BANPU ลงนาม “รัฐลุยเซียนา” ลุยโครงการกักเก็บคาร์บอน “ไฮเวสต์” มุ่งเป้า Net Zero

BANPU บรรลุข้อตกลงกับรัฐลุยเซียนาในโครงการกักเก็บคาร์บอนฯ High West (ไฮเวสต์) หนุนให้ธุรกิจก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ สามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ได้ในอนาคต


บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ เดินหน้าโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) ในสหรัฐอเมริกา หลังจากเริ่มโครงการ Barnett Zero (บาร์เนตต์ ซีโร่) และโครงการ Cotton Cove (คอตตอน โคฟ) ไปแล้ว  โดยล่าสุดได้บรรลุข้อตกลงกับรัฐลุยเซียนาในโครงการกักเก็บคาร์บอนฯ High West (ไฮเวสต์) ซึ่งจะหนุนให้ธุรกิจก๊าซธรรมชาติของบ้านปูในสหรัฐฯ สามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ได้ในอนาคต

โดยโครงการ Barnett Zero ซึ่งเป็นโครงการ CCUS แรกของบ้านปู ได้เริ่มดำเนินการและประกาศการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย หรือ (Final Investment Decision หรือ FID ในปี 65 ทำให้บ้านปูกลายเป็นบริษัทสัญชาติไทยรายแรกที่ประกาศ FID ในโครงการ CCUS ในสหรัฐอเมริกาต่อมาในเดือนก.ค. 65 บ้านปูได้เริ่มการขุดเจาะหลุมกักเก็บก๊าซของโครงการ Barnett Zero โดยตั้งเป้าเริ่มกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในเดือนธ.ค.ปีนี้ และคาดว่า Barnett Zero จะเป็นหนึ่งในโครงการ CCUS เชิงพาณิชย์ถาวรโครงการแรกๆ ในสหรัฐฯ สำหรับขั้นตอนการทำงาน โครงการฯ นี้จะแยกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากกระบวนการผลิตก๊าซธรรมชาติจากระบบท่อขนส่งก๊าซที่ดำเนินงานโดยบริษัท EnLink Midstream, LLC หรือ EnLink

สำหรับโครงการ Cotton Cove ซึ่งเป็นโครงการ CCUS ลำดับที่สองของบ้านปู ได้ประกาศการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้ายเป็นการภายใน (internal FID) เมื่อเดือนต.ค. 65 โดยโครงการฯ นี้จะช่วยแยก กำจัด และกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นผลพลอยได้ (byproduct) จากการผลิตก๊าซธรรมชาติในแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ รวมไปถึงสินทรัพย์กลางน้ำของของบริษัทฯ  โครงการ Cotton Cove มีเป้าหมายที่จะเริ่มดำเนินการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ภายในสิ้นปี 67 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการได้รับใบอนุญาตที่จำเป็นทั้งหมดเป็นที่เรียบร้อย

โดยโครงการ Barnett Zero มีมูลค่าการลงทุนทั้งหมดราว 29-34 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่มูลค่าการลงทุนในโครงการ Cotton Cove อยู่ที่ราว 14-24 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยแต่ละโครงการมีอัตราการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ 210,000 และ 80,000 เมตริกตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปีตามลำดับ

ทั้งนี้ สำหรับโครงการ High West ซึ่งเป็นโครงการ CCUS ลำดับที่สามของบ้านปู บริษัทฯ จะพัฒนาโครงสร้างและระบบต่าง ๆ เพื่อกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถาวรจากแหล่งอุตสาหกรรมในพื้นที่ใกล้เคียง โครงการทั้งสามแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจอันแน่วแน่ของกลุ่มบ้านปูในการริเริ่มโครงการเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนออกไซด์ ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG และจุดยืนในการส่งมอบ “อนาคตพลังงานเพื่อความยั่งยืน” (Smarter Energy for Sustainability)

ด้าน นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BANPU กล่าวว่า จากกลยุทธ์ Greener & Smarter ของบ้านปู โครงการ CCUS ถือเป็นก้าวย่างสำคัญของเราในภารกิจลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โครงการเหล่านี้นอกจากจะเป็นสิ่งใหม่ที่เข้ามาเสริมความแข็งแกร่งในห่วงโซ่คุณค่าของบ้านปูในสหรัฐฯ แล้ว ยังช่วยให้เราสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการดำเนินธุรกิจเพื่อลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังเป็นโอกาสสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตในอนาคตอีกด้วย นอกจากนี้ เรามุ่งหวังว่าโครงการเหล่านี้ จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายของเรา ทั้งในเรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจและการส่งเสริมความยั่งยืนให้แก่อุตสาหกรรมพลังงาน

นอกจากนี้ นายฐิติ เมฆวิชัย ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ BANPU กล่าวว่า สำหรับธุรกิจก๊าซธรรมชาติของบ้านปู โดยตั้งเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) สำหรับ scope 1 และ 2 ราวปี 68 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) สำหรับการปล่อยมลสารจากธุรกิจต้นน้ำ scope 3 ภายในปี 73 โครงการ CCUS จะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้บ้านปูบรรลุเป้าหมายนี้และสร้างทั้งมูลค่าเพิ่มและการเติบโตอย่างต่อเนื่องให้กับธุรกิจในสหรัฐฯ

ทั้งนี้ จากการที่เราวางแผนว่าจะบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากธุรกิจต้นน้ำให้ได้ 15-16 ล้านเมตริกตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปีภายในปี 73 จึงมองหาโอกาสในการทำโครงการ CCUS ใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีโครงการ CCUS หลายโครงการที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งคิดเป็นปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 30 ล้านเมตริกตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

Back to top button