“ประสิทธิ์” มองอนาคตธุรกิจไทย “ต้องมีแผนทำได้จริง” ชูจุดเด่นสร้าง “ซอฟพาวเวอร์” แข่งขัน

“ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ” มองอนาคตธุรกิจไทยใต้ฟ้าใหม่ “ต้องมีแผนปฎิบัติทำได้จริง” ดึงจุดเด่นประเทศออกมาให้ชัด เพื่อสร้าง “ซอฟพาวเวอร์” ที่โดดเด่น และแตกต่าง หวังหนุนไทยเป็นเกตเวย์การค้าในอาเซียน ด้านธุรกิจ CPF มีการเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก ต้องเน้นกลยุทธ์รู้ข้อมูลให้ลึก เร่งความเร็วให้ทัน และเรียนรู้ใหม่ๆ


นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF กล่าวในงานสัมมนา “Battle Strategy แผนฝ่าวิกฤติ พิชิตสงคราม EPISODE V : วิกฤติมาทุกทิศ โอกาสมีทุกทาง” ในช่วงอนาคตธุรกิจไทยใต้ฟ้าใหม่ว่า CPF มีธุรกิจ 55 ประเทศทั่วโลก ทั้งโลกมีความกังวล กำลังซื้อลดลง ลงจากปัจจัย เช่น รัสเซีย-ยูเครน สหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ย ทุกคนมีความไม่มั่นใจกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ประเทศไทยยังดีกว่ามาก

สำหรับการดำเนินธุรกิจในช่วงหลังมีการเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก เช่น การออกสินค้าใหม่ใน 7-11 เมื่อก่อนอยู่ได้ปีครึ่งหรือสองปี แต่เดี๋ยวนี้อยู่ได้ 9 เดือน ก็ต้องออกสินค้าใหม่ จึงต้องปรับตัว

อีกทั้งต้องดูแลลูกค้า พนักงาน และ ซัพพลายเออร์ ซึ่งต้องรู้ข้อมูลให้ลึก ต้องเร่งความเร็วให้ทัน และต้องมีความสามารถในการเรียนรู้ใหม่ๆ

สำหรับการทำงานในอดีตทำงานแบบ SILO ซึ่งต้องเลิกใหม่ แล้วหันมาทำงานร่วมกัน หา solution ร่วมกัน ต้องเปลี่ยน way ในการทำงาน และทำงานเหมือน Start-Up

บริษัทที่ก่อตั้งมานานมีความเสี่ยงเพราะติดกับวัฒนธรรมเก่า เปลี่ยนยาก แต่ในช่วง COVID มุมข้อดีก็มี ทุกอย่างถูกบังคับให้ปรับวิธีการทำงาน ใช้ system มาช่วย

ความสำเร็จและวิธีการในอดีตเป็นตัวสกัดกั้นองค์กร และกรอบความคิดที่เคยสำเร็จในอดีตแล้วมาใช้ในปัจจุบัน อาจจะใช้ได้บางส่วน วิธีการทำงานต้องเปลี่ยน

สมัยก่อนทำการตลาดง่าย โดยเฉพาะถ้ามีงบ ส่วนตัวคิดว่าปัจจุบันที่ว่า social media ดีขึ้น ไม่แน่ใจว่าจริงหรือไม่ เพราะทำการตลาดยาก แต่เดี๋ยวนี้มีหลายช่องทาง คนสนใจแต่ช่องทางที่ตัวเองสะดวก และมีสังคมย่อยในการสื่อสารด้วย

บริษัทมีวัฒนธรรมในองค์กร 6 เรื่อง หนึ่งในนี้ที่เน้นมากคือ การยอมรับความเปลี่ยนแปลง ยอมรับตั้งแต่รุ่นอาวุโส และการยอมรับและให้โอกาสเด็กๆ ที่เพิ่งจบ เรียกว่า startup within organization ให้มีองค์กรย่อยในองค์กร ทำงานเป็น project base ก็จะเป็นการลดลำดับชั้นได้

เปิดองค์กรให้กว้างเพื่อหาพันธมิตร ใครมีเทคโนโลยีดีๆ เรายินดีเป็นหนูทดลองให้ ประกอบกับการดูแลซัพพลายเชนของเราให้เติบโตไปพร้อมกัน

บริษัททำเรื่อง ESG เยอะ เช่นการควบคุมการปล่อยก๊าซจากองค์กรเป็นเรื่องที่ควบคุมได้ แต่ซัพพลายเออร์จัดการยาก จึงมีโครงการเพิ่มประสิทธิภาพให้ซัพพลายเออร์ นำวิศวะตั้งเป็นทีมย่อยไปให้บริการให้กับซัพพลายเออร์ที่อยากทำ โดยมีข้อแม้ว่าเอา saving ที่ได้ไปครีเอทโครงการเรื่องสิ่งแวดล้อม

CPF ประกาศเป็น net zero ภายในปี 50 ประกาศเร็วกว่าที่ไทยตั้งไว้ 15 ปี ซึ่งปัจจุบัน CPF ใช้พลังงานทดแทน 30% ของการใช้พลังงานทั้งหมด เท่ากับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 600,000 ตัน co2 เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 64 ล้านต้น หรือเทียบเท่ากับ 320,000 ไร่ โดยไปใช้พลังงานชีวมวล ใช้ขี้หมูในการปั่นไฟฟ้า และใช้ solar roof และมีความตั้งใจใช้พลังงานทดแทนให้มากกว่าปัจจุบัน

ถ้ามีรัฐบาลใหม่อยากให้วางกลยุทธ์ความโดดเด่นของประเทศคืออะไร brand positioning คืออะไร ประเทศไทยมีโอกาสเยอะมาก ต้องมีแผนปฎิบัติที่ทำได้จริง ส่วนตัวอยากให้ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน( south east asia) เพราะประเทศไทยมี branding ดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะ soft power ซึ่งช่วงหลังของไทยเราดีมาก เราต้องสร้างความแตกต่าง

Back to top button