“สภาธุรกิจตลาดทุนไทย” เสนอคลังฟื้นชีพ LTF ลดผันผวนดันหุ้นไทย

“สภาธุรกิจตลาดทุนไทย” เดินสายให้ข้อมูลกับภาครัฐ เรื่องรูปแบบกองทุนประหยัดภาษีรูปแบบใหม่ ก่อนเข้าร่วมหารือกับ “เศรษฐา” ฟาก “ตลาดหลักทรัพย์-นักวิเคราะห์-นักลงทุนรายใหญ่” ต่างมั่นใจ หากกองทุนประหยัดภาษี ภายใต้เงื่อนไขที่คล้ายกับ LTF หรือกองทุน LTF กลับมาอีกครั้ง จะช่วยลดความผันผวนของตลาดหุ้นได้ สถิติย้อนหลังพบ SSF ทำเม็ดเงินไหลเข้าช่วง ธ.ค.แต่ละปี หายเกือบ 20,000 ล้านบาท


นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ในฐานะประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า หลังจาก FETCO ได้ส่งหนังสือเพื่อขอเข้าพบนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อหารือเกี่ยวกับการพัฒนาตลาดทุนไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงข้อเสนอเกี่ยวกับกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ที่จะครบอายุภายในปี 2567 หลังจากได้ส่งหนังสือฯ ดังกล่าว ทาง FETCO ได้เดินหน้าส่วนของขั้นตอนอื่นๆ อาทิ การทำความเข้าใจในประเด็นต่าง ๆ ที่จะเข้าหารือกับนายกรัฐมนตรีกับทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะเข้าร่วมหารือด้วยกัน

ทั้งนี้หากได้กำหนดการเข้าพบนายกฯ อย่างเป็นทางการ การหารือในประเด็นต่าง ๆ จะได้ไม่เกิดการติดขัด เนื่องจากได้มีการทำความเข้าใจในทิศทางเดียวกันไว้เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นระหว่างรอกำหนดการวันนัดพบ FETCO ยังเดินหน้าทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจระหว่างนายกฯ และ FETCO

“การขอเข้าพบนายกฯ ของ FETCO มีเรื่องสำคัญคือ แผนการพัฒนาตลาดทุนผ่านการลงทุนรูปแบบใหม่ ๆ และกองทุนประหยัดภาษีอย่าง SSF ที่จะครบกำหนด ทาง FETCO และสมาชิกเห็นควรให้มีการขยายอายุ SSF ออกไปพร้อมกับปรับเงื่อนไขกองทุนให้มีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับสถานการณ์ให้มากที่สุด นอกจากนี้สมาคม บลจ.เองก็มีกองทุนภาษีและกองทุนอื่น ๆ ที่มีรูปแบบการลงทุนใหม่นำเสนอภาครัฐ เชื่อว่าข้อเสนอของ FETCO และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะช่วยผลักดันให้ตลาดทุนไทยเติบโตได้” นายกอบศักดิ์ กล่าว

นายกอบศักดิ์ กล่าวด้วยว่า นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม หรือ AIMC (นางชวินดา หาญรัตนกูล) ได้มีการเข้าพบกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงฯ ในการนำเสนอกองทุนรูปแบบใหม่ ทั้งกองทุนรวมประหยัดภาษีตัวใหม่ รวมถึงกองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน (Sustainable and Responsible Investing Fund) แล้ว และกระทรวงการคลังให้ความสนใจค่อนข้างมาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การนำเสนอกองทุนประหยัดภาษีให้กับรัฐบาล “เศรษฐา” ในครั้งนี้ จะมีอยู่ 2 รูปแบบคือ 1. กองทุน SSF เดิมที่จะหมดอายุลงในปี 2567 นั้น จะมีการขอปรับเงื่อนไขใหม่ ทั้งระยะเวลาการถือครองหน่วยลงทุนที่อาจปรับลดลงมาเหลือ 8 ปี และปรับเกณฑ์การลงทุนที่หันมาลงทุนในหุ้นไทยมากขึ้น คล้ายกับกองทุน LTF ที่หมดอายุไปก่อนหน้านี้ น่าจะได้รับความสนใจจากคนที่ต้องการซื้อหน่วยลงทุนเพื่อนำไปลดหย่อนภาษี และเพื่อเป็นช่องทางการออมเงินระยะยาวมากขึ้น

อย่างไรก็ดี หากรัฐบาลไม่อนุมัติการต่ออายุกองทุน SSF ทางสมาคม บลจ. จะมีการเสนอกองทุนประหยัดภาษีรูปแบบใหม่เข้าไป เพื่อเป็นทางเลือกในการตัดสินใจของรัฐบาล โดยรูปแบบหรือเงื่อนไขการลงทุนนั้น จะมีความคล้ายกับกองทุน LTF เช่นเดียวกัน

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวถึงกรณีสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เสนอปรับเกณฑ์กองทุน SSF ให้สิทธิลดหย่อนภาษี เน้นลงทุนหุ้นไทยยั่งยืนมากขึ้นนั้น มองว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจและเป็นเรื่องที่ควรสนับสนุน เนื่องจากการลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวกับความยั่งยืน และ ESG เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย และมีแนวโน้มที่ทั่วโลกจะมีการลงทุนแบบนี้มากขึ้น เพราะฉะนั้นการที่เราจะสนับสนุนเรื่องนี้ให้ได้รับการยอมรับและมีอินเทนซีฟมากขึ้นจึงเป็นเรื่องที่เหมาะสม

ส่วนกรณีมีการประเมินว่า จะช่วยดึงเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ตลาดทุนปีละ 50,000 ล้านบาทนั้น มองว่าหากย้อนดูในอดีตทั้งกองทุน LTF และ RMF ก็สามารถดึงเม็ดเงินเข้าตลาดทุนได้เสมอ ทั้งนี้ช่วงที่ตลาดหุ้นมีความผันผวน จะเห็นนักลงทุนเข้ามาลงทุนในกองทุนประเภทนี้ค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นการที่เราสนับสนุนให้มีกองทุนรูปแบบใหม่ ๆ ที่ช่วยสนับสนุนการเจริญเติบโตแบบยั่งยืนจึงน่าจะเป็นผลดี

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวว่า หากมีการนำกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กลับมาใหม่ จะเป็นตัวช่วยลดความผันผวน และสร้างเสถียรภาพให้ตลาดหุ้นไทยอีกด้วย โดยเห็นได้ชัดว่าตั้งแต่ยกเลิกกองทุน LTF เม็ดเงินหายออกไปในตลาดจำนวนมาก

ทั้งนี้มองในภาพใหญ่ตลาดหุ้นไทย มีมูลค่ามาร์เก็ตแคปใหญ่ขึ้น ส่วนเม็ดเงินลงทุนใหม่ที่จะเติมเข้ามาไม่มี ยังเป็นเม็ดเงินก้อนเดิมที่หมุนเวียนโยกลงทุนในหุ้นแต่ละกลุ่มเท่านั้น จึงไม่แปลกที่ตลาดหุ้นไทยไม่สามารถปรับตัวขึ้นมาได้ ขณะที่ฟันด์โฟลว์ต่างชาติยังไม่กลับเข้ามาซื้อหุ้นไทย ตามสถิติ 10 ปีย้อนหลังต่างชาติขายหุ้นไทยไปกว่า 9.2 แสนล้านบาทแล้ว

“การนำ LTF กลับมาไม่ต้องเสียเวลา เพราะคอนเซปต์เดิมดีอยู่แล้ว ซึ่งจะเห็นว่าตั้งแต่ยกเลิกไปเงินหายไปจากตลาดหุ้นค่อน ข้างมาก เพราะไม่มีเงินก้อนใหม่เติมเข้ามา มีแต่เงินเดิมที่โยกเล่นหุ้นแต่ละกลุ่มเท่านั้น รวมทั้งเม็ดเงินต่างชาติก็ยังไม่กลับมาซื้อหุ้นไทย”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถิติเม็ดเงินลงทุนจาก LTF และ SSF ที่ไหลเข้าตลาดหุ้นไทยช่วงเดือนธันวาคมแต่ละปี มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยช่วงปีที่มีกองทุน LTF (ปี 2559-2562) พบว่า ปี 2559 มีเงินไหลเข้า 22,223 ล้านบาท ปี 2560 มีเงินไหลเข้า 26,698 ล้านบาท ปี 2561 มีเงินไหลเข้า 22,262 ล้านบาท ปี 2562 มีเงินไหลเข้า 25,335 ล้านบาท ขณะที่ช่วงที่มีกอง SSF (ปี 2563-2565) พบว่า ปี 2563  มีเงินไหลเข้า 18,000 ล้านบาท ปี 2564 มีเงินไหลเข้า 8,600 ล้านบาท ปี 2565 มีเงินไหลเข้า 4,500 ล้านบาท

“ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” นักลงทุนเน้นวีไอ มองว่า หากรัฐบาลจะมีนโยบายหรือมาตรการเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเหมือนในอดีตที่ผ่านมา อย่าง การลงทุนผ่านกองทุนการออมเพื่อลดหย่อนภาษี เช่น กองทุน LTF เชื่อว่าจะเข้ามาช่วยลดความผันผวน และทำให้ตลาดหุ้นไทยมีเสถียรภาพมากขึ้น เพราะกองทุนดังกล่าวมีนโยบายการลงทุนในระยะยาว

ดังนั้น การมีกองทุนการออม หรือกองทุนช่วยลดหย่อนภาษีในตลาดหุ้นไทย เหมือนยุคหนึ่งที่ตลาดหุ้นไทยมีเสถียรภาพ และไม่ผันผวนรุนแรง และยังเป็นหนึ่งในทางเลือกในการลงทุนไว้สำหรับหลังการเกษียณอายุ ซึ่งกองทุนเหล่านี้ถือเป็นการส่งเสริมการออมเงินในระยะยาว ที่ผ่านมาเม็ดเงินจากกองทุน LTF มีจำนวนมาก แต่หลังจากยกเลิกกองทุนดังกล่าวไป ทำให้ช่วงที่ผ่านมา กำลังซื้อของกลุ่มกองทุนลดลงมาก ทั้งที่ตลาดหุ้นลงมาเป็นโอกาสเข้าลงทุนระยะยาว สะท้อนผ่านเม็ดเงินเหล่านี้หายไปเยอะ เนื่องจากไม่มีการสนับสนุนจากทางภาครัฐ

Back to top button