SAWAD โชว์กำไร Q2 แตะ 1.2 พันล้าน รับพอร์ตสินเชื่อโต 9 หมื่นล้าน

SAWAD เปิดงบไตรมาส 2/66 กำไรแตะ 1.2 พันล้านบาท ดันพอร์ตสินเชื่อคงค้างมุ่งหน้าสู่ระดับ 90,000 ล้านบาท พร้อมเดินเกมขยายพอร์ตสินเชื่อต่อเนื่องตามเป้าหมายในทุกกลุ่มธุรกิจ มั่นใจคุมเอ็นพีแอลอยู่หมัด


นางสาวธิดา แก้วบุตตา ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์องค์กร บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ  SAWAD เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2 ปี 66 ของบริษัทและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิรวม 1,223 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.41% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,138 ล้านบาท โดยบริษัทมีรายได้ดอกเบี้ยราว 3,444 ล้านบาท และรายได้อื่นราว 946 ล้านบาท รวมรายได้อยู่ที่ 4,390 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 59.81% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการเติบโตทั้งรายได้และกำไร มาจากกลยุทธ์ในการขยายตัวพอร์ตสินเชื่อที่เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง หนุนให้กำไรเพิ่มขึ้น อีกทั้งการซื้อบริษัทเงินสดทันใจคืนจากธนาคารออมสิน ทำให้พอร์ตสินเชื่อขยายตัวเพิ่มขึ้นในขณะที่บริษัทสามารถบริหารจัดการต้นทุนคงที่ได้ จึงเป็นโอกาสในการเติบโตของบริษัท

ขณะที่ผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกปี 66 มีกำไรสุทธิรวม 2,544 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.74% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2,256 ล้านบาท โดยบริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 8,350 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 58.55% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้พอร์ตสินเชื่อคงค้างของบริษัท ณ วันที่ 30 มิ.ย. 66 อยู่ที่ระดับ 89,297 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตหลังจากหยุดการขยายพอร์ตสินเชื่อเนื่องจากสถานการณ์โควิด ดังนั้นเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย บริษัทจึงเดินหน้าขยายพอร์ตสินเชื่อตามเป้าหมาย

“ธุรกิจหลักจำนำทะเบียนรถและปล่อยสินเชื่อ บริษัทสามารถปล่อยได้ตลอดเวลา แต่สิ่งสำคัญคือการบริหารจัดการพอร์ตให้ NPL อยู่ในระดับเหมาะสม ดูแลลูกค้าผ่อนตรงตามงวดและเป็นไปตามแนวทางของบริษัทที่กำหนดไว้ ซึ่งเราตั้งเป้าการเติบโตในทุกๆปี และจะให้เติบโตใกล้เคียงกับเป้าหมาย ดังนั้นผลงานในช่วงไตรมาสที่ 2 หลังจากที่เรากลับมาโฟกัสการเติบโตพอร์ตสินเชื่อ จึงเติบโตเป็นไปตามเป้าหมาย อยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ โดยที่ระดับ NPL ใกล้เคียงกับช่วงไตรมาสที่ 1” นางสาว ธิดา กล่าว

ทั้งนี้การที่กลุ่มธนาคารได้ขยายธุรกิจ ออกผลิตภัณฑ์แข่งขันกับกลุ่ม Non-Bank ซึ่งบริษัทไม่ได้มีความกังวลในประเด็นนี้แต่อย่างใด และบริษัทได้มีการวางแผนการปรับตัวมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการแข่งขันอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย จึงก่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันมากขึ้น ท้ายที่สุดบริษัทประเมินว่าการแข่งขันดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลดีในแง่การเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคได้ใช้บริการ

นอกจากนี้ บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ ประเมิน SAWAD ว่ายังคงคำแนะนำ “ซื้อ” แต่ปรับราคาเป้าหมายลงเป็น 56 บาท อิงจากอัตราส่วนราคาตลาดของหุ้นปี 2566 ที่ 2.8 เท่า จากเดิมราคาเป้าหมาย 70 บาท ซึ่งอิงค่าอัตราส่วนราคาตลาดของหุ้นในปี 66 ที่ 3.4 เท่า โดยเป็นผลจากการปรับกำไรสุทธิ และ de-rate ของอัตราราคาตลาดหุ้นที่ลดลง

โดยบริษัทรายงานกำไรสุทธิไตรมาส 2/66 ที่ 1.15 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ลดลง5% จากไตรมาสก่อนหน้าต่ำกว่าตลาดคาดไว้ลดลง 10% จากค่าใช้จ่ายสำรองที่สูง โดย 1. สินเชื่อเติบโตดีมากกว่า 125% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากกลับมารับรู้สินเชื่อ FM โดยบริษัทซื้อหุ้นคืนจาก GSB แล้วเสร็จในวันที่ 30 มิ.ย.66 กลับมาเร่งปล่อยสินเชื่อจำนำ และสินเชื่อเช่าซื้อที่ขยายตัวดี

ขณะที่ 2) loan spread อ่อนตัวลง ตามการรับรู้สินเชื่อ FM โดยที่ยังไม่รับรู้รายได้ในงวด และต้นทุนทางการเงินเพิ่มเป็น 3.7% และ 3) การให้สินเชื่อ (credit cost) เพิ่มเป็น 2.4% ตาม NPL และอัตราการกันสำรอง (LLR/loan) เพิ่มขึ้น

โดยทางฝ่ายวิจัยปรับประมาณกำไรสุทธิปี 66 เหลือ 10% เป็น 4.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และปี 67 ลดลง 11% เป็น 5.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการปรับเพิ่ม credit cost เพื่อสะท้อน LLR/loan ที่สูง ขณะที่ยังคงประมาณการสินเชื่อที่ขยายตัวดี 50% และเพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของก่อน และ NPL เพิ่มเป็น 3.1%

Back to top button