จับตา 8 แบงก์โกยกำไร Q2 เฉียด 6 หมื่นล้าน ยก KTB ท็อปพิก

“เอเซีย พลัส” ประเมินกำไรไตรมาส 2 ของกลุ่ม “แบงก์” คาดรวม 8 แบงก์กำไร 6 หมื่นล้าน พร้อมชู KTB จะรายงานกำไรเด่นสุดในกลุ่ม ส่วน BBL ขยายตัวสูงสุดในกลุ่ม


บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ ประเมินหุ้นกลุ่มธนาคาร หลังเข้าสู่ช่วงประกาศผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2/66 เริ่มด้วยบริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO ในวันที่ 12 ก.ค. 66 และปิดท้ายด้วย ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ  KBANK และ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ในวันที่ 21 ก.ค.66

โดยกำไรสุทธิของกลุ่มธนาคาร (8 ธนาคาร) งวดไตรมาส 2/66 คาดอยู่ที่ระดับ 5.9 หมื่นล้านบาท เติบโต 0.3% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 15% จากปีก่อน โดยได้แรงส่งจาก NIM ของธนาคารพาณิชย์ใหญ่ ซึ่งคาดธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB รายงานกำไรเด่นสุดในกลุ่มเชิงเทียบกับไตรมาสก่อนราว 5.7% ส่วน ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ขยายตัวสูงสุดในกลุ่มฯ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนราว 52%

ทั้งนี้ หากกำไรสุทธิกลุ่มธนาคารไตรมาส 2/66 ตามคาด จะทำให้กำไรสุทธิกลุ่มงวดครึ่งหลังของปีนี้อยู่ที่ 1.18 แสนล้านบาท เติบโต 14% จากปีก่อน คิดเป็นสัดส่วน 55.4% ของประมาณการกำไรกลุ่มฯปี 66 ของฝ่ายวิจัยที่ 2.1 แสนล้านบาท เติบโต 8.4% จากปีก่อน และ 53% ของประมาณการกำไรปี 66 ของ Bloomberg Consensus ณ 30 มิ.ย. 66

สำหรับการลงทุนหุ้นในกลุ่มฯ ทางพื้นฐาน เรียงตามความชอบดังนี้ 1.KTB (Outperform : ราคาพื้นฐาน 20.30 บาท, 2.BBL (Outperform : ราคาพื้นฐาน 174 บาท, SCB (Outperform ราคาพื้นฐาน 132 บาท, KBANK (Neutral ราคาพื้นฐาน 140 บาท

ส่วนธนาคารพาณิชย์เล็กเลือก TISCO (Neutral ราคาพื้นฐาน 108 บาท), ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP (Underperform ราคาพื้นฐาน 73 บาท)

ขณะที่ในเชิงกลยุทธ์ภายใต้การเมืองที่จะเริ่มเห็นความชัดเจนมากขึ้นช่วงต้นไตรมาส 3/66 จึงลุ้นโอกาสการไหลกลับของฟันด์โฟลว์ต่างชาติ ทำให้ธนาคารพาณิชย์ใหญ่ที่ถูก NVDR (NVDR Limit ที่ 25%) ลดน้ำหนักการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาหุ้นยังแลกการ์ดกลุ่มฯ อย่าง KBANK สัดส่วน NVDR จากสิ้นปี 65 ที่ 18.8% เหลือ 12.5% ณ สิ้น มิ.ย. 66 หรือ SCB สัดส่วน NVDR จากสิ้นปี 2565 ที่ 6.2% เหลือ 6.0% ณ สิ้น มิ.ย. 66 ช่วงสั้นมี Risk to reward น่าสนใจมากกว่า ธ.พ. ที่ให้ผลตอบแทนชนะตลาดช่วงก่อนหน้านี้

ขณะที่ กลุ่มท่องเที่ยว แนวโน้มกำไรกลุ่มฯ ไตรมาส 2 ฟื้นตัวจากไตรมาสก่อน แรงส่งจากหุ้นบิ๊กแคปอย่างบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT ที่เข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นใน EU (สัดส่วนราว 50% ของรายได้รวม) รวมทั้ง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ได้ลุ้นจากส่วนลดให้กับคู่ค้าทยอยกลับสู่ระดับปกติ

โดยรวมชดเชยการอ่อนตัวของกำไรปกติของ บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW และบริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL ที่เข้าสู่โลว์ซีซั่นของท่องเที่ยวไทย (CENTEL ถูกกดดันเพิ่มเติมจากมัลดีฟส์ สัดส่วนราว 7% ของรายได้รวมปี 62 เข้าโลว์ซีซั่นเช่นเดียวกับไทย)

ขณะที่ระยะถัดไป ด้วยตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยเบื้องต้น มิ.ย. 66 เพิ่ม 9% จากเดือนก่อน สะท้อนการท่องเที่ยวไทยที่น่าจะผ่านโลว์ซีซั่นช่วง พ.ค. แล้ว คาดหนุนกำไรบริษัทที่มีโครงสร้างรายได้จากไทยเป็นหลัก ไต่ระดับจากไตรมาสก่อนต่อเนื่องถึงไตรมาส 1/67 โดยเฉพาะไตรมาส 4/66 และไตรมาส 1/67 ซึ่งเป็นไฮซีซั่นของท่องเที่ยวไทย ภาพดังกล่าวบวกต่อหุ้นกลุ่มที่มีสัดส่วนจากท่องเที่ยวไทยเป็นหลัก เรียงตามสัดส่วนรายได้จากไทยดังนี้ AOT > ERW > CENTEL > MINT

ทั้งนี้ ในเชิงกลยุทธ์ MINT (Outperform ราคาพื้นฐาน 38 บาท) ที่ราคาหุ้น outperformed กลุ่มในช่วงก่อนหน้าจากไฮซีซั่นใน EU เริ่มมี Risk to reward ลดลง เมื่อเทียบกับหุ้นท่องเที่ยวไทยอย่าง AOT (Outperform ราคาพื้นฐาน 80 บาท), ERW (Outperform : ราคาพื้นฐาน 5.70 บาท) และ CENTEL (Neutral ราคาพื้นฐาน 60 บาท) ที่ราคาหุ้นปรับฐานจากโลว์ซีซั่นสวนทางทิศทางกำไรรายปีที่ฟื้นตัว น่าจะมี Risk to reward น่าสนใจกว่า ตามความเห็นของฝ่ายวิจัย

Back to top button