KBANK มองกรอบ “เงินบาท” สัปดาห์หน้า 34.30-34.90 บ./ดอลลาร์

KBANK ประเมินกรอบ “ค่าเงินบาท” สัปดาห์หน้าเคลื่อนไหว 34.30-34.90 บาท/ดอลลาร์ แนะจับตาผลประชุม นโยบายของธนาคารกลาสหรัฐ (เฟด) วันที่ 13-14 มิ.ย.66 ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) วันที่ 15 มิ.ย.66 และการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) วันที่ 15-16 มิ.ย.66 รวมถึงสถานการณ์การเมืองไทย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ


ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)หรือ KBANK มองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทสัปดาห์ถัดไป (12-16 มิ.ย.) ที่ระดับ 34.30-34.90 บาท/ดอลลาร์ จากระดับ 34.60 บาท/ดอลลาร์ในวันศุกร์ที่ 9 มิ.ย.66 สำหรับในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนและเงินบาทอ่อนค่าลงสอดคล้องกับสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชียและเงินหยวน สวนทางค่าเงินดอลลาร์ฯ ที่แข็งค่าขึ้นตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯหลังจากสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินแบบเหนือความคาดหมายของธนาคารกลางออสเตรเลียและธนาคารกลางแคนาดากระตุ้นให้ตลาดกลับมาประเมินแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ อย่างระมัดระวังซึ่งแม้เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิ.ย.แต่อาจจะกลับมาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อีกครั้งในการประชุมรอบเดือนก.ค.นี้

อย่างไรก็ตามเงินบาทล้างช่วงอ่อนค่าลงเกือบทั้งหมดและพลิกแข็งค่ากลับมาในช่วงท้ายสัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงเทขาย หลังจากตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาดซึ่งอาจทำให้เฟดคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.00-5.25% ตามเดิมในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย. นี้

ขณะนี้สถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 6-9 มิ.ย.66 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 844 ล้านบาทแต่มีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 2,699 ล้านบาท (แม้จะซื้อสุทธิพันธบัตร 64 ล้านบาทแต่มีตราสารหนี้หมดอายุ 2,763 ล้านบาท)

โดยสัปดาห์หน้าปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงิน dot plots และตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ของธนาคารกลาสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 13-14 มิ.ย.66 ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB)วันที่ 15 มิ.ย.66 และการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)วันที่ 15-16 มิ.ย.66 สถานการณ์การเมืองไทย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค, ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ค. ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและฟิลาเดลเฟีย ดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์ในมุมมองของผู้บริโภคเดือนมิ.ย. นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขเศรษฐกิจเดือนพ.ค. ของจีน อาทิ ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร

Back to top button