“พาณิชย์” เปิดตัวเลข “ส่งออก” ก.ค. วูบ 6.2% ลุ้น Q4 พลิกบวก

“พาณิชย์” เปิดตัวเลข “ส่งออก” เดือน ก.ค. วูบ 6.2% กลุ่มสินค้าเกษตร ลุ้นนำไตรมาส 4 พลิกบวก พร้อมคงเป้าปีนี้ 1-2% สวนทางเอกชนมอง -1%


นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนก.ค.66 ว่า มูลค่าการส่งออกของไทยยังคงหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า มีมูลค่า 22,143.2 ล้านดอลลาร์ ลดลง 6.2% จากเดือนเดียวกันปีก่อน จากตลาดคาด -2.8% ถึง -3.1% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 24,121 ล้านดอลลาร์ ลดลง 11.1% จากเดือนเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ในเดือนก.ค.66 ไทยขาดดุลการค้า 1,977.8 ล้านดอลลาร์

ในขณะที่ช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.) การส่งออก มีมูลค่า163,313.5 ล้านดอลลาร์ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.5% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 171,598.9 ล้านดอลลาร์ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.7% ส่งผลให้ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ไทยขาดดุลการค้า 8,285.3 ล้านดอลลาร์

นายกีรติกล่าวอีกว่า การส่งออกในเดือนก.ค. เมื่อแยกเป็นรายกลุ่ม จะพบว่ามูลค่าการส่งออกของสินค้าในทุกกลุ่มลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มสินค้าเกษตร มีมูลค่าการส่งออก 2,162.3 ล้านดอลลาร์ ลดลง 7.7% หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แต่ยังมีสินค้าที่ขยายตัวได้ดี เช่น ไข่ไก่สด, ข้าว, ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง

ส่วนกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร มีมูลค่าการส่งออก 1,823 ล้านดอลลาร์ ลดลง 11.8% หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 แต่สินค้าที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ นม-ผลิตภัณฑ์นม, สิ่งปรุงรสอาหาร, ผักกระป๋อง-แปรรูป และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม มีมูลค่าการส่งออก 17,364.4 ล้านดอลลาร์ ลดลง 3.4% หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยสินค้าที่ยังขยายตัวดี ได้แก่ เครื่องโทรศัพท์, อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์ และไดโอด, หม้อแปลงไฟฟ้า, รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, ไม้-ผลิตภัณฑ์จากไม้, รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ

ทั้งนี้ หากพิจารณาเป็นรายตลาด พบว่าตลาดส่งออกสำคัญของไทยที่ขยายตัวได้ดี 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.สวิตเซอร์แลนด์ โต 64.9% 2.ซาอุดีอาระเบีย โต 63.1% 3.แอฟริกา โต 43.3% 4.รัสเซีย โต 33.8% 5.เม็กซิโก โต 32.4% 6.ลาว โต 11.8% 7.ฮ่องกง โต 9.7% 8.สหราชอาณาจักร โต 5.8% 9.ออสเตรเลีย โต 2.7% และ 10.สหรัฐอเมริกา โต 0.9%

สำหรับการส่งออกของไทยในเดือนก.ค.66 ที่มูลค่าติดลบถึง 6.2% เป็นเพราะเทียบกับฐานที่สูงในเดือนก.ค.65 ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 23,613 ล้านดอลลาร์ ซึ่งหากพิจารณาในส่วนของมูลค่าการส่งออกเดือน ก.ค.66 ซึ่งอยู่ที่ 22,143 ล้านดอลลาร์นั้น จะเห็นว่ามูลค่าค่อนข้างสูง และเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ถือว่าการส่งออกของไทยอยู่ในระดับที่ดี ท่ามกลางปัจจัยความไม่แน่นอนจากต่างประเทศหลายปัจจัย ทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจจีน และปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ

“ท่ามกลางหลายปัจจัยที่รุมเร้า แต่ส่งออกเราทำได้ระดับ 22,000 ล้านดอลลาร์ ถือว่าไม่แย่ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เราติดลบน้อยกว่า การใช้ความพยายามของภาครัฐและเอกชน ตลอดช่วง 7 เดือนที่ออกมา แม้จะติดลบ แต่ perform ของเราดีกว่าหลายประเทศ แม้จะออกมาติดลบแบบนี้ ก็ถือว่าน่าพอใจ ส่วนช่วงที่เหลืออีก 4-5 เดือนจากนี้ จะพยายามทำเต็มที่ให้ตัวเลขไม่แย่ไปกว่านี้” นายกีรติ กล่าว

สำหรับแนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าการส่งออกจะได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว การผลิตและการบริโภคชะลอลง ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า และความผันผวนของค่าเงิน แต่คาดว่าฐานที่ต่ำในช่วงปลายปี ภาคบริการของประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัว และอานิสงส์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ – จีน ทำให้คู่ค้าหันมานำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์บางตัวจากไทยทดแทนตลาดจีนมากขึ้น

ขณะเดียวกัน การส่งออกสินค้าในหมวดอาหารที่เป็นสินค้าจำเป็น มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยหลายประเทศเพิ่มการนำเข้าเพื่อรักษาความมั่นคงทางด้านอาหาร และการขนส่งที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในเส้นทางใหม่ผ่าน รถไฟไทย-ลาว-จีน จะช่วยเพิ่มโอกาสการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ได้อีกทางหนึ่งด้วย

“เราจะพยายามอย่างเต็มที่ในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ แม้จะมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ โดยเฉพาะปัจจัยจากต่างประเทศ และเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนตัวเลขจริง จะออกมาได้มากน้อยอย่างไรนั้น จะไม่เสียใจ เพราะเราทำเต็มที่ มันเป็นสถานการณ์เดียวกันทั้งโลก แม้การส่งออกเราจะติดลบ แต่เราก็ยังอยู่ได้ มันไม่ใช่แค่ประเทศเราประเทศเดียวที่เป็น” ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุ

นายกีรติกล่าวอีกว่า กระทรวงพาณิชย์จะยังไม่ปรับเป้าหมายการส่งออกปีนี้ตามที่ตั้งไว้ 1-2% เพราะถือเป็น Working target ซึ่งในช่วงที่เหลือของปีนี้ หากจะทำให้มูลค่าการส่งออกทั้งปีไม่ติดลบเลย หรืออยู่ที่ 0% มูลค่าการส่งออกในแต่ละเดือนที่เหลือต้องเฉลี่ยประมาณ 24,800 ล้านดอลลาร์ แต่หากจะให้บวกเล็กน้อยที่ 0.5% มูลค่าการส่งออกในแต่ละเดือนต้องเฉลี่ยอยู่ที่ 25,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่าเป็นงานที่ท้าทายค่อนข้างมาก

ด้านนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เชื่อว่า การส่งออกของไทยในช่วงไตรมาส 4/66 มีโอกาสสูงที่จะพลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ เนื่องจากปัญหาขาดแคลนชิปในการผลิตรถยนต์ได้คลี่คลายลงแล้ว ตลอดจนปัญหาการบริหารจัดการการส่งออกสินค้าที่ท่าเรือแหลมฉบังก็กลับมาเรียบร้อยดี ส่งผลให้ยอดส่งออกรถยนต์ในเดือนก.ค.66 อยู่ในระดับสูงมาก ซึ่งแตกต่างจากสถานการณ์ในช่วงไตรมาส 4/65 ที่ไทยประสบกับปัญหาขาดแคลนชิป จนกระทบกับการผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออก

พร้อมกันนี้ มองว่าการส่งออกสินค้าในกลุ่มที่มีโอกาสขยายตัวได้ดีในช่วงปลายปี ได้แก่ ยานยนต์ และชิ้นส่วนประกอบ, ข้าว และน้ำตาล ส่วนสินค้าที่มีความอ่อนไหว เพราะขึ้นกับเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้า เช่น จีน ได้แก่ อาหาร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ในขณะที่สินค้าส่งออกที่จะมีผลกระทบสูง ได้แก่ เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ ซึ่งมีความสอดคล้องกับ supply chain ในจีน

“การส่งออกของไทยในไตรมาส 4 ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกสูง ทั้งภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศ และการขัดแย้งทางการเมือง แต่เชื่อว่าจะไม่ติดลบ และเป็นบวกแน่นอน แต่จะบวกเท่าไรนั้น ต้องวิเคราะห์กันต่อไป เพราะยังมีตัวแปรเยอะมาก ขึ้นกับสถานการณ์ต่างประเทศเป็นหลัก” ประธานสภาผู้ส่งออก ระบุ

ขณะที่ทั้งปี 2566 สรท.ประเมินว่า มูลค่าการส่งออกของไทย จะลดลง 1% แต่ก็มีโอกาสจะติดลบมากกว่านี้ได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ    

Back to top button