STEC ตั้งโฮลดิ้ง “สเตคอน กรุ๊ป” สร้าง New S Curve ดันมาร์เก็ตแคปแตะ 1 แสนล้าน

STEC จัดตั้งโฮลดิ้ง “สเตคอน กรุ๊ป” ลงทุนธุรกิจใหม่สร้าง New S Curve เพิ่มรายได้ประจำ ดันมาร์เก็ตแคปแตะ 1 แสนล้านภายใน 5-10 ปี และมีกำไรแตะระดับ 4 พันล้านบาท


บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ชี้แจงการปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการของบริษัทฯ ซึ่งประกอบไปด้วยการจัดตั้ง บริษัท สเตคอน กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้ง เพื่อให้มีการแบ่งการบริหารและกำหนดนโยบายของกลุ่มธุรกิจเดิมและกลุ่มธุรกิจใหม่ที่มีการเติบโตสูง เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ใหม่และรองรับแผนการเติบโตในอนาคตได้อย่างยั่งยืน

นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ STEC เปิดเผยว่า จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยีของโลกในปัจจุบัน ทำให้เรามองเห็นธุรกิจใหม่ๆ ที่สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดได้ นอกจากงานก่อสร้าง และนั่นถือเป็นโอกาส ในการพัฒนาธุรกิจ บริษัทจึงได้มีการวางกลยุทธ์ในการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่มีการเติบโตสูง (New S-Curve) และธุรกิจก่อสร้างเดิมที่มีมูลค่างานในมือ (Backlog) แข็งแกร่งกว่าแสนล้านบาท รวมถึงผลักดันให้รายได้ประจำ (Recurring income) มีสัดส่วนที่มากขึ้น และยังคงให้ความสำคัญในธุรกิจวิศวกรรมและก่อสร้าง ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก

โดยหลังจากปรับโครงสร้าง บริษัทตั้งเป้าหมายระยะเวลา 5-10 ปีผลักดันมาร์เก็ตแคปให้เพิ่มเป็น 1 แสนล้านบาท กำไรสุทธิแตะ 4,000 ล้านบาท โดยสัดส่วนรายได้จะประกอบไปด้วย ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างซึ่งเป็นธุรกิจเดิม 50% คาดว่าจะมีรายได้อยู่ที่ 40,000 ล้านบาท และรายได้จากธุรกิจใหม่อีก 50% ซึ่งจะเป็น Recurring income ให้กับบริษัท

สำหรับระยะเวลาในการปรับโครงสร้างเบื้องต้น ภายในเดือนธ.ค. 66 จะเริ่มจัดตั้ง บมจ.สเตคอน กรุ๊ป (STECON Group) เพื่อทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของ STEC จากผู้ถือหุ้นเดิม โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนการแลกเปลี่ยนกับหุ้นเดิม ในอัตราแลกหุ้น (Swap Ratio) ที่ 1:1 มีเงื่อนไขคือผู้ถือหุ้นต้องตอบรับคำเสนอซื้ออย่างน้อย 75% นี้คาดว่าการปรับโครงสร้างจะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย. 67

ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างบริษัทจะแบ่งกลุ่มธุรกิจออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจก่อสร้าง ดำเนินการภายใต้ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) กลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน ภายใต้ บริษัท สเตคอน เพาเวอร์ จำกัด และ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ที่บริษัทถือหุ้นอยู่ กลุ่มธุรกิจคมนาคม ขนส่งและสัมปทาน มีแผนจะลงทุนในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและขนส่ง รวมถึงโครงการสัมปทานอื่น ๆ ของภาครัฐ และในส่วนของกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ จะลงทุนในธุรกิจที่มีความสามารถในการเติบโตสูง

นายภาคภูมิ กล่าวถึงแผนการดำเนินงานในปี 67 ตั้งเป้ารายได้ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างราว 30,000 ล้านบาท ขณะที่รายได้ธุรกิจใหม่คาดว่าจะยังไม่มากนัก คาดหวังได้งานประมูลใหม่ราว 40,000-50,000 ล้านบาท จากปัจจุบันซึ่งมีงานที่รอรับรู้รายได้ (Backlog) กว่าแสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับระยะเวลาเริ่มประมูลงานใหม่ของภาครัฐ

บริษัทยังมุ่งเน้นประมูลงานในเมกะโปรเจ็คค์ต่าง ๆ ที่มีมูลค่าหลักหมื่นล้านบาทขึ้นไป เนื่องจากมีคู่แข่งน้อยกว่า โดยในปีหน้ามีงานที่รอติดตามการประมูล อาทิ โครงการรถไฟทางคู่ขอนแก่น – หนองคาย มูลค่า 25,000 ล้านบาท รถไฟทางคู่จิระ – อุบล มูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาท รถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยาย , รถไฟฟ้าโมโนเรล สายสีน้ำตาลและสายสีเทา, การขยายสนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง และมอเตอร์เวย์ขอกรมทางหลวง

“สำหรับภาพรวมธุรกิจก่อสร้างในประเทศไทย ทุกวันนี้ภาครัฐและเอกชนลงทุนประมาณ 5-6 แสนล้านบาทต่อปี ขณะที่ตลาดก่อสร้างมีมูลค่าอยู่ที่ 1.2-1.3 ล้านล้านบาทต่อปี แต่ด้วยประเทศไทยมีภาระที่จะต้องใช้เงินกู้หรืองบประมาณไปทำอย่างอื่น ดังนั้นงบลงทุนด้านการก่อสร้างในอนาคตข้างหน้าคงจะไม่ได้เพิ่มมากกว่านี้” นายภาคภูมิ กล่าว

นอกจากนี้ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างมีปัจจัยภายนอกกระทบค่อนข้างมาก ทั้งงบประมาณภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชน และปัญหาเรื่องการควบคุมต้นทุน ทำให้มองว่ามูลค่าธุรกิจรับเหมาก่อสร้างจะทรงตัวไม่เติบโตไปมากกว่านี้ ทั้งนี้ความเสี่ยงของต้นทุนการก่อสร้าง ประกอบด้วยค่าแรง ต้นทุนค่าวัสดุ รวมทั้งเสถียรภาพและนโยบายของรัฐบาล

Back to top button