EPG รายได้ขายสินค้าพุ่ง! ดันกำไรไตรมาส 3 โต 40% แตะ 297 ล้าน

EPG รายได้ขายสินค้าพุ่ง! ดันกำไรไตรมาส 3 ปี 66/67 โต 40% แตะ 297 ล้านบาท เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน 211.54 ล้านบาท ดันงวด 9 เดือนแตะ 1.03 พันล้านบาท โต 25%


บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG งบการเงินไตรมาส 3 ปี 2566/2567 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ดังนี้

โดยกำไรไตรมาส 3 ปี 66/67 (ต.ค.66 -ธ.ค.66) เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากรายได้จากการขายสินค้าอยู่ที่ 3,373.6ล้านบาท เพิ่มขึ้น 367.6 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 เทียบไตรมาส 3 ปี 65/66 (ต.ค.65-ธ.ค.65) โดยมีการเปลี่ยนแปลงยอดจำหน่ายของผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มบริษัท แอร์โรเฟลกซ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.3 , กลุ่มบริษัท แอร์โรคลาส เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4 และกลุ่มบริษัท อีสเทิร์น โพลีแพค จำกัด เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0

รศ.ดร.เฉลียว วิทูรปกรณ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โพลีเมอร์และพลาสติกแปรรูปชั้นนำของโลก เปิดเผยว่างบการเงินไตรมาส 3 ปีบัญชี (ต.ค. – ธ.ค. 66) มี 3 ปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจประกอบด้วย 1.การเติบโตของยอดขายในธุรกิจหลักมีความสม่ำเสมอ 2.ราคาปิโตรเคมีปรับตัวลง และ 3.การรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจาก Joint venture แบบก้าวกระโดด

อย่างไรก็ตามมีอีก 3 ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ คือ 1.อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศมีความผันผวน เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ 2.การเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารจากการซื้อกิจการร้านค้าปลีก TJM และ 3.การตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จึงส่งผลให้บริษัทมีรายได้จากการขาย 3,374 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้จากการขาย 3,006 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 12.2% มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ 33.2% และมีกำไรสุทธิรายไตรมาสที่ 305 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 213 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 43.3%

โดยแบ่งการดำเนินงานตามกลุ่มธุรกิจ ดังนี้ ธุรกิจฉนวนกันความร้อนและเย็น ภายใต้แบรนด์ “Aeroflex” มีรายได้จากการขาย 950 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ ลดลง 2.0% จากไตรมาสก่อนหน้า แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ปรับตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ยอดขายในสหรัฐอเมริกายังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่องจากความต้องการสินค้าเกรดพรีเมี่ยมและสินค้ารุ่นใหม่สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรม Ultra Low Temperature Insulation และ ระบบ Air Ducting system ซึ่งได้รับการตอบรับจากกลุ่มลูกค้าเป็นอย่างดี และยอดขายในประเทศปรับตัวดีขึ้นตามการลงทุนภาคเอกชน แต่ยอดขายในอาเซียนปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ ธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์ ภายใต้แบรนด์ “Aeroklas” มีรายได้จากการขาย 1,714 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.8% จากไตรมาสก่อนหน้า โดย “Aeroklas” ได้รับคำสั่งซื้อจากค่ายยานยนต์อย่างต่อเนื่องรวมทั้งยอดส่งออกหลังคาครอบกระบะ (Canopy) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับออเดอร์สินค้าใหม่จะทยอยรับรู้รายได้ในไตรมาสถัดๆ ไป ในขณะที่ธุรกิจในออสเตรเลียจะมียอดขายปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนจากภาวะตลาดที่ดีขึ้น และรับรู้รายได้จากการที่ Aeroklas Asia Pacific Group Pty. Ltd. ออสเตรเลีย ซื้อกิจการร้านค้าปลีก TJM ต่อจาก Franchisee รวม 5 แห่ง เมื่อ 1 พ.ย. 66

อีกทั้ง ในไตรมาสนี้บริษัทได้รับผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ปรับตัวอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม “Aeroklas” มุ่งเน้นผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์ที่มีน้ำหนักเบาซึ่งเป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมยานยนต์เนื่องจากมีส่วนช่วยในการประหยัดพลังงาน และส่งเสริมกิจกรรมการขายสำหรับธุรกิจในออสเตรเลียอย่างต่อเนื่อง

โดยธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกภายใต้แบรนด์ EPP มีรายได้จากการขาย 709 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 12.8% จากไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากการพัฒนากระบวนการผลิตให้ดีขึ้น และการปรับกลยุทธ์การขาย ขณะที่เจาะตลาดกลุ่มบรรจุภัณฑ์ประเภทถ้วยน้ำดื่มราคาประหยัดให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ชดเชยยอดสั่งซื้อบรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภทกล่องใส่อาหารชะลอตัวลง อีกทั้ง ได้รับประโยชน์จากกิจกรรมงานและเฉลิมฉลองต่าง ๆ ในช่วงปลายปี

อีกทั้ง บริษัทมีต้นทุนขายสินค้า เพิ่มขึ้น 14.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจฉนวนกันความร้อนและเย็น บริษัทได้จัดหาวัตถุดิบจากแหล่งผลิตในหลายแหล่งเพื่อให้ต้นทุนเฉลี่ยจากราคาวัตถุดิบมีราคาเหมาะสม สำหรับค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้น 10.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการเพิ่มในส่วนของค่าใช้จ่ายพนักงาน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการรับรู้ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารจากการซื้อกิจการร้านค้าปลีก จำนวน 5 แห่ง และ ค่าที่ปรึกษาในการยกระดับ Cyber Security อีกทั้ง บริษัทตั้งสำรองผลขาดทุนทางเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ 45.5 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่มาจากกิจการร่วมค้าในแอฟริกาใต้ซึ่งมีความล่าช้าในการขยายโครงการใหม่

ขณะที่บริษัทมีขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 67.7 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีผลขาดทุน 114.0 ล้านบาท โดยในปีนี้เป็นขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นจริง 5.1 ล้านบาท และ เป็นขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง 62.6 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทได้รับส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้าที่ 101.2 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 41.2 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้าที่ 60 ล้านบาท มาจากการเพิ่มขึ้นของธุรกิจยานยนต์และธุรกิจฉนวนกันความร้อนและเย็น ทั้งในและต่างประเทศ

“สำหรับผลการดำเนินงานงวด 9 เดือน ปีบัญชี 66/67 (เม.ย.-ธ.ค.66) บริษัทมีรายได้จากการขาย 9,659 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ 32.5% และมีกำไรสุทธิ 1,049 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน” รศ.ดร.เฉลียวกล่าว

Back to top button