NAT พร้อมเทรด mai พรุ่งนี้ โบรกเคาะเป้าสูง 8.90 บาท

NAT เตรียมลงสนามเทรดพรุ่งนี้ โบรกเคาะกรอบราคาเป้าหมาย 7.00-8.90 บาท มั่นใจในศักยภาพเติบโต ชี้แนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง รับภาคอุตสาหกรรมขยายตัว ลุ้นโครงการรับเหมาวางระบบ ICT ดันกำไรปี 66-67 โต 38%


บริษัท แนท แอบโซลูท เทคโนโลยีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ NAT เตรียมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) หมวดธุรกิจเทคโนโลยี (TECH) จำนวน 92 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท ราคาเสนอขายหุ้นละ 5.40 บาท ในวันที่ 15 ก.พ. 67 โดยมีผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จํากัด (มหาชน) หรือ FSS

สำหรับการกำหนดราคา IPO ดังกล่าว คิดเป็นอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ (PER) 12.56 เท่า  ซึ่งคำนวณจากผลประกอบการของบริษัทในช่วงวันที่ 1 ต.ค. 65 – 30 ก.ย. 66 ซึ่งเท่ากับ 141.29 ล้านบาท เมื่อหารด้วยจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้เท่ากับจำนวน 328.00 ล้านหุ้น (Fully Diluted) จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้น เท่ากับ 0.43 บาทต่อหุ้น

ทั้งนี้ จากมุมมองของบทวิเคราะห์ของลีดอันเดอร์ไรท์เตอร์ พร้อมโคอันเดอร์ไรท์เตอร์อีก 4 แห่ง มองภาพรวมอุตสาหกรรมไปในทิศทางเดียวกัน โดยมองความต้องการพัฒนาระบบเทคโนโลยีมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับระบบการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ สะท้อนจากงบประมาณของภาครัฐที่มีการลงทุนด้านดิจิทัลมากขึ้น เช่น ในปี 2567 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้รับงบประมาณประมาณ 8,800 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 30% โดยมุ่งเน้นการยกระดับด้านความปลอดภัยของข้อมูลเป็นสำคัญ

โดยโบรกเกอร์มีมุมมองต่อศักยภาพของ NAT ที่จะเติบโตในปี 2567 ดังต่อไปนี้

 บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด หรือ ASPS ระบุในบทวิเคราะห์ คาดการณ์ว่า NAT จะมีกำไรปี 66-67 โตเฉลี่ย 38% จากรายได้ที่สูงขึ้น ตามโครงการรับเหมาวางระบบ ICT ที่คาดว่าจะได้รับมากขึ้น โดยประเมินราคาเป้าหมาย สำหรับปี 67 ของ NAT ไว้ที่ 7.00 บาท (อิง PER ที่ 12 เท่า) ขณะที่บริษัทคู่แข่ง อย่าง บริษัท จีเอเบิล จำกัด (มหาชน) หรือ GABLE และ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เน็ตเวิร์ค ซิสเต็ม จำกัด (มหาชน) หรือ ITNS ที่มีค่า PER ปี 67 ที่ราว 9 – 10 เท่า และคาดการณ์กำไรปี 67 โต 20% -21% ซึ่งต่ำกว่า NAT ที่คาดการณ์ว่าจะมีกำไรปี 67 โต 57% โดยปัจจุบันรายได้ทั้งหมดของ NAT มาจากในประเทศ โดยมีลูกค้าหลักเป็นหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งจากรายได้ในปี 65 รวมราว 1.1 พันล้านบาท ส่วนใหญ่กว่า 86% เป็นการขายและให้บริการแก่ลูกค้าภาครัฐ

ด้านฐานะการเงินของบริษัท ณ สิ้นงวดไตรมาส 3/66 ถือว่าแข็งแกร่ง แม้จะมีอัตราส่วน หนี้สินต่อทุน (D/E ratio) สูงราว 2.3 เท่า เพราะมีสินทรัพย์รวม 620 ล้านบาท ส่วนใหญ่ 44% ของสินทรัพย์ อยู่ในรูปของลูกหนี้การค้า รองลงไปเป็นเงินสดในสัดส่วน 35% ขณะที่มีหนี้สิน 434 ล้านบาท ซึ่งหนี้สินส่วนใหญ่ 86% เป็นเจ้าหนี้การค้า โดยไม่มีหนี้เงินกู้ยืมเลย ขณะที่ยังมีส่วนของทุน 186 ล้านบาท

นอกจากนี้สถาพคล่องของบริษัทอยู่ในเกณฑ์ดี โดยวงจรเงินสดของบริษัท ณ สิ้นงวดไตรมาส 3/66 เป็นลบ 28 วัน จากการที่มีระยะเวลาการขายสินค้าที่สั้น เพราะไม่มีนโยบายสต็อกสินค้า แต่จะสั่งซื้อสินค้าเมื่อได้รับคำสั่งซื้อจากลูกค้า อีกทั้งยังได้เครดิตเทอมจากเจ้าหนี้การค้าที่ยาวกว่าระยะเวลาในการเรียกเก็บหนี้

 บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BYD คาดการณ์กำไรสุทธิ CAGR ที่ 28% ในปี 2566-2568 โดยเพิ่มขึ้นจาก 101 ล้านบาท ในปี 2565 เป็น 212 ล้านบาท ในปี 2568 จาก Backlog ที่มีมูลค่า 551 ล้านบาท และโอกาสในการประมูลงานที่จะเพิ่มขึ้นในปี 2567 ที่จะมาช่วยการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญสอดคล้องกับการประมาณการ

โดย BYD เลือกประเมินมูลค่าหลักทรัพย์ของ NAT ด้วยวิธี PER ได้ราคาเหมาะสมที่ 7.80-8.90 บาทต่อหุ้น อิง PER ปี 2567 ที่ 15-17 เท่า โดยเชื่อว่าหลังจากเพิ่มทุน IPO บริษัทจะมีโอกาสรับงานที่มีมูลค่าได้เพิ่มมากขึ้นทั้งในรูปแบบของงานวางระบบติดตั้ง Software, Data center และ งานติดตั้งอุปกรณ์เทคโนโลยี เช่น อุปกรณ์ Cybersecurity และ Server

บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) หรือ FSS ประเมินมูลค่าเหมาะสมของ NAT โดยอิง PE Multiplier ที่ 15.0 เท่า เท่ากับค่าเฉลี่ยปี 2567 PE ของบริษัทในต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจใกล้เคียงกัน และหากเปรียบเทียบกับบริษัทจดทะเบียนในไทยที่ประกอบธุรกิจใกล้เคียงกัน มีค่าเฉลี่ยของ PE ในช่วงปี 2559-2565 ที่ระดับ 13.9-14.1 เท่า บนประมาณการ EPS ของ NAT ที่ 0.58 บาทต่อหุ้น ในปี 2567 จึงคำนวณได้มูลค่าเหมาะสมตามปัจจัยพื้นฐานที่ 8.70 บาทต่อหุ้น

ขณะที่ผลประกอบการของ NAT ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2563-2565) เติบโตเป็นลำดับตามการขยายธุรกิจและฐานลูกค้า โดยรายได้เพิ่มเฉลี่ย 49.4% CAGR กำไรสุทธิโตเฉลี่ย 33.1% CAGR สำหรับกำไรในช่วง 3 ปีข้างหน้า (ปี 2566-2568) ประมาณการกำไรเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 34.1% CAGR จากการเพิ่มขึ้นของรายได้และอัตรากำไรขั้นต้นตาม Product mix และการมีลูกค้าภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้นภายหลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งทำให้บริษัทเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น และเม็ดเงินที่ได้จากการเพิ่มทุน IPO ทำให้ฐานทุนมีขนาดใหญ่ขึ้น สามารถรับงานที่มีขนาดใหญ่ขึ้นได้

บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GLOBLEX คาดการณ์ผลประกอบการปี 2566 และ 2567 เติบโตต่อเนื่อง โดยคาดการณ์รายได้และกำไรปี 2566 เติบโต 36% และ 21% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สู่ 1,485 ล้านบาท และ 122 ล้านบาท ตามลำดับ เนื่องจากภาครัฐและเอกชนมีการลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ จากการแพร่ระบาดของ COVID-19

ขณะที่ คาดการณ์ว่าอัตรากำไรขั้นต้นจะปรับตัวลงจากปี 2565 ที่ 15.8% เหลือ 14.7% ในปี 2566 เนื่องจากรับรู้งานบริการเพิ่มขึ้น ซึ่งงานบริการมีอัตรากำไรขั้นต้นต่ำกว่ารายได้จากการขาย อย่างไรก็ตาม คาดว่ารายได้ และกำไรปี 2567 จะกลับมาเติบโต 44% และ 48% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ สู่ 2,138 ล้านบาท และ 180 ล้านบาท โดยได้แรงหนุนจาก 1) หน่วยงานภาครัฐเตรียมระบบรองกับการทำงานออนไลน์เพิ่มขึ้นหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 และ 2) บริษัทเอกชนหันมาลงทุนในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มขึ้นเพื่อการทำงานอย่างยืดหยุ่นหลังการแพร่ระบาด COVID-19

ทั้งนี้ GLOBLEX ได้ประเมินราคาเหมาะสมที่ 8.14 บาทต่อหุ้น ด้วยวิธี Prospective P/E Ratio โดยใช้ค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 1 ปี ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตลาด เอ็ม เอ ไอ อาทิ บริษัท แอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ AIT, บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFEC, บริษัท จีเอเบิล จำกัด (มหาชน) หรือ GABLE, บริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ TKC, บริษัท อินฟอร์เมชั่น แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น เน็ทเวิร์คส จำกัด (มหาชน) หรือ ICN และ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เน็ตเวิร์ค ซิสเต็ม จำกัด (มหาชน) หรือ ITNS ได้ค่ำเฉลี่ยที่ 14.8 เท่า และคาดการณ์กำไรต่อหุ้นปี 2567 ที่ 0.55 บาทต่อหุ้น ได้ราคาเหมาะสมปี 2567 ที่ 8.14 บาท

บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) หรือ KCS ระบุในบทวิเคราะห์ โดยประเมินมูลค่าพื้นฐานของ NAT ในปี 2567 ที่ 7.10 บาทต่อหุ้น ด้วยวิธี PE 13.50 เท่า ซึ่งคำนวณจาก Gordon Growth Model (L-T ROE 20.7%, Cost of Equity 13.5%) สูงกว่า PE 3ปี เฉลี่ยที่ 10 เท่าของ 3 บริษัทที่ดำเนินธุรกิจใกล้เคียงกัน ได้แก่ AIT, ICN และ TKC

นอกจากนี้ NAT ยังมีจุดเด่น คือ การให้บริการด้านวางระบบเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานและให้บริการโซลูชั่นที่เกี่ยวข้องกับ ICT, การเป็นพันธมิตรระดับ Titanium Partner กับ Dell Technologies ซึ่งเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ Hardware ระบบเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศระดับโลก, การให้บริการโซลูชั่นระบบเทคโนโลยีด้วยผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่รู้จักของตลาด เช่น Genesys, VMware, Infoblox, Nokia, Huawei, Radware, Paloalto, Cyberark และการมีฐานะการเงินมั่นคง มีสภาพคล่องสูง วงจรเงินสดเป็นลบ

Back to top button