SCB EIC ชี้อุตสาหกรรม “ก่อสร้าง” ปีนี้โต 2% แนะผู้รับเหมาคุมต้นทุน-บริหารสภาพคล่อง

SCB EIC มองอุตสาหกรรมก่อสร้างปี 67 เติบโต 2% แตะ 1.4 ล้านล้านบาท แนะนำผู้รับเหมาปรับกลยุทธ์-คุมต้นทุนและให้ความสำคัญ “ลดการปล่อยคาร์บอน” พร้อมบริหารสภาพคล่องให้ดี


ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC เปิดเผยว่าคาดการณ์อุตสาหกรรมก่อสร้างปี 2567 ทั้งภาครัฐและเอกชน ว่าการก่อสร้างภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัว 2% จากไตรมาสก่อนหน้า แตะระดับ 810,000 ล้านบาท ทั้งนี้จะเผชิญปัจจัยท้าทายด้านความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณประจำปี 2567 ซึ่งจะกระทบมูลค่าการก่อสร้างภาครัฐในไตรมาส 1/2567 ถึง ไตรมาส 2/2567 และคาดการณ์ว่าจะสามารถเร่งเบิกจ่ายได้ในช่วงไตรมาส 3/2567 ซึ่งเป็นช่วงท้ายปีงบประมาณ

อย่างไรก็ดีจะมีการเริ่มประมูลโครงการใหญ่ (Mega project) โดยหน่วยงานต่างๆ เตรียมนำเสนอเพื่อให้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ ทั้งนี้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการปรับปรุงระบบคมนาคมทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ โดยมีเร่งพัฒนาการคมนาคมขนส่งด้านรถไฟที่เชื่อมโยงกับการคมนาคมอื่นๆ รวมถึงนโยบายส่งเสริมการลงทุนยังหนุนให้เกิดโอกาสในการเร่งพัฒนาโครงการก่อสร้างที่เกี่ยวข้อง ทั้งโครงการภาครัฐและภาคเอกชน

ขณะที่มูลค่าการก่อสร้างภาคเอกชนในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องมาอยู่ที่ 598,000 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 3% จากไตรมาสก่อนหน้า) โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการขยายตัวของมูลค่าการก่อสร้างที่อยู่อาศัย กลุ่มคอนโดมิเนียม ทั้งนี้ไปตามการเปิดโครงการใหม่ที่กลับมาฟื้นตัวใน 1-2 ปีก่อนหน้า รวมถึงการขยายตัวของมูลค่าการก่อสร้างอาคารสำนักงาน พื้นที่ค้าปลีก และโรงงานอุตสาหกรรม

อีกทั้งยังมีการปรับปรุง (Renovate) พื้นที่ค้าปลีกและโรงแรม เพื่อรองรับการฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศ รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงบวกกับราคาที่อยู่อาศัยใหม่ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นนับเป็นความท้าทายต่อการเปิดตัวโครงการ และการก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มระดับราคาปานกลางลงมา รวมถึงต้องจับตาภาวะ (Oversupply) ที่อาจทำให้เลื่อนหรือยกเลิกโครงการอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ที่ไม่มีศักยภาพออกไป โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานในบางพื้นที่

นอกจากนี้ภาคก่อสร้างยังเผชิญความท้าทายทั้งในปี 2567 และในระยะปานกลาง ทั้งต้นทุนก่อสร้างยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องทางการเงิน และแรงกดดันในการลดการปล่อยลดคาร์บอน (CO2) ที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างต้องปรับกลยุทธ์รับมือ อาทิ

1.เพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ และควบคุมต้นทุนก่อสร้าง ด้วยการพัฒนาศักยภาพ และร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อเข้าประมูลงานก่อสร้างได้อย่างหลากหลาย รวมถึงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ระมัดระวังการเข้าประมูลแบบแข่งขันด้านราคา หรือการทำสัญญาสั่งซื้อวัสดุก่อสร้างล่วงหน้าอย่างสอดคล้องกับความต้องการใช้

2.บริหารสภาพคล่องทางการเงิน โดยปรับสัดส่วนการรับงานก่อสร้างภาครัฐ และเอกชนให้เหมาะสม รวมถึงดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามแผน เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายได้ตามกำหนด

3.ลดการปล่อยลดคาร์บอน (CO2) ด้วยการหาพันธมิตรวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน อีกทั้งควรลงทุนนำเทคโนโลยีก่อสร้างมาใช้ ให้ความสำคัญกับการวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อม

Back to top button