แบงก์ชาติสั่ง “ธนาคาร” ห้ามโฆษณาเกินจริง หวั่นกระตุ้นก่อหนี้เกินตัว

"แบงก์ชาติ" ออกหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ครอบคลุมทุกวงจรหนี้ เปิดข้อห้ามคำโฆษณา ธนาคาร ผู้ให้บริการไฟแนนซ์ คำห้ามใช้ หวั่นกระตุ้นก่อหนี้เกินตัว และคำที่ต้องมีในโฆษณา


ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ก่อนหรือกำลังจะเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ เมื่อลูกหนี้มีปัญหาชำระหนี้ จนถึงการดำเนินการตามกฎหมายและโอนขายหนี้ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ ตลอดจนส่งเสริมการให้ข้อมูลเงื่อนไขและคำเตือนที่ลูกค้าควรรู้ เพื่อกระตุกพฤติกรรม (nudge) และสนับสนุนให้ลูกค้ามีวินัยทางการเงินที่ดีขึ้น สามารถบริหารจัดการหนี้ให้เป็นประโยชน์กับตนเอง (responsible borrowing) ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.67 ที่ผ่านมา

โดยหลักเกณฑ์การบริหารจัดการด้านการให้สินเชื่อตลอดวงจรการเป็นหนี้ครอบคลุม 8 ด้าน ดังนี้ (1) การพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อ (2) การโฆษณา (3) กระบวนการขาย (4) การพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ (affordability) (5) การส่งเสริมวินัยและการบริหารจัดการทางการเงินในช่วงเป็นหนี้ (6) การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt) (7) การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้ ทั้งการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ลูกหนี้ที่ยังไม่ด้อยคุณภาพ (non-NPL) ซึ่งเป็นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในลักษณะเชิงป้องกัน (pre-emptive DR) และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหา (TDR) (8) การดำเนินตามกฎหมายและการโอนขายหนี้ไปยังเจ้าหนี้รายอื่น

ในส่วนหนึ่งของหลักเกณฑ์เรื่อง การโฆษณา สิ่งที่สำคัญและจำเป็นคือ ผู้ให้บริการต้องจัดทำและควบคุมโฆษณาให้มีเนื้อหาที่ “ถูกต้องและชัดเจน”, “ครบถ้วนและเปรียบเทียบเงื่อนไขอัตราดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ได้”, “ไม่กระตุ้นให้ก่อหนี้เกินควร” เพื่อให้ลูกค้าได้รับและเข้าใจข้อมูลที่จำเป็นจากโฆษณาอย่างเพียงพอต่อการตัดสินใจและส่งเสริมการมีวินัยทางการเงิน

ตัวอย่างโฆษณา ข้อห้าม!

แสดงเงื่อนไขสำคัญแต่ไม่ชัดเจน เช่น ตัวอักษรเล็กจนอ่านออกได้ยาก พูดเร็วจนรับสารไม่ได้

ให้ข้อมูลอัตราดอกเบี้ย 0.5% ต่อปี นาน 50 วัน แต่ไม่แสดงเงื่อนไขสำคัญว่า สำหรับยอดการใช้จ่ายแรกเท่านั้น

ให้ข้อมูลอัตราดอกเบี้ย 0% แต่ไม่แจ้งว่าเฉพาะกรณีเมื่อลูกค้าชำระเต็มจำนวนภายในวันครบกำหนดชำระ

กำหนดว่าฟรีค่าธรรมเนียมรายปี แต่ไม่แจ้งว่าเฉพาะค่าธรรมเนียมปีแรกเท่านั้น

ห้ามผู้ให้บริการ ธนาคาร ทำกิจกรรมส่งเสริมการขายที่ให้รางวัล หรือของขวัญก่อนการอนุมัติสินเชื่อ โดยลูกค้าไม่จำเป็นต้องผ่านการพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ก่อน ซึ่งเป็นการกระตุ้นหรือเร่งรัดการตัดสินใจให้สมัครสินเชื่อ เช่น “เพียงแค่สมัคร ก็รับเลยกระเป๋าเดินทางทันที”

ตัวอย่างโฆษณา ถ้อยคำข้อห้าม!

สนับสนุนให้ก่อหนี้เกินควร เช่น “ของมันต้องมี อยากได้ต้องได้”, “ช้อปหนักแค่ไหนก็รวยเหมือนเดิม”, “รสนิยมสูงทักมา”, “มีหรือเปิดวงเงินไว้ พร้อมใช้ช้อปปิงได้หลาย brand”

แสดงให้เห็นว่าอาจไม่ได้พิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ เช่น “ใคร ๆ ก็กู้ได้”, “ไม่ดูเครดิต ก็กู้ได้”, “ไม่เช็ก”, “ไม่เช็กบูโร”, “ไม่เช็กเครดิตบูโร”

แสดงให้เห็นว่าการกู้เป็นเรื่องที่ไม่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ซึ่งเข้าข่ายเป็นการเร่งให้ก่อหนี้เกินควร เช่น “กู้เงินเรื่องง่าย ๆ”, “กู้ง่าย”, “อนุมัติง่าย”

ต้องแสดงคำเตือน “กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว” ในโฆษณาของสินเชื่อรายย่อยทุกประเภท โดยขนาดตัวอักษรต้องสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน และความเร็วในการอ่านออกเสียงต้องเท่ากับเนื้อหาอื่นที่เป็นเงื่อนไขสำคัญในโฆษณา

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์บัตรเครดิต ให้แสดงคำเตือนว่า “ใช้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนได้เต็มจำนวนตามกำหนด จะได้ไม่เสียดอกเบี้ย (แสดงช่วงระหว่างอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดและอัตราดอกเบี้ยสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง)”

กรณีบัตรเครดิต : “ใช้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนได้เต็มจำนวนตามกำหนด จะได้ไม่เสียดอกเบี้ย 9-16%”

กรณีสินเชื่อส่วนบุคคลที่โฆษณาให้ผ่อนชำระอัตราดอกเบี้ย 0% ของยอดใช้จ่ายจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น : “กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนได้ตามกำหนดจะได้ไม่เสียดอกเบี้ย 12.99- 25%”

Back to top button