จับตาวันนี้! บอร์ดกสทช. เคาะดีล “AIS ควบ 3BB”

ลุ้นประชุมบอร์ดกสทช.วันนี้ฉลุย 4 บอร์ดวัดใจ กสทช. หากยืนยันประชุมแบบเปิดเผย เกิดความเสียหายต้องรับผิดชอบเอง สำหรับดีล 3BB ควบ AIS บรรจุเป็นระเบียบวาระที่ 6.2 รอเคาะรับทราบเปิดทางเอกชนเดินหน้าดันดีลต่อทันที ส่วนวาระตั้งเลขาธิการคนใหม่ยังอยู่ระหว่างพิจารณา พร้อมยืนยันเสนองบปี 67 ถูกต้องตามขั้นตอน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (12 ต.ค. 66) ระเบียบวาระการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ครั้งที่ 20/66 มีวาระประชุมทั้งหมด 6 วาระ โดยเป็นการประชุมแบบเปิดเผย ณ ห้องประชุมสายลม 1121 อาคารอำนวยการ สำนักงานกสทช.

สำหรับวาระการประชุมที่น่าติดตามในวันนี้ ได้แก่ ระเบียบวาระที่ 6.2 เรื่องอื่น ๆ ได้แก่ การรายงานการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC และบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTTBB (วาระต่อเนื่อง) และระเบียบวาระที่ 4.39 การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการกสทช. รวมทั้งระเบีบบวาระที่ 4.40 ร่างโครงสร้างของสำนักงานกสทช. (เป็นวาระลับ)

ขณะที่ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์ สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ หรือ หมอไห่ ประธานคณะกรรมการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) คาดว่าการพิจารณาดีล 3BB น่าจะจบภายในเดือนต.ค.นี้ โดยวาระดังกล่าวจะเป็นวาระเพื่อรับทราบ หากบอร์ดเห็นชอบเอกชนก็จะสามารถเดินหน้าดีลต่อไปได้ทันที ซึ่งผลสรุปของที่ปรึกษาทางการเงินในประเทศและต่างประเทศก็ส่งมาให้บอร์ดพิจารณาแล้ว

ส่วนวาระแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการกสทช.นั้น แหล่งข่าวจากบอร์ดกสทช. เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาประธานบอร์ดจะปิดประชุมก่อนถึงวาระดังกล่าวทุกครั้ง ทำให้ไม่สามารถพิจารณาเรื่องดังกล่าวได้ตามวาระที่บรรจุไว้ ขณะที่ประธานบอร์ดเองก็ไม่ยอมเปิดเผยชื่อของผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งเลขาฯ คนใหม่ก่อนที่จะมีการประชุม โดยเรื่องนี้ได้เป็นวาระค้างพิจารณามาโดยตลอด สำหรับผู้ที่คาดว่าจะนำเสนอให้บอร์ดพิจารณา คือ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ และรองเลขาธิการกสทช.คนปัจจุบัน ซึ่งมีการฟ้องร้องบอร์ดกสทช.เสียงข้างมากอยู่ในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดบอร์ดเสียงข้างมากทั้ง 4 คน ประกอบด้วย พล.อ.ท.ธนพันธ์ หร่ายเจริญ, นางสาวพิรงรอง รามสูต, นายศุภัช ศุภชลาศัย และนายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ได้ทำหนังสือลงวันที่ 11 ต.ค. 66 คัดค้านการกำหนดให้การประชุมครั้งที่ 20/66 เป็นการประชุมแบบเปิดเผย

สำหรับกรณีที่ประธานกสทช.ประสงค์จะกำหนดให้เป็นการประชุมแบบเปิดเผยเพื่อความโปร่งใส กรรมการกสทช.ทั้ง 4 มิได้ขัดข้อง แต่ขอให้มีการกำหนดเป็นการประชุมเฉพาะ และต้องกำหนดวาระการประชุมล่วงหน้าที่สามารถประชุมโดยเปิดเผยได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย รวมทั้งระบุการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมให้ทราบก่อนด้วย

ทั้งนี้ หากประธานกสทช.ยังคงยืนยันให้การประชุมกสทช. ครั้งที่ 20/66 ในวันพุธที่ 12 ต.ค. 66 เป็นการประชุมแบบเปิดเผย ถือว่าประธานกสทช.ยืนยันที่จะใช้อำนาจเกินขอบเขต และต้องรับผิดชอบในการใช้อำนาจ และดุลพินิจที่มิชอบ หากเกิดความเสียหายจากการทำให้การประชุมกสทช. และการปฏิบัติหน้าที่ของกสทช.ล่าช้าโดยมิจำเป็น

ยันเสนองบปี 67 ตามขั้นตอน

นอกจากนี้ กสทช. ได้มีการออกประกาศชี้แจงขั้นตอนการจัดทำร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 67 ตามที่ปรากฏในข่าวว่ามีผู้ยื่นหนังสือคัดค้านการนำเสนอร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 67 จำนวนกว่า 5,200 ล้านบาท ของสำนักงานกสทช. ต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (คณะกรรมการดีอี) โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานบอร์ด ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มอบหมาย

ทั้งนี้ ทางสำนักงานกสทช.ได้ดำเนินการจัดทำร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 67 ตามขั้นตอนและกระบวนการที่บัญญัติไว้ในมาตรา 57 วรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งบัญญัติว่าในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีตาม (2) ก่อนที่สำนักงานกสทช.จะเสนอ กสทช.อนุมัติ ให้สำนักงานกสทช.เสนอร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อพิจารณาให้ความเห็น

รวมถึงให้สำนักงานกสทข.พิจารณาดำเนินการแก้ไขหรือปรับปรุงร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีดังกล่าว เว้นแต่งบประมาณรายจ่ายประจำปีในส่วนของคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน ให้สำนักงานกสทช.เสนอไปยังคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน เพื่อดำเนินการแก้ไขหรือปรับปรุง ในกรณีที่สำนักงานกสทช. หรือคณะกรรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานแล้ว แต่กรณีไม่เห็นด้วยกับความเห็นของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้สำนักงานกสทช.เสนอร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีดังกล่าวพร้อมความเห็นของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต่อกสทช.เพื่อพิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ สำนักงานกสทช.ยังต้องดำเนินการตามมาตรา 57 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งบัญญัติว่า ในการดำเนินการตามวรรคสอง ให้สำนักงานกสทช.เสนอร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก่อนวันเริ่มปีงบประมาณไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน และให้คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นให้แล้วเสร็จก่อนวันเริ่มปีงบประมาณไม่น้อยกว่า 30 วัน และเมื่อได้รับความเห็นหรือเมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ให้สำนักงานกสทช.เสนอร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อกสทช.เพื่อดำเนินการต่อไป

โดยจากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การที่สำนักงานกสทช.ได้นำเสนอร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 67 ประกอบด้วยรายจ่ายใด ๆ เกี่ยวกับการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของกสทช. กตป. และสำนักงานกสทช. ต่อคณะกรรมการดีอี ก่อนที่จะเสนอกสทช.อนุมัติ เป็นการดำเนินกระบวนการนำเสนอร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแล้ว มิใช่ต้องนำเสนอกสทช.พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนส่งให้คณะกรรมการดีอีพิจารณาให้ความเห็นดังที่ปรากฏเป็นข่าวแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ทางสำนักงานกสทช.ได้ดำเนินกระบวนการและขั้นตอนตามปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 67 รวมทั้งกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยในขั้นตอนการพิจารณาจัดทำร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 67 สำนักงานกสทช.ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณางบประมาณของสำนักงานกสทช. ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่มีประสบการณ์ด้านงบประมาณ และส่วนใหญ่เคยเป็นบุคลากรในสังกัดสำนักงบประมาณ เพื่อร่วมกันพิจารณากลั่นกรองและจัดทำร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีดังกล่าว ก่อนนำเสนอคณะกรรมการดีอีพิจารณาให้ความเห็น และเมื่อคณะกรรมการดีอีพิจารณาให้ความเห็นเรียบร้อยแล้ว รวมถึงสำนักงานกสทช.จะได้นำเสนอกสทช.พิจารณาดำเนินการตามนัยมาตรา 57 วรรคสอง และวรรคห้า ต่อไป โดยในขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติของกสทช. หากเห็นเป็นการสมควร อาจมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณางบประมาณ เพื่อช่วยกลั่นกรองก่อนกสทช.พิจารณาอนุมัติก็ได้ อย่างไรก็ตามสำนักงานกสทช.ได้ให้ความสำคัญในกระบวนการและขั้นตอนการนำเสนอร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี รวมทั้งปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและประเทศชาติ

Back to top button