ตะลึง! สินทรัพย์ “แก๊งโกง” หุ้น STARK ก้อนใหม่โผล่ “สิงคโปร์” ปปง.ยึดอายัดเพิ่ม

ปปง.ยันเร่งยึดอายัดทรัพย์ “แก๊งโกง” หุ้น STARK หลังพบทรัพย์สินจำนวนหนึ่งอยู่ในสิงคโปร์ ย้ำกำลังหาวิธีในการนำทรัพย์สินจำนวนนั้นกลับมาในประเทศไทย โดยขอความร่วมมือช่องทางการทูตและผ่านทางอัยการสูงสุด


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (24 พ.ย.66) มีการจัดแถลงข่าวในงาน “รวมพลังหุ้นกู้สตาร์ค” ซึ่งเป็นการร่วมฟังข้อมูลวงในกับผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและการบัญชีที่จะตอบข้อสงสัยให้แก่ผู้เสียหายจากกรณี บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ณ โรงภาพยนตร์ Alisa AI ScreenX ชั้น 6 ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน

นายบูรพา สงวนวงศ์ รองผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นธุรกิจ และผู้ดำเนินรายการข่าวหุ้นเจาะตลาด ร่วมขึ้นเสวนาบนเวทีในหัวข้อ “แล้วสตาร์คไปถึงไหน” โดยระบุว่า ขณะนี้ผู้เสียหายทุกคนกำลังเฝ้ารอการสรุปสำนวนจากทาง DSI เพื่อนำส่งต่อให้กับอัยการ ซึ่งเมื่อวานนี้ (24 พ.ย.) ทาง DSI ได้มีการจัดแถลงข่าวในประเด็นเกี่ยวกับ STARK ด้วยเช่นกัน

ส่วนกรณีที่มีการรายงานว่าได้มีการยึดอายัดทรัพย์ จำนวน 349 ล้านบาท นั้น มองว่ายังเทียบไม่ได้กับมูลค่าความเสียหายทั้งหมดที่สูงเกือบ 1 หมื่นล้านบาท ดังนั้นจึงเป็นที่น่าตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะมีผู้กระทำความผิดอื่นที่ยังไม่ปรากฏชื่ออีกหรือไม่ เนื่องจากตัวเลขมันห่างกันจนเกินไป ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า จำนวนส่วนที่เหลืออีกราว 8-9 พันล้านบาท ไปอยู่ในส่วนใด

“มูลค่าที่ยึดอายัดมาจำนวน 349 ล้านบาท ซึ่งเทียบเคียงไม่ได้กับเงินลงทุนของพี่ๆ น้องๆ ทุกท่าน และยังไม่นับรวมหนี้สถาบันการเงินราว 5-6 พันล้านบาท และอาจมีหนี้การค้าบางส่วนแต่ลำพังแค่มูลหนี้ที่เกิดจากหุ้นกู้ 9,200 ล้านบาทเทียบกับ 350 ล้านบาท ที่ยึดอายัดมาแล้วผมว่ามันคนละเรื่อง ฉะนั้นถ้าคิดด้วยตรรกะผมมองว่าในบรรดาผู้ต้องหา 11 ราย อาจยังไม่ครอบคลุมทั้งหมดหรือเปล่าเพราะในเชิงตัวเลขมันควรจะใกล้เคียงกันได้มากกว่านี้ไม่อย่างนั้นมันก็จะเกิดคำถามว่าแล้วเงินอีก 8 พันล้านบาท หรืออาจจะเป็นหมื่นล้านบาท ซึ่งมันไปอยู่ที่ไหนหรืออยู่ที่ใครออกไปในรูปแบบไหน” นายบูรพา กล่าว

โดยก่อนหน้านี้ พ.ต.ต. ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดี DSI เคยระบุว่า การกระทำความผิดของ STARK มีทั้งในส่วนของการ ไซฟ่อนเงิน หรือการทำธุรกรรมอำพราง และการตกแต่งบัญชีเพื่อสร้างมูลค่าหุ้น ซึ่งเชื่อมโยงกับกรณี นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ได้ทำการขายหุ้น STARK จำนวน 3 ครั้ง คิดเป็นกำไรราว 5 พันล้านบาท ทำให้มีคำถามว่า สิ่งนี้ถือเป็นทรัพย์สินที่ได้จากการตกแต่งบัญชีหรือไม่ และถ้าใช่ เหตุใดจึงยังไม่มีการยึดอายัดทรัพย์ในส่วนนี้

“อยากฝากไว้สำหรับแนวทางการสืบสวนอาจต้องไปดูว่ามีใครเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากพอร์ตหุ้นของคุณวนรัชต์ ด้วยหรือเปล่า ผมไม่แน่ใจว่าทางการได้นำไปตรวจสอบแล้วหรือยัง ซึ่งหากมีการตรวจสอบแล้วพบข้อมูล ก็อาจจะเป็นประโยชน์ในแง่ของการนำเอาสิ่งที่ตรวจเจอ สิ่งที่ตรวจพบ ยึดอายัดได้มาชดเชยชดใช้ให้กับผู้เสียหายต่อไป” นายบูรพา กล่าว

นายบูรพา กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีการไซฟ่อนเงินนั้น ก่อนหน้านี้ พ.ต.ต. ยุทธนา เคยระบุว่า มีเงินที่ออกไปบัญชีต่างประเทศผ่านรูปแบบ private banking และมีการใช้ทรัพยากรของบริษัทไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวเช่นการใช้บัตรเครดิตของบริษัทในเรื่องส่วนตัวรวมถึงการรับเงินนอกระบบ

ส่วนกรณีการขายหุ้นให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT คาดการณ์ว่าเป็นอีกหนึ่งในกระบวนการทำธุรกรรมอำพรางของ STARK การขายหุ้นดังกล่าวมุ่งหวังว่าจะนำเงินที่ได้กลับเข้ามาในบริษัทบางส่วนเพื่อทำการหมุนเงินและตกแต่งบัญชีต่อไป เนื่องจากการตกแต่งบัญชีมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง ซึ่งพวกเขาอาจจะวางแผนในการที่จะนำเงินที่ได้จากการขายหุ้นมาเติมเต็มในขบวนการแชร์ลูกโซ่ต่อไป

ขณะที่กรณีผู้สอบบัญชี ดีลอยท์ พบว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้รับการรายงานข่าวจาก DSI ว่าอยู่ระหว่างการเรียกเข้ามาทำการสอบสวนแต่ทางผู้สอบบัญชีรายดังกล่าวมีใบรับรองแพทย์ที่แสดงว่าตัวเองเป็นโรคเกี่ยวกับประสาท ซึ่งขณะนี้ต้องรอว่าจะสามารถเข้าให้ปากคำได้เมื่อไหร่

“ผู้สอบบัญชีดังกล่าวถือเป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญ แต่จะทำให้พวกท่านได้เงินคืนมากขึ้นหรือไม่นั้นผมไม่แน่ใจแต่การดำเนินคดีเอาผิดกับผู้สอบบัญชีถือเป็นส่วนสำคัญในการเรียกความเชื่อมั่นกลับมาในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์” นายบูรพา กล่าว

นายบูรพา กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยในส่วนของ STARK มีการระบุถึงการตกแต่งบัญชียักยอกทรัพย์ทำธุรกรรมอำพราง ซึ่งถือเป็นธุรกรรมที่อุกอาจแต่ยังสามารถดำเนินการมาได้หลายปี ทั้งที่มีผู้สอบบัญชีใหญ่ถึงระดับTop 4 ของโลก

ส่วนกรณีที่ก่อนหน้านี้มีประเด็นว่า ดีลอยท์ มีคำสั่งให้ ดีลอยท์ ฟอเรนซิคหยุดปฏิบัติหน้าที่มองว่าไม่เป็นผลดี เนื่องจากการหาข้อมูลเพื่อนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานมันจบสิ้นลงแล้ว และอาจเป็นผลให้สำนวนคดีอ่อนลง

อย่างไรก็ตาม ยังมองว่าการดำเนินงานของหน่วยงานอาจจะมีอุปสรรคขวากหนามอยู่หลายประการเนื่องจากตัวละครที่เกี่ยวข้องในเรื่องของSTARK ล้วนไม่ธรรมดาแต่ตัวเลข 350 ล้านบาทที่ยึดอายัดมากับมูลค่าความเสียหายมันเทียบกันไม่ได้ในวันนี้สิ่งสำคัญคือการแสวงหาหลักฐานเพื่อนำไปสู่การเอาผิดตัวการจริงๆหรือผู้ที่ได้รับประโยชน์จริงๆจากเรื่องนี้และขณะนี้ยังไม่มีชื่อออกมาว่าเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดซึ่งต้องฝากความหวังไว้กับหน่วยงานอย่าง DSI ที่เป็นเจ้าภาพในการสอบสวนสืบสวนในเรื่องนี้

ด้านนายปิยะ ศรีวิกะ ผู้อำนวยการกองคดี 2 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) กล่าวว่า คดี STARK มีการตกแต่งบัญชี ทำให้มีนักลงทุนนำเงินมาลงทุนในหุ้นกู้จากข้อความอันเป็นเท็จ ซึ่งจะผิดกฎหมายทั้ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และกฎหมายว่าด้วยการฉ้อโกงประชาชน โดยเบื้องตัน ปปง.ได้มีการตรวจสอบทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำผิด 350 ล้านบาท ซึ่งเป็นก้อนแรกที่ปปง.เริ่มเข้ามาดำเนินการ

ขณะเดียวกันได้ตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ต้องหาและบุคคลผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อตรวจสอบว่าทรัพย์สินของผู้เสียหายถูกย้ายไปที่ใดบ้าง บุคคลสุดท้ายที่รับประโยชน์ ซึ่งพบว่าทรัพย์สินของผู้เสียหายถูกนำไปทำธุรกรรมที่มีความซับซ้อน หรือนำไปชำระหนี้ทั้งที่มีอยู่จริงและไม่มีอยู่จริง พบว่ามีการทำธุรกรรมกว่าหลายหมื่นรายการในหลากหลายบัญชี ป.ป.ง.จึงจำเป็นต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ โดยทรัพย์สินที่อยู่ในการพิจารณาของ ปปง.มีมูลค่าสูงมาก และปะปนกันไปหมด จึงจำเป็นต้องเลือกใช้กฎหมายหลายฉบับในการนำทรัพย์สินกลับมาเยียวยาให้กับผู้เสียหายได้

นอกจากนี้ ปปง.ได้ขอความร่วมมือผ่านการใช้ความสัมพันธ์ทางการทูต ซึ่งมีพันธมิตรกว่า 130 ประเทศ เพื่อขอตรวจสอบทรัพย์สินในประเทศดังกล่าว แต่เนื่องจากกฎหมายในแต่ละประเทศที่ต่างกัน ส่งผลให้มีข้อจำกัดในการนำทรัพย์สินดังกล่าวกลับเข้ามาในประเทศ แต่ในปัจจุบันพบทรัพย์สินจำนวนหนึ่งอยู่ในสิงคโปร์ กำลังหาวิธีในการทรัพย์สินจำนวนนี้กลับมาในไทยก่อน ซึ่งปปง.มีกระบวนการผ่านทั้งช่องทางการทูตและผ่านทางอัยการสูงสุด

นอกจากนี้ นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ที่ปรึกษากฎหมายและผู้ประสานงานกลุ่มรวมพลังหุ้นกู้สตาร์ค เปิดเผยว่า ผู้ถือหุ้นกู้ STARK จะฟ้องร้องดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ต่อผู้เกี่ยวข้องทั้งกระบวนการ ไม่ใช้เฉพาะในกรณีหุ้นกู้ แต่เป็นความผิดตั้งแต่การเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ของ STARK สร้างข่าวในการระดมทุนจนทำให้เกิดการโกงที่มีมูลค่าความเสียหายมากกว่า 9,000 ล้านบาท มีผู้เสียหายมากกว่า 4,000 ราย คาดว่าจะสามารถยื่นฟ้องได้ภายในปีนี้

โดยการฟ้องนี้ในส่วนของคดีผู้บริโภคเพื่อสามารถเรียกค่าเสียหายได้มากกว่าการฟ้องทางแพ่ง โดยสามารถเรียกค่าเสียหายเชิงลงโทษได้ 2 เท่า และเรียกดอกเบี้ยความเสียหายได้ 5% สูงกว่าดอกเบี้ยหุ้นกู้ ซึ่งจะฟ้องทั้งผู้บริหารบริษัท ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการให้คำปรึกษาในการลงทุน การออกหุ้นกู้ การปลอมแปลงบัญชี

“การฟ้องคดีทางแพ่งจะสามารถฟ้องด้วยหลักการที่กว้างกว่าคดีอาญา นั่นคือหากผู้กระทำผิดมีความเกี่ยวข้อง จงใจหรือประมาททำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งไม่ได้มีปัญหาตอนออกหุ้นกู้ แต่มีการกระทำมาตั้งแต่ก่อนหน้านั้น ตั้งแต่การเตรียมการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ การปลอมแปลงบัญชี ส่งผลให้มีผู้เสียหายจำนวนมากมูลค่าความเสียหายกว่า 9,000 ล้านบาท ดังนั้นทุกๆกระบวนการที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาทั้งหมด”นายวีรพัฒน์ กล่าว

นายวีรพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อจำกัดของภาคประชาชนคือการเก็บรวบรวมพยานหลักฐานย้อนหลัง ซึ่งเป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐมีกฎหมายจำกัดในการดำเนินการ แต่ภาคประชาชนมีอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลได้น้อยแต่ฟ้องได้กว้างเพื่อให้ภาครัฐนำพยานหลักฐานมาสู่กระบวนการทางศาล

ทั้งนี้การดำเนินการฟ้องคดี อยู่ในระหว่างการรอข้อเท็จจริงสำคัญจากหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะ DSI ที่กำลังยื่นสำนวนต่ออัยการ เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่ใหญ่มากจึงจำเป็นต้องรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสำนวนคดีแพ่ง หลังจาก DSI แถลงข่าว จะมีการพูดคุยเพื่อประสานงานและทำงานร่วมกันด้วย

Back to top button