เสนอทั้งรัฐบาลช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ในการบริหารราคาดีเซลและขอทราบนโยบายทางการเมืองว่าจะตัดสินใจดำเนินการอย่างไร จะต่ออายุลดภาษีสรรพสามิตดีเซล 5 บาทต่อลิตร หลังวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 หรือไม่ จากปัจจุบันราคาอยู่ที่ประมาณ 32 บาทต่อลิตร เบื้องต้น

โดย กบน.ประเมินหากราคาดีเซลตลาดโลกระดับ 90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 33-35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จะจัดทำสมมุติฐาน 2 แนวทาง ได้แก่ 1.กรณีไม่ต่ออายุลดภาษี 5 บาทต่อลิตร กบน.จะรักษาระดับราคาดีเซล 32 บาทต่อลิตร โดยลดจัดเก็บเงินกองทุนประมาณ 5 บาทต่อลิตร เหลือเก็บเพียง 43 สตางค์ต่อลิตร ให้เพียงพอต่อการดูแลสภาพคล่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 2.กรณีรัฐบาลให้ลดราคาดีเซลต่ำกว่า 32 บาทต่อลิตร รัฐบาลต้องใช้นโยบายภาษีเข้ามาร่วมดูแลด้วย อาจจัดเก็บภาษีดีเซล 2-3 บาทต่อลิตร

“อีก 2 เดือนเงินกองทุนฯจะติดลบหลือ 5 หมื่นล้านบาท จากขณะนี้ติดลบ 6.9 หมื่นล้านบาท หากลดเงินกองทุนฯที่เก็บดีเซล 5.43 บาทต่อลิตร เหลือ 0.43 บาทต่อลิตร ยอดการใช้ดีเซล 65-67 ล้านลิตรต่อวัน คาดว่าจะมีเงินไหลเข้ากองทุน 1,000 ล้านบาทต่อเดือน น่าจะมีเงินเพียงพอในการจ่ายคืนเจ้าหนี้ ซึ่งกองทุนน้ำมันกู้แล้ว 5 หมื่นล้านบาท และจะกู้เพิ่มอีก 2 หมื่นล้านบาท รวมเป็น 7 หมื่นล้านบาท ภายในเดือนมิถุนายนนี้ วงเงินกู้เท่านี้เพียงพอไม่ต้องกู้เพิ่มอีก ตามกรอบอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี 150,000 ล้านบาท บรรจุเป็นหนี้สาธารณะของประเทศไปแล้ว 110,000 ล้านบาท” นายวิศักดิ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามปัจจัยคุกคามที่จะมีผลทำให้ราคาน้ำมันกลับมาผันผวนอีก ทั้งการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน การลดอัตรากำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปค พลัส หากราคาดีเซลตลาดโลกเกิน 90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ต้องพิจารณาแผนอื่นร่วมด้วย

Back to top button