TBN เทรดวันแรก ลุ้นวิ่งเป้า 36 บาท โบรกชี้กำไรปี 66-68 โตเฉลี่ย 67%

TBN พร้อมลุยเทรด mai วันนี้วันแรก ยืนเหนือจอง 17 บ. โบรกฯประเมินราคาเป้าหมาย 36 บาท อัพไซด์ 112% กำไรสุทธิปี 66-68 โตเฉลี่ย 67% ตอกย้ำผู้นำธุรกิจให้บริการออกแบบ-พัฒนาระบบดิจิทัลแบบครบวงจร


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 มิ.ย.66) หุ้นสามัญของบริษัท ทีบีเอ็น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TBN จะเข้าซื้อขายในนตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) วันแรกในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี (TECH) โดยมีทุนชำระแล้วหลัง IPO จำนวน 50 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิม 75 ล้านหุ้นและหุ้นสามัญเพิ่มทุน 25 ล้านหุ้น เสนอขายต่อบุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์และประชาชนทั่วไป ไม่น้อยกว่า 22.5 ล้านหุ้น และพนักงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ไม่เกิน 2.5 ล้านหุ้น เมื่อวันที่ 12-14 มิถุนายน 2566 ในราคาหุ้นละ 17.0 บาท คิดเป็นมูลค่าเสนอขาย 425 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 1,700 ล้านบาท

ทั้งนี้ การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E ratio) ที่ 31.26 เท่า คำนวณจากกำไรสุทธิต่อหุ้นในช่วง 4 ไตรมาสล่าสุด (1 เม.ย. 2565 ถึง 31 มี.ค. 2566)  ซึ่งเท่ากับ 54.38 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นครั้งนี้ (fully diluted) คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น 0.54 บาท โดยมีบริษัท ไพโอเนีย แอดไวเซอรี่ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน มีบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญ

ด้านนายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เปิดเผยว่า ตลาดฯยินดีต้อนรับ TBN เข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายใน mai ภายใต้กลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในวันนี้(19 มิ.ย.66) เป็นวันแรก โดย TBN ดำเนินธุรกิจให้บริการออกแบบและพัฒนาระบบดิจิทัลแบบครบวงจร โดยให้คำปรึกษาด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์  เมชันและพัฒนาโซลูชันตามความต้องการของลูกค้าด้วยซอฟต์แวร์ Low-Code development platform (Low Code) ของ MENDIX ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้การพัฒนาแอปพลิเคชัน หรืองานดิจิทัลโซลูชั่นได้รวดเร็ว

โดยปัจจุบันบริษัทฯ เป็นตัวแทนจำหน่ายลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ MENDIX ของ Siemens รายแรก และรายเดียวในประเทศไทย มีบริษัทย่อย คือ บริษัท บ๊อพ จำกัด ถือหุ้น 70% ดำเนินธุรกิจให้บริการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบ High Code กลุ่มลูกค้าของบริษัทเป็นกลุ่มองค์กรชั้นนำในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มการเงินและประกันภัย ไตรมาส 1/2566 กลุ่มบริษัทมีรายได้จากงานพัฒนาระบบและงานบริการเกี่ยวเนื่อง และงานสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและอื่นๆ สัดส่วน 55 : 45 ตามลำดับ 

ด้านนายปนายุ ศิริกระจ่างศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TBN เปิดเผยว่า บริษัทฯพร้อมเข้าซื้อขายวันนี้เป็นวัน และนับเป็นอีกก้าวสำคัญสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในฐานะหนึ่งในผู้นำการพัฒนาและให้บริการด้าน Digital Solutions ด้วยวิสัยทัศน์ มุ่งมั่นสู่การเป็นผู้นำการขับเคลื่อนธุรกิจด้วย Low-Code และ AI-Driven ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้าง Digital Transformation เพื่อยกระดับธุรกิจคู่ค้าให้ไปสู่ระดับภูมิภาค

เนื่องจากบริษัทเป็นผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ Low Code รายแรกที่มีประสบการณ์กว่า 15 ปี โดยได้รับการแต่งตั้งเป็นตัวแทนจำหน่ายซอฟต์แวร์ MENDIX ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2551 และต่อสัญญาต่อเนื่องทุกปี บริษัทฯ มีทีมงานที่เชี่ยวชาญ และเข้าใจผลิตภัณฑ์ของ MENDIX เป็นอย่างดี และได้รับการยอมรับจากองค์กรขนาดใหญ่

สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้จะนำเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการขยายธุรกิจ รวมถึงการเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขัน เช่น ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในโครงการพัฒนาระบบดิจิทัลเพื่อรองรับ Digital Transformation ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ใช้ในการเพิ่มจำนวนบุคลากร การพัฒนาบุคลากร การพัฒนาระบบและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อรองรับจำนวนโครงการและจำนวนบุคลากรที่เพิ่มมากขึ้น โดยตั้งเป้าสร้างบุคลากรเพิ่มเติมได้ 1,000 คน ภายในปี 2569 รองรับโอกาสของตลาดเทคโนโลยีที่ขยายตัว

สำหรับ TBN มีผู้ถือหุ้นใหญ่หลังเข้าจดทะเบียน คือ นายปนายุ ศิริกระจ่าง ถือหุ้น 23.59% นางสาวนริศรา ลิ้มธนากุล ถือหุ้น 18.04% Rocket Holdings (HK) Limited (บริษัทย่อย BTS) ถือหุ้น 9.99% โดยบริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิของงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัทฯ หลังจากหักภาษีและหักเงินสำรองต่างๆ ทุกประเภทตามที่กฎหมายและข้อบังคับกำหนด

“ปัจจุบันทั่วโลกกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนโปรแกรมเมอร์ ขณะที่เทรนด์การทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ดิจิทัลสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้องค์กรต้องมีการพัฒนาแอปพลิเคชันเพิ่มขึ้น แต่บุคลากรในการพัฒนาไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีเครื่องมือช่วย ดังนั้น Low-Code Platform จะเข้ามาเปลี่ยนอนาคตการพัฒนาซอฟต์แวร์ ทำให้เรามีโอกาสเติบโตในตลาดนี้อีกจำนวนมาก เนื่องจากปัจจุบัน Low-Code ยังไม่ได้ถูกใช้อย่างแพร่หลายในประเทศไทย เราจึงเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจในการนำ MENDIX มาสร้างเป็นโซลูชัน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว คุ้มค่า และทันเวลา”  นายปนายุ กล่าว

สำหรับผลการดำเนินงานในปี 65 มีรายได้จากการให้บริการอยู่ที่ 360.55 ล้านบาท มีกำไรขั้นต้นจากการให้บริการ 102.39 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้น 28.40% และมีกำไรสุทธิ 35.56 ล้านบาท ล่าสุดผลการดำเนินงานในงวดไตรมาส 1/2566 มีรายได้จากการให้บริการของบริษัทฯ อยู่ที่ 116.83 ล้านบาท มีกำไรขั้นต้นจากการให้บริการ 49.22 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้น 42.13%  และมีกำไรสุทธิ 25.98 ล้านบาท

ด้านนางสาวเดือนพรรณ ลีลาวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไพโอเนีย แอดไวเซอรี่ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า TBN เป็นอีกหุ้นน้องใหม่ที่เรามั่นใจว่า จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจให้กับนักลงทุนได้ เนื่องจากมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ประกอบกับ ประสบการณ์ในฐานะผู้นำในธุรกิจเทคโนโลยีและดิจิทัลโซลูชั่นของประเทศไทยที่มีศักยภาพและความพร้อมในการเติบโตไปกับกระแสของการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น (Digital Transformation) ขององค์กรต่างๆ ที่ต้องการนำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

โดยชู Low-Code Platform เป็นจุดแข็งที่ทำให้ TBN แตกต่าง เนื่องจากช่วยให้ผู้ประกอบการที่ต้องการปรับเปลี่ยนแผนงานและธุรกิจได้อย่างคล่องตัวและรวดเร็วยิ่งขึ้น ตอบรับสังคมยุคดิจิทัลและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ทำให้บริษัทฯ ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า ส่วนใหญ่เป็นองค์กรชั้นนำขนาดใหญ่ในหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มสถาบันการเงิน ประกัน และค้าปลีก รวมทั้ง โอกาสขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ ได้เพิ่มเติม ขณะที่ ผลประกอบการมีรายได้ต่อเนื่อง (Recurring Income) ณ สิ้นปี 2565 อยู่ในสัดส่วนระดับสูงมากกว่า 50% ทำให้นักลงทุนเชื่อมั่น จึงมั่นใจว่า TBN จะเป็นผู้นำบริษัทด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีต่อนักลงทุนในระยะยาวได้

ส่วนนายธีรฉัตร ศิลปสนธยานนท์ ผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วม  กล่าวว่า ในช่วงระยะเวลาเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 25 ล้านหุ้น ระหว่างวันที่ 12 – 14 มิถุนายน ที่ผ่านมา มีนักลงทุนให้ความสนใจจองซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมาก สะท้อนความเชื่อมั่นที่มีต่อบริษัทฯ และการกำหนดราคา IPO ที่ราคาเสนอขายหุ้นละ 17 บาท ถือเป็นระดับราคาที่เหมาะสม

ด้านนางสาววีรยา ศรีวัฒนะ หัวหน้าฝ่ายวาณิชธนกิจ  บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด   ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วม กล่าวว่า  เงินระดมทุนครั้งนี้ จะสนับสนุนให้ TBN สามารถขยายการให้บริการพัฒนาแอปพลิเคชันของบริษัทฯ และขยายขอบเขตการขายลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ (License) ไปสู่กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้อย่างครอบคลุม เช่น อุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม

รวมถึงกลุ่มลูกค้าในภูมิภาคเอเชีย เพื่อสร้าง Platform Solution และต่อยอดการให้บริการ MENDIX สำหรับสถาบันการเงิน การธนาคาร ธุรกิจประกันภัย และอุตสาหกรรมอื่นๆ สร้างฐานลูกค้าใหม่ รวมถึงการเพิ่มยอดขายในลูกค้าเก่า ตอกย้ำ TBN คือหนึ่งในผู้นำการพัฒนาและให้บริการด้าน Digital Solutions ที่เติบโตอย่างมั่นคงในอนาคต และเป็นหนึ่งในหุ้นเทคโนโลยีที่อยู่ในใจของนักลงทุนในระยะยาวได้

ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์บียอนด์จํากัด (มหาชน) หรือ BYD ประเมินราคาเป้าหมาย TBN  ที่ 33.0-36.0 บาทต่อหุ้น อิงวิธีการคำนวณด้วย PER multiple ที่ 30- 32 เท่า สะท้อน PEG ที่ 1.00 เท่า โดยมองว่า ตลาด Low Code ที่กําลังจะมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีผู้เล่นหลายรายในอุตสาหกรรม แต่อย่างไรก็ตามจากรายงานของ Gartner ใน Magic Quadrant พบว่าผู้นำในตลาดนี้เป็น ระบบของ MENDIX ที่เป็นบริษัทในเครือของ Siemens เป็น Platform Low Code ที่มีการเขียนโปรแกรมแบบ Drag Drop ในรูปของ Flow chart และจากการศึกษาของ Novista คาดว่าตลาด Low code จะเติบโตที่ CAGR 31% ด้วยจุดแข็งของการเขียน Code ที่รวดเร็ว กว่าเขียนแบบ High code จึงคาดว่าจะเป็นที่นิยมมากขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้คาดการณ์กำไรสุทธิในปี 66 ที่ 110 ล้านบาท ปี 67 อยู่ที่ 145 ล้านบาท และปี 68 อยู่ที่ 173 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโต CAGR ที่ 67% ซึ่งเกิดจากฐานที่ต่ำกว่าปกติในปี 65  แต่ถ้าใช้กำไรสุทธิปี 64 ที่คาดการณ์เป็นฐาน CAGR จะอยู่ที่ 30% โดยปัจจัยการเติบโตคือ 1.การ เติมโตของภาคอุตสาหกรรมของตลาดซอฟต์แวร์ Low code 2. แผนขยายกลุ่มลูกค้า 3.โครงการที่มีมาจิ้นสูงเพิ่มขึ้น และ 4.ผลประโยชน์ทางภาษี BOI

Back to top button