“สายสีชมพู” จ่อเปิดทดลองบริการฟรี ก.ย.นี้

“รถไฟสายสีชมพู” เตรียมทดสอบการเดินรถเสมือนจริงประมาณ ส.ค. จากนั้นประมาณเดือน ก.ย. จะเปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการตลอดสายฟรี ก่อนจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์แบบเก็บค่าโดยสาร พ.ย.66


ผู้สื่อข่าวรายงาน (10 ก.ค.66) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกตรวจสอบความพร้อมก่อนทดสอบการเดินรถไฟฟ้าเสมือนจริง (Trial Run) ของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และร่วมนั่งทดสอบการเดินรถจากสถานีมีนบุรี (PK30)-สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ (PK12) รวมทั้งตรวจเยี่ยมจุดเชื่อมต่อระหว่างโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ และโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม ในอนาคต บริเวณสถานีมีนบุรี โดยการทดสอบการเดินรถในครั้งนี้มีความราบรื่นตลอดเส้นทาง เดินรถด้วยความเร็วประมาณ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ นับเป็นโมโนเรลสายที่ 2 ของประเทศไทยที่จะช่วยเชื่อมต่อการเดินทางของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก ฝั่งเหนือ และ จังหวัดนนทบุรี เข้าสู่พื้นที่ใจกลางเมืองได้โดยสะดวก โดยโครงการฯ มีระยะทางรวม 34.5 กิโลเมตร (กม.) เป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับตลอดสายมี 30 สถานี ซึ่งมีศูนย์ซ่อมบำรุงฯ และจุดจอดแล้ว (Park and ride) บริเวณสถานีมีนบุรี

พร้อมทั้งมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า 4 สายหลัก ได้แก่ รถไฟฟ้ามหานครสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่สถานีมีนบุรี รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ที่สถานีหลักสี่ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี

ด้าน นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทาน โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู กล่าวว่า เบื้องต้นคาดว่ารถไฟฟ้าสายสีชมพู จะทดสอบการเดินรถเสมือนจริงประมาณเดือน ส.ค. 66 จากนั้นประมาณเดือน ก.ย. 66 จะเปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการตลอดสายฟรี ก่อนจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์แบบเก็บค่าโดยสาร ประมาณเดือน พ.ย. 66

ขณะนี้ภาพรวมการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู มีความคืบหน้าประมาณ 97.15% ซึ่งยังติดปัญหาไม่สามารถทำทางขึ้น-ลงสถานีได้ 3 สถานีได้แก่ สถานีแจ้งวัฒนะ 14 (PK11), สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ (PK12) และ สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ (PK13) เนื่องจากต้องรอการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) นำสายไฟลงใต้ดิน และโครงการฟลัดเวย์ของกรมทางหลวง (ทล.) ดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อน

นอกจากนี้ นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ NBM กล่าวว่า ขณะนี้ได้เร่งรัดงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู และหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเร่งดำเนินโครงการต่างๆ ที่ทับซ้อนกันอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อให้แล้วเสร็จทันการเปิดให้บริการเดือน พ.ย. 66

ทั้งนี้หากงานก่อสร้างทางขึ้นลง 3 สถานีไม่สามารถแล้วเสร็จทันเดือนพ.ย. 66 ก็จะหารือกับทาง รฟม. ว่าจะสามารถเปิดให้บริการตลอดสาย แบบไม่ต้องจอดสถานีแจ้งวัฒนะ 14 และสถานีโทรคมนาคมฯ ได้หรือไม่ ส่วนสถานีศูนย์ราชการฯ แม้ทางขึ้นลงยังไม่เสร็จ แต่อาจจะให้จอดบริการได้ เพราะสถานีดังกล่าวมีทางเดินเชื่อมไปยังศูนย์ราชการฯ ไม่ต้องรอทางขึ้น-ลงก็ได้ ส่วนอัตราค่าโดยสารสายสีชมพูนั้น จะอยู่ที่ประมาณ 15-45 บาท

สำหรับความคืบหน้าโครงการสำหรับโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีชมพู ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี มีระยะทาง 2.8 กิโลเมตร (กม.) จำนวน 2 สถานีนั้น โดยภาพรวมโครงการฯ มีความคืบหน้า 25.08% ซึ่งกำลังเร่งรัดงานก่อสร้างอยู่ เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ภายในปลายปี 67 เร็วกว่าแผนงานที่วางไว้ว่าจะเปิดให้บริการกลางปี 68

ทั้งนี้รถไฟฟ้าสายสีชมพู เป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับตลอดสาย มี 30 สถานี ประกอบด้วยสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี สถานีแคราย สถานีสนามบินน้ำ สถานีสามัคคี สถานีกรมชลประทาน สถานีแยกปากเกร็ดสถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด สถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 สถานีศรีรัช สถานีเมืองทองธานี สถานีแจ้งวัฒนะ 14

สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ สถานีหลักสี่ สถานีราชภัฏพระนคร สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ สถานีรามอินทรา 3 สถานีลาดปลาเค้า สถานีรามอินทรา กม.4 สถานีมัยลาภ สถานีวัชรพล สถานีรามอินทรา กม.6 สถานีคู้บอน สถานีรามอินทรา กม.9 สถานีวงแหวนรามอินทรา สถานีนพรัตน์ สถานีบางชัน สถานีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ สถานีตลาดมีนบุรี และสถานีมีนบุรี

Back to top button