TFM โชว์ยอดขายปี 66 ทะลุ 5 พันล้าน เคาะปันผล 0.13 บาท

TFM ปิดปีแข็งแกร่ง! ดันยอดขายทะลุ 5 พันล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เดินหน้าจ่ายปันผลหุ้นละ 0.13 บาท พร้อมกลยุทธ์ผลักดันสินค้าใหม่เข้าสู่ตลาด


นายพีระศักดิ์ บุญมีโชติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFM ผู้นำธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายอาหารสัตว์เศรษฐกิจชั้นนำของประเทศไทย กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาความท้าทายของเราคือการที่ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์น้ำและสัตว์บกปรับตัวสูงกว่าปีก่อนในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 แต่เนื่องจาก TFM ได้เริ่มทรานฟอร์เมชั่นระบบปฎิบัติการด้วยเทคโนโลยี เช่น ระบบ SAP เพื่อใช้ในการบริหารทรัพยากรและติดตามผล จึงทำให้สามารถบริหารจัดการและควบคุมต้นทุนการผลิตภายในโรงงานให้มีประสิทธิภาพได้ดีขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ

โดยสามารถสร้างยอดขายได้ถึง 5,081.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 3.9% และมีกำไรขั้นต้น 439.6 ล้านบาท ดีกว่าปีก่อนถึง 8.2%

ขณะที่กำไรสุทธิ ปี 2566 อยู่ที่ 85.3 ล้านบาท แม้จะลดลง 22.1% จากปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการดำเนินงานขาดทุนในไตรมาสแรกของปี 2566 ซึ่งในไตรมาสที่ 2-4 การที่ TFM เดินหน้าปรับตัวทั้งระบบในปีที่ผ่านมาทำให้สามารถพลิกกลับมามีกำไรได้อย่างแข็งแกร่ง ส่งผลให้ในปี 2566 บริษัทฯ สามารถจ่ายปันผลได้ที่ 0.13 บาทต่อหุ้น

สำหรับในปี 2566 บริษัทมีสัดส่วนยอดขายตามผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็น อาหารกุ้ง 52.8% อาหารปลา 36.5% อาหารสัตว์บก 8.7% และอื่น ๆ ราว 1.9% และหากดูสัดส่วนยอดขายตามภูมิภาค แบ่งเป็น TFM ในประเทศไทย 92.4%, บริษัท ไทยยูเนี่ยน คาริสมา เลสทารี จำกัด (TUKL) ในประเทศอินโดนีเซีย 6% และ บริษัท เอเอ็มจี ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (AMG-TFM)  ในประเทศปากีสถาน 1.6 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อดูภาพรวมธุรกิจปี 2566 หากแยกตามผลิตภัณฑ์ พบว่า อาหารกุ้ง ของ TFM มีอัตราการเติบโตที่ดีที่สุดโดยสร้างยอดขายได้ถึง 2,804.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

แบ่งเป็น ยอดขายอาหารกุ้งในไทย 2,528.1 ล้านบาท เติบโต 0.2% และยอดขายกลุ่มอาหารกุ้งในประเทศอินโดนีเซีย ที่ทำได้ 276.4 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 187.3%

ส่วนยอดขายอาหารสัตว์บก อยู่ที่ 481.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จาก AMG-TFM ในประเทศปากีสถาน โดยปัจจัยที่ทำให้ทั้งสองผลิตภัณฑ์เติบโตมาจากการวางกลยุทธ์การขาย และการขยายตลาดที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีปริมาณการขายสูงขึ้นต่อเนื่อง

ขณะที่ยอดขายอาหารปลา อยู่ที่ 1,710.5 ล้านบาท ลดลง 1.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แบ่งเป็น ยอดขายอาหารปลาในไทย 1,676.7 ล้านบาท ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.5% จากปีก่อน เป็นผลจากปริมาณการขายอาหารปลากะพงที่เพิ่มสูงขึ้น 30.7% จากปีก่อน ส่วนยอดขายอาหารปลาในต่างประเทศ ลดลง 72.6% เนื่องจากสถานการณ์ราคาปลาในประเทศปากีสถานตกต่ำ ส่งผลต่อความต้องการในการใช้อาหารสำเร็จรูปในการพาะเลี้ยงปลา

กลยุทธ์ของเราในปี 2567 จะเป็นปีแห่งการผลักดันด้านการขายและการตลาดอย่างต่อเนื่อง จากการออกสินค้าแบรนด์ใหม่เพื่อเจาะกลุ่มอาหารปลาน้ำจืดและปลาสวยงาม รวมถึงการทำการตลาดอาหารกุ้งในอินโดนีเซียอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการเติบโตของบริษัท โดยบริษัทฯ จะมุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพออกสู่ตลาด เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า จากปีที่ผ่านมาที่เราได้ทำงานอย่างหนักในการบริหารจัดการภายในโรงงานของเรา” นายพีระศักดิ์ กล่าว

Back to top button