BAFS รายได้การบินพุ่ง ดันงวด 9 เดือนพลิกกำไร 60 ล้านบาท

BAFS โชว์ไตรมาส 3 รายได้รวม 734 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26% เติบโตอย่างต่อเนื่อง อานิสงส์รายได้กลุ่มธุรกิจการบินพุ่ง หนุนงวด 9 เดือนพลิกกำไร 60 ล้านบาท พร้อมขยายธุรกิจพลังงานทดแทนและขับเคลื่อนธุรกิจบริการพลังงานให้เติบโตอย่างยั่งยืน


ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานของ BAFS Group เติบโตอย่างต่อเนื่องจากการขับเคลื่อนของกลุ่มธุรกิจบริการพลังงาน โดยผลประกอบการไตรมาส 3/2566 ของบริษัทมีรายได้รวมทั้งสิ้น 733.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2565 ตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจรวมของประเทศ

โดยเป็นรายได้จากธุรกิจหลักในกลุ่มธุรกิจ Aviation รวม 587.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36% โดยรายได้ส่วนใหญ่มาจากปริมาณเติมน้ำมันอากาศยานที่เพิ่มขึ้นถึง 31% เช่นเดียวกับกลุ่มธุรกิจ Utilities ที่มีรายได้รวม 87.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จากปริมาณขนส่งน้ำมันรวมทุกผลิตภัณฑ์ของโครงการระบบท่อส่งน้ำมันภาคเหนือ (NFPT) ที่เพิ่มขึ้น 66% ในขณะที่กลุ่มธุรกิจ Power มีรายได้จากการขายไฟฟ้าและอื่นๆ จำนวน 74.3 ล้านบาท ซึ่งปรับลดลง 3% จากสัญญาเงินอุดหนุนส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ของบริษัทย่อยแห่งหนึ่งได้สิ้นสุดลงเมื่อเดือนมิ.ย.

นอกจากนี้ บริษัทมี EBITDA ในไตรมาส 3/2566 จำนวน 349.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยมีภาพรวมของค่าใช้จ่ายดำเนินงานเพิ่มขึ้น 14% จากการดำเนินงานและค่าผลประโยชน์ตอบแทนจากการดำเนินกิจการให้บริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน (Airport Concession Fee: ACF) อีกทั้งมีต้นทุนทางการเงินสุทธิที่เพิ่มขึ้น 15% จากการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยของตลาดเงินโดยรวม ส่งผลให้ในไตรมาส 3/2566 บริษัทขาดทุนสุทธิในส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทจำนวน 2.9 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 93% ที่มีผลขาดทุน 43.5 ล้านบาท

อีกทั้ง บริษัทยังคงรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจบริการพลังงานที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยวตามกลยุทธ์เติบโต กลุ่มบริษัทตั้งเป้าหมายสัดส่วนรายได้ในปี 69 มาจากกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับอากาศยาน (Aviation) 50% จากกลุ่มธุรกิจที่สาธารณูปโภคและพลังงาน (Utility and Power) 40% และอีก 10% จากกลุ่มบริการธุรกิจ (Business Solutions and Services) เพื่อลดการพึ่งพิงรายได้หลักจากธุรกิจบริการน้ำมันอากาศยาน ตลอดจนมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อย์ก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero target) ภายในปี 93

ขณะที่ ผลประกอบการ 9 เดือนแรก บริษัทมีรายได้รวม 2,271.1 ล้านบาท และพลิกมีกำไรสุทธิ 59.67 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 240.26 ล้านบาท โดยเป็นรายได้จากกลุ่มธุรกิจ Aviation จำนวน 1,767.5 ล้านบาท ที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของปริมาณน้ำมันอากาศยานและจำนวนเที่ยวบินที่กลุ่มบริษัทให้บริการ ซึ่งในช่วง 9 เดือนของปีนี้ ปริมาณน้ำมันอากาศยานฟื้นตัวได้ 69% ของช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 สำหรับกลุ่มธุรกิจ Utilities มีรายได้รวมจำนวน 270.1 ล้านบาท จากค่าบริการขนส่งน้ำมันภาคพื้นดินและค่าบริการจัดเก็บน้ำมันของปริมาณน้ำมันรวมทุกผลิตภัณฑ์ของโครงการ NFPT ที่เติบโตขึ้น 91% เนื่องจากการทำการตลาดเชิงรุกกับลูกค้าบริษัทน้ำมัน และกลุ่มธุรกิจ Power มีรายได้รวม 306.3 ล้านบาท จากการขายไฟฟ้าและอื่นๆ และจากเงินปันผลจากการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น

นอกจากนี้ บริษัทได้ขยายการลงทุนเพื่อสร้างสมดุลทางโครงสร้างธุรกิจและสร้างการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสู่พลังงานทดแทน โดยกลุ่มบริษัทได้จัดตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ ภายใต้ชื่อ BAFS X Mongolia LLC ในประเทศมองโกเลีย ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 3.6 ล้านบาท เพื่อประกอบธุรกิจโดยมีรายได้จากการถือหุ้นในบริษัทอื่นเป็นหลัก ทั้งธุรกิจพลังงานทดแทน ธุรกิจการจัดเก็บน้ำมันและท่อขนส่งน้ำมันและธุรกิจนำเข้าและส่งออกสินค้าและบริการ โดยในระยะแรกกลุ่มบริษัทมีแผนร่วมลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งคาดว่าจะให้ข้อมูลความชัดเจนของการลงทุนในโครงการดังกล่าวได้ปี 2567 และได้เข้าร่วมลงทุนในบริษัท สุราษฎร์ อีโค พาวเวอร์ จำกัด โดยมีสัดส่วนการถือหุ้น 30% เพื่อลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานขยะที่มีกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการได้ในปี 70

ทั้งนี้ BAFS Group มุ่งพัฒนาธุรกิจบริการพลังงาน เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ และตระหนักถึงความสำคัญเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เร่งผลักดันโครงการขนส่งน้ำมันทางระบบท่อภาคเหนือ (NFPT) โดยปัจจุบันกลุ่มบริษัทกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาเตรียมโครงการสร้างท่อขนส่งน้ำมันเชื่อมระหว่างเส้นทางสระบุรี-อ่างทอง (link line) เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายท่อขนส่งน้ำมันระหว่างภาคตะวันออกกับภาคเหนือ ซึ่งจะช่วยทำให้โครงข่ายระบบท่อส่งน้ำมันของประเทศไทยมีความมั่นคงด้านพลังงานมากขึ้น และยังลดการปล่อยมลพิษและก๊าซเรือนกระจกอันเกิดจากรถขนส่งน้ำมัน ร่วมยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของประเทศ พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน

Back to top button