TPS กำไรปี 66 “นิวไฮ” แตะ 116 ลบ. เคาะปันผล 0.18 บ. ขึ้น XD 26 เม.ย.67

TPS โชว์ผลงานปี 66 กำไรโต 53% แตะ 116 ล้านบาท นิวไฮต่อเนื่อง รายได้พุ่ง 1,362 ล้านบาท บอร์ดเคาะจ่ายปันผลหุ้นละ 0.18 บาท ขึ้นเครื่องหมาย XD 26 เม.ย. 67 แย้มปีนี้รายได้ออลไทม์ไฮ โต 35% หลังตุน Backlog 2.1 พันล้านบาท ลุยประมูลงานใหม่ทั้งภาครัฐ-ภาคเอกชน เร่งขยายธุรกิจไซเบอร์ซีเคียวริตี้-บล็อกเชนครบวงจร


นายบุญสม กิจเกษตรสถาพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะแพรคทิเคิลโซลูชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TPS ดำเนินธุรกิจเป็นผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษา ออกแบบ จัดหา ติดตั้ง และจำหน่ายผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานปี 2566 (สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566) บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 116.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.54 ล้านบาท หรือคิดเป็น 53.46% เทียบกับปีก่อน มีกำไรสุทธิ 75.83 ล้านบาท สร้างสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง และมีรายได้รวม 1,362.81 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 375.95 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 38.10% เทียบกับปีก่อนมีรายได้รวม 986.86 ล้านบาท

โดยปัจจัยหลักที่สนับสนุนให้รายได้และกำไรปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากรับรู้รายได้จากธุรกิจจำหน่าย และวางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และรายได้จากการให้บริการดูแลและบำรุงรักษาระบบภายหลังการขาย รวมทั้งรายได้จากงานก่อสร้างในส่วนของบริษัทย่อย

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีการอนุมัติให้จ่ายปันผลงวดประจำปี 2566 ให้กับผู้ถือหุ้นเป็นเงินสด 0.18 บาท/หุ้น ขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 26 เมษายน 2567  และกำหนดจ่ายปันผลวันที่ 15 พฤษภาคม 2567

“ปี 2566 TPS และบริษัท เดอะวิน เทเลคอมฯ บริษัทย่อย สามารถดำเนินธุรกิจได้เป็นไปตามแผน ทั้งแง่ของรายได้และกำไรเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยส่งมอบงานขนาดใหญ่ให้ภาครัฐและภาคเอกชนได้ตามกำหนด พร้อมกับมีรายได้เพิ่มจากงานให้บริการดูแลและบำรุงรักษาระบบภายหลังการขายเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และสามารถจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้ตามนโยบายการจ่ายปันผลของบริษัทฯ” นายบุญสม กล่าว

สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2567 ตั้งเป้าหมายรายได้เติบโต 35% จากปีก่อน สร้างสถิติสูงสุดใหม่นับตั้งแต่จัดตั้งบริษัทฯ โดยปัจจุบันมีงานที่รอรับรู้รายได้ (Backlog) จำนวน 2,109 ล้านบาท รวมทั้ง TPS และบริษัท เดอะวิน เทเลคอม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ยังเดินหน้าเข้าประมูลงานใหม่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะงานภาครัฐที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้จากภาครัฐ 40% และภาคเอกชน 60%

ขณะที่ธุรกิจไซเบอร์ซีเคียวริตี้ (Cyber Security) และบล็อกเชน (Blockchain) เร่งขยายการให้บริการครอบคลุมในกลุ่มลูกค้าเดิม พร้อมรุกขยายไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่เพิ่มเติม เพื่อรองรับเทคโนโลยีที่ทันสมัย และระบบ AI ที่ปัจจุบันหลายองค์กรให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก และมุ่งสู่การเป็น เทค-คอมพานี (Tech company) อย่างครบวงจร

Back to top button