สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 8 ก.ย.2566

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 8 ก.ย.2566


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ (8 ก.ย.) แต่อยู่ต่ำกว่าระดับสูงสุดของวัน และติดลบในรอบสัปดาห์นี้ เนื่องจากนักลงทุนยังคงกังวลเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย และรอการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐในสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,576.59 จุด เพิ่มขึ้น 75.86 จุด หรือ +0.22%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,457.49 จุด เพิ่มขึ้น 6.35 จุด หรือ +0.14% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,761.53 จุด เพิ่มขึ้น 12.69 จุด หรือ +0.09%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกในวันศุกร์ (8 ก.ย.) แต่ลดลงในรอบสัปดาห์นี้ เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลงและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ ขณะที่มุ่งความสนใจไปที่การประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดตลาดที่ระดับ 454.66 จุด เพิ่มขึ้น 0.99 จุด หรือ +0.22% แต่ยังคงลดลง 0.8% ในรอบสัปดาห์นี้

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,240.77 จุด เพิ่มขึ้น 44.67 จุด หรือ +0.62%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,740.30 จุด เพิ่มขึ้น 21.64 จุด หรือ +0.14% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,478.19 จุด เพิ่มขึ้น 36.47 จุด หรือ +0.49%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกในวันศุกร์ (8 ก.ย.) และปรับตัวขึ้นมากที่สุดในรอบสัปดาห์นี้หลังการเปิดเผยผลสำรวจบ่งชี้ว่า การจ้างงานชะลอตัวในเดือนส.ค. ซึ่งตอกย้ำการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) จะยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,478.19 จุด เพิ่มขึ้น 36.47 จุด หรือ +0.49%

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ (8 ก.ย.) และแตะระดับสูงสุดของปีนี้ โดยได้แรงหนุนจากความวิตกเกี่ยวกับปริมาณน้ำมันที่ตึงตัว ซึ่งได้ช่วยคลายความกังวลของตลาดเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์ที่อ่อนแอของจีน

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 64 เซนต์ หรือ 0.7% ปิดที่ 87.51 ดอลลาร์/บาร์เรล และปรับตัวขึ้น 2.3% ในรอบสัปดาห์นี้

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ย. เพิ่มขึ้น 73 เซนต์ หรือ 0.8% ปิดที่ 90.65 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 16 พ.ย. และปรับตัวขึ้น 2.4% ในรอบสัปดาห์นี้

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกเล็กน้อยในวันศุกร์ (8 ก.ย.) แต่ลดลงในรอบสัปดาห์นี้โดยถูกกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ปรับตัวขึ้นและดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ขณะที่นักลงทุนรอการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐในสัปดาห์หน้า เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้แนวโน้มการกำหนดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการประชุมสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 20 เซนต์ หรือ 0.01% ปิดที่ 1,942.70 ดอลลาร์/ออนซ์ แต่ลดลง 1.2% ในรอบสัปดาห์นี้

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 6.60 เซนต์ หรือ 0.28% ปิดที่ 23.174  ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 14.80 ดอลลาร์ หรือ 1.63% ปิดที่ 894.80  ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 22.70 ดอลลาร์ หรือ 1.9% ปิดที่ 1,192.30 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (8 ก.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ ซึ่งทำให้มีการคาดการณ์ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงเป็นเวลานานกว่าที่คาดไว้ หรืออาจมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนพ.ย.เพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.03% แตะที่ระดับ 105.0866 และปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 8 ติดต่อกันยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 2557

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นแตะ 147.8240 เยนในวันศุกร์ (8 ก.ย.) จาก 147.1700 เยนในวันพฤหัสบดี (7 ก.ย.) และดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นแตะ 0.8933 ฟรังก์สวิส จากระดับ 0.8928 ฟรังก์สวิส แต่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแตะ 1.3643 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3682 ดอลลาร์แคนาดา และดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแตะ 11.1251 โครนาสวีเดน จากระดับ 11.1429 โครนาสวีเดน

ยูโรแข็งค่าขึ้นแตะ 1.0698 ดอลลาร์ในวันศุกร์ (8 ก.ย.) จากระดับ 1.0695 ดอลลาร์ในวันพฤหัสบดี (7 ก.ย.) ขณะที่เงินปอนด์ของอังกฤษอ่อนค่าลงแตะระดับ  1.2453 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.2470 ดอลลาร์สหรัฐ

ตลาดหุ้นฮ่องกงปิดทำการวันศุกร์ (8 ก.ย.) เนื่องจากผลกระทบพายุฝน

Back to top button