ส่อง 2 หุ้น “ไอพีโอ” เรียงคิวเทรด SAV ประเดิมตัวแรก 26 ก.ย.นี้

ทำความรู้จัก 2 หุ้นไอพีโอน้องใหม่เตรียมลงสนามเทรด SAV ปักหมุดเทรด 26 ก.ย.นี้ ส่วน JPARK เทรดต้นเดือน ต.ค. โบรกให้เป้าสูงลิ่ว 6.40 บาท


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับหุ้น “ไอพีโอ” ที่เตรียมเข้าจดทะเบียนและทำการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยในช่วงสัปดาห์หน้า และต้นเดือนตุลาคม 2566 จำนวน 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SAV กำหนดวันเข้าจดทะเบียนและซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) วันที่ 26 กันยายน 2566 และ บริษัท เจนก้องไกล จำกัด (มหาชน) หรือ JPARK เตรียมเข้าจดทะเบียนและทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ช่วงต้นเดือนตุลาคม 2566

ทั้งนี้ SAV เสนอขายหุ้นสามัญจำนวนไม่เกินร้อยละ 35 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญของบริษัทฯ ในครั้งนี้ แบ่งเป็น หุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวนไม่เกิน 64,000,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 10.00 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว, หุ้นสามัญเดิมและจัดสรรหุ้นส่วนเกิน จำนวนไม่เกิน 181,500,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 28.36 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว เพื่อรองรับการขยายธุรกิจด้านการบินอย่างครบวงจร ด้วยราคาเสนอขาย 19 บาทต่อหุ้น และมี บล.เอเชีย พลัส จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

โดย SAV เป็นบริษัทโฮลดิ้ง ซึ่งมีธุรกิจหลัก คือ การให้บริการด้านวิทยุการบินอย่างครบวงจร ผ่าน บริษัท แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิค เซอร์วิส จำกัด (CATS) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเพียงรายเดียวที่ได้สิทธิในการบริหารจัดการจราจรทางอากาศ ครอบคลุมเส้นทางบินทั้งหมดของน่านฟ้าประเทศกัมพูชา ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลกัมพูชา ระยะเวลารวม 49 ปี (2545-2594)

ทั้งนี้ ปัจจุบันกัมพูชามีสนามบิน 6 แห่ง ได้แก่ สนามบินนานาชาติพนมเปญ สนามบินนานาชาติเสียมเรียบ สนามบินนานาชาติสีหนุ สนามบินพระตะบอง สนามบินเกาะกง และสนามบินสตึงเตรง โดย SAV ถือหุ้นใน CATS สัดส่วน 100%

โดยรายได้หลักของ CATS มาจากบริการควบคุมการจรารจรทางอากาศ 3 ประเภท ได้แก่ รายได้จากค่าบริการสำหรับเที่ยวบินที่บินขึ้น-ลงในประเทศ (Landing &Take-off : Domestic) และเที่ยวบินที่บินขึ้น-ลงระหว่างประเทศ (Landing & Take-off: International) รวมถึงรายได้จากค่าบริการสำหรับเที่ยวบินที่บินผ่านเขตน่านฟ้ากัมพูชา (Overflight)

ทั้งนี้ SAV มีผลการดำเนินงานที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวและดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากผ่านพ้นวิกฤติสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก เมื่อกลับสู่การเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ แนวโน้มทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวก็กลับมาเติบโต ทั้งในประเทศกัมพูชาและภูมิภาคอาเซียน

ด้าน JPARK เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 110 ล้านหุ้น ด้วยราคาเสนอขาย 3.80 บาทต่อหุ้น โดยจะเสนอขายต่อบุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ไม่น้อยกว่า 82.5 ล้านหุ้น เสนอขายต่อผู้มีอุปการคุณของบริษัท ไม่เกิน 16.5 ล้านหุ้น และเสนอขายบต่อกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทไม่เกิน 11 ล้านหุ้น ระยะเวลาจองซื้อ วันที่ 25-27 กันยายน 2566 ผ่านผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย

ได้แก่ บล.ฟินันเซีย ไซรัส โดยมีผู้ร่วมจัดจำหน่าย ได้แก่ บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย), บล.กรุงศรีฯ, บล. ฟิลลิป, บล.โกลเบล็ก และบล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) โดยมีบริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด (APM) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนราว 418 ล้านบาท ไปลงทุนขยายโครงการอาคารจอดรถโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าจำนวน 6 ชั้น รองรับรถยนต์ได้ 532 คัน และรองรับรถจักรยานยนต์ได้ 72 คัน โดยมีพื้นที่ใช้สอย 18,242 ตารางเมตร พื้นที่พาณิชย์ 2,049 ตารางเมตร คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์กลางปี 2567 ซึ่งจะสร้างการเติบโตให้กับบริษัทในระยะยาว

ขณะที่โดยสัดส่วนรายได้หลักของบริษัทมาจากธุรกิจการให้บริการที่จอดรถ ซึ่งพื้นที่จอดรถของโรงพยาบาลสร้างรายได้ให้กับบริษัทสูงสุด และบริษัทมีแผนจะขยายพื้นที่จอดรถยนต์ในพื้นที่สำนักงาน ซึ่งจะเริ่มต้นเปิดให้บริการในปีหน้าเป็นต้นไป รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ

ขณะที่มีนักวิเคราะห์ 6 แห่ง กำหนดคำแนะนำ “ซื้อ” ให้ราคาเหมาะสมสูงสุดที่ 6.40 บาท

โดย บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ ให้ราคาเหมาะสมของ JPARK ที่ระดับ 6.40 บาท พร้อมคาดกำไรสุทธิปี 67 จะเติบโต 60% เทียบจากปี 2566 ที่คาดโต 16% เนื่องจาก JPARK เป็นบริษัทมีลักษณะธุรกิจที่มีรายได้ค่อนข้างสม่ำเสมอ มีสัญญาเช่าระยะยาว และเป็นกิจการที่รับเงินสด โดยเฉพาะธุรกิจบริหารจัดการที่จอดรถจะมีรายได้เป็นประจำ ซึ่งคิดเป็น 20-25% ของรายได้

อีกทั้งธุรกิจบริการพื้นที่จอดรถก็เป็นกึ่งรายได้ประจำบวกกับรายได้ที่เป็นโครงการอย่างการรับติดตั้งระบบที่จอดรถ และโครงการก่อสร้างอาคารจอดรถ รพ. พระนั่งเกล้าที่มีสัญญาเช่า 30 ปี เพื่อให้บริการที่จอดรถและบางส่วนให้เช่าเพื่อการพาณิชย์ด้วยจะยิ่งเพิ่มโอกาสการเติบโตของกำไรสูงขึ้นในอนาคต

ด้าน บล.โกลเบล็ก ระบุในบทวิเคราะห์ ประเมินราคาเหมาะสมปี 67 ที่ 5.60 บาท และคาดหวังอัตราเงินปันผลที่ 1.8% ต่อปี คาดผลประกอบการในช่วงที่เหลือของปี 66 และปี 67 เติบโตโดดเด่น โดยมีสาเหตุหลักจาก 1) ความหนาแน่นของประชากรในเขตเมือง ส่งผลให้ความต้องการใช้บริการที่จอดรถมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

2) ได้แรงหนุนจากยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศที่ยังเติบโต 3) การขยายเส้นทางของรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่ 4) ณ ปัจจุบัน มียอดแบ็กล็อกอยู่ราว 99.4 ล้านบาท ที่จะทยอยรับรู้กว่า 90% ภายในปี 66-67 5) อยู่ระหว่างพัฒนา Application “Prompt Park” ซึ่งมีฟังก์ชั่นสำรองที่จอดรถ และ ชำระเงินแบบไร้เงินสด

6) บริษัทมีแผนนำเงิน IPO ไปลงทุนก่อสร้างอาคารจอดรถ และบริหารที่จอดรถ โดยประมาณการรายได้ปี 66-67 ราว 540.1 ล้านบาท และ 692.4 ล้านบาท เติบโต 19.6% จากปีก่อน และโต 28.0% จากปีก่อน พร้อมคาดกำไรสุทธิปี 65-66 ที่ระดับ 66.2 ล้านบาท และ 94.5 ล้านบาท เติบโต 20.3% จากปีก่อน และโต 42.6% จากปีก่อน ตามลำดับ

ด้าน บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ ประเมินราคาพื้นฐานปี 67 ที่ 5.40 บาท เนื่องจากในตลาดหลักทรัพย์ยังไม่มีบริษัทจดทะเบียนทำธุรกิจแบบเดียวกับ JPARK ทางฝ่ายจึงเทียบเคียงกับบริษัท Nippon Parking Development และ Park24 ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในญี่ปุ่น ซื้อขาย P/E เฉลี่ยที่ 17.4 เท่า ซึ่งธุรกิจน่าจะ mature แล้ว

ขณะที่ JPARK ยังมีโอกาสเติบโตจากการได้สัญญางานใหม่ ๆ เพิ่ม รวมถึงเงินทุนจาก IPO ที่จะนำไปขยายธุรกิจได้มากขึ้น จึงให้พรีเมี่ยมจากคาดการณ์กำไรสุทธิที่เติบโตระดับสูง อิง P/E ที่ 20 เท่า

ด้าน บล.ยูโอบี เคย์ เฮียน (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ ประเมินราคาเป้าหมายปี 67 ที่ 5.20 บาท คาดกำไรปี 66-68 เติบโตเฉลี่ยสูง 27.8% ต่อปี หนุนจากรายได้รวมปี 66-68 คาดเติบโต 13.6%/34.7%/12.4% ตามลำดับ จากช่องจอดที่คาดเพิ่มเป็น 1.44/1.65/1.74 หมื่นช่องจอด ตามลำดับ จากการขยายพื้นที่ให้บริการต่อเนื่อง รวมถึง U-rate พื้นที่จอดรถที่ปรับตัวขึ้น ประกอบกับ Gross profit margin ที่คาดปรับเพิ่มขึ้นจากโครงการใหม่ๆ ที่มีอัตรากำไรสูงขึ้น หนุนปี 66-68 เพิ่มเป็น 24.4%/24.5%/25.1% ตามลำดับ

ขณะที่ บล.กรุงศรี พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์ ประเมินราคาพื้นฐานไว้ที่ 5.00 บาท เนื่องจากมองว่า JPARK มีความน่าสนใจจากการเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจบริหารที่จอดรถในไทย และมีประสบการณ์มายาวนานกว่า 20 ปี และบริการในทำเลพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง อีกทั้งธุรกิจมีรายได้ประจำสม่ำเสมอ และมีความสามารถในการทำกำไร ผนวกกับฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง พร้อมรองรับการเติบโตในอนาคต

พร้อมกันนี้ คาดกำไรสุทธิปี 66-68 เติบโตเฉลี่ย 24% ต่อปี มาอยู่ที่ 64 ล้านบาท (โต 16% จากปีก่อน), 92 ล้านบาท (โต 44% จากปี 66) และ 106 ล้านบาท (โต 15% จากปี 67) ตามลำดับ หนุนหลักจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 19% ต่อปี จากธุรกิจให้บริการที่จอดมีการขยายที่จอดเพิ่มขึ้น 17% ต่อปี และที่ธุรกิจให้คำปรึกษาและรับติดตั้งระบบที่จอดเห็นการเติบโตที่ดีเฉลี่ย 14% ต่อปี สอดคล้องกับพื้นที่จอดแล้วจรในบริเวณย่านรถไฟฟ้าที่ยังขาดแคลน ขณะที่ %GPM ในปี 67-68 คาดเห็นการฟื้นตัวจากราคาค่าจอดในพื้นที่ใหม่มีอัตราที่สูงกว่า รวมถึงธุรกิจรับจ้างบริหารจะมีการต่อสัญญา และได้อัตราการจ้างที่สูงมากขึ้น

ด้าน บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ ประเมินราคาเป้าหมายของ JPARK อยู่ที่ 4.90 บาท จากการคาดการณ์รายได้เติบโตจากการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ให้บริการที่จอดรถ การสนับสนุนการใช้รถสาธารณะจากภาครัฐที่ทำให้มีการสร้างอาคารจอดรถเพิ่มขึ้น ทำให้เป็นโอกาสของบริษัทในการเข้าไปบริหารจัดการ

ทั้งนี้ เมื่อบวกกับอัตรากำไรขั้นต้นที่มีการขยายตัว และค่าใช้จ่ายต่อรายได้ที่ลดลงจากการประหยัดจากขนาด ทำให้คาดว่ากำไรสุทธิจะมีการเติบโตที่ 27.1% ต่อปีในปี 65-68

อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าสิ้นปี 66 บริษัทจะสามารถเพิ่มจำนวนช่องจอดรถยนต์ได้อยู่ที่ราว 15,000 ช่อง และ ณ สิ้นปี 67 จะมีช่องจอดรถยนต์เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 20,000 ช่อง ส่งผลให้คาดว่ารายได้จากธุรกิจให้บริการที่จอดรถจะเติบโตราว 22.6% ต่อปี ในปี 65-68 ขณะที่การเติบโตของรายได้ธุรกิจบริหารจัดการพื้นที่จอดรถจะอยู่ที่ 8.7% ต่อปี จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนอาคารพื้นที่จอดแล้วจรตามมาตรการสนับสนุนการใช้รถสาธารณะของภาครัฐ และธุรกิจให้คำปรึกษาและรับติดตั้งระบบที่คาดว่าจะมีการเติบโต 14.8% เฉลี่ยต่อปี จากความต้องการปรับปรุงพื้นที่จอดรถหลายแห่งให้มีความทันสมัยและสะดวกมากขึ้น รวมถึงการติดตั้ง EV Charger เพื่อรองรับรถยนต์ไฟฟ้าที่มีจำนวนการใช้งานสูงขึ้น

Back to top button