สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 22 มี.ค. 2567

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 22 มี.ค. 2567


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบในวันศุกร์ (22 มี.ค. 67) จากแรงขายทำกำไรหลังจากพุ่งขึ้นอย่างมากก่อนหน้านี้ ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดลบเล็กน้อย และดัชนี Nasdaq ปิดขยับขึ้น แต่ดัชนีทั้ง 3 ตัวปรับตัวขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์มากที่สุดในรอบสัปดาห์ในปีนี้ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณในสัปดาห์นี้ว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 3 ครั้งภายในปีนี้

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 39,475.90 จุด ลดลง 305.47 จุด หรือ -0.77%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,234.18 จุด ลดลง 7.35 จุด หรือ -0.14% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 16,428.82 จุด เพิ่มขึ้น 26.98 จุด หรือ +0.16%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบเล็กน้อยในวันศุกร์ (22 มี.ค. 67) แต่ยังคงปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 9 ติดต่อกัน หลังจากแตะระดับสูงสุดตลอดกาลระหว่างวันได้อีกครั้งในการซื้อขายช่วงเช้า

ดัชนี STOXX600 ปิดตลาดที่ระดับ 509.64 จุด ลดลง 0.13 จุด หรือ -0.03%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกในวันศุกร์ (22 มี.ค. 67) และปิดที่ระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี เนื่องจากนักลงทุนยังคงขานรับแนวโน้มที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง

ดัชนี FTSE100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,930.92 จุด เพิ่มขึ้น 48.37 จุด หรือ +0.61%

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันศุกร์ (22 มี.ค. 67) และทรงตัวในรอบสัปดาห์นี้ ขณะที่ความเป็นไปได้ที่จะมีการหยุดยิงในฉนวนกาซาถ่วงราคาน้ำมันดิบลง แต่สงครามในยูเครนและแท่นขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐที่ลดลงได้ช่วยลดช่วงติดลบของสัญญาน้ำมันดิบ

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 44 เซนต์ หรือ 0.54% ปิดที่ 80.63 ดอลลาร์/บาร์เรล

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 35 เซนต์ หรือ 0.41% ปิดที่ 85.43 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลดลงในวันศุกร์ (22 มี.ค. 67) โดยถูกกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ ซึ่งทำให้สัญญาทองคำสกุลเงินดอลลาร์มีราคาแพงขึ้นและลดความน่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 24.70 ดอลลาร์ หรือ 1.13% ปิดที่ 2,160.00 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 16.40 เซนต์ หรือ 0.66% ปิดที่ 24.843 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 14.60 ดอลลาร์ หรือ 1.60% ปิดที่ 898.40 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 20.60 ดอลลาร์ หรือ 2.02% ปิดที่ 998.30 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (22 มี.ค.) และปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียงเล็กน้อยของธนาคารกลางญี่ปุ่น และการที่ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในสัปดาห์นี้นั้น ทำให้ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างสองธนาคารดังกล่าวกับของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งช่วยหนุนดอลลาร์ให้ยังคงแข็งค่า

ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.45% แตะที่ระดับ 104.473

 

Back to top button