CGSI แนะเกาะติด “เงินดิจิทัล-ประชุมกนง.” ชู IVL-CK เด่น รับปัจจัยบวกเฉพาะตัว

CGSI ประเมินดัชนีหุ้นไทยสัปดาห์นี้ในกรอบ 1,385 จุด พร้อมจับตางบประมาณปี 67-ดิจิทัลวอลเล็ต-ประชุมกนง.-เทศกาลสงกรานต์ แนะลงทุน IVL-CK


บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด หรือ CGSI ประเมินตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ในกรอบ 1,385 จุด ไปจนถึงสิ้นไตรมาส 1/2567 โดยการที่ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงมาบริเวณ 1,370-1,375 จุดเป็นจังหวะในการซื้อขายอีกครั้ง

ส่วนประเด็นที่ต้องจับตายังคงเป็น 3 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย 1) งบประมาณปี 2567 หลังผ่านวาระ 2-3 ซึ่งรอการผ่านจากสภาสูงหรือ ส.ว. และความคืบหน้าของดิจิทัล วอลเล็ทที่จะมีแถลงถึงรายละเอียดในวันที่ 10 เม.ย. 67 2) การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 10 เม.ย. เช่นกัน ซึ่งทั้งตลาดและฝ่ายวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่าจะมีการ “ลด” ดอกเบี้ยราว 0.25% และ 3) เทศกาลสงกรานต์

อย่างไรก็ตาม ยังคงแนะนำระวังการตั้งจุดทำกำไร (Take profit) บริเวณ 1,400 จุด และอาจจะเป็นการที่ราคาหุ้นทะลุแนวต้าน (False break) หากประเด็นในประเทศยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งภาพดังกล่าวสอดคล้องกับการที่ฝ่ายวิเคราะห์ได้ไปพบกับนักลงทุนสถาบัน โดยนักลงทุนส่วนใหญ่ที่ได้พบในฮ่องกงยังลดน้ำหนัก (Underweight) ตลาดหุ้นไทยเนื่องจากเศรษฐกิจประเทศยังมีแนวโน้มอ่อนตัวและความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งนักลงทุนจะมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทยมากขึ้น หากสถิตินักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น, อัตราเงินเฟ้อเป็นบวกและเงินปันผลสูงขึ้น

สำหรับหุ้นแนะนำ ได้แก่ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL เนื่องจากมองว่าสเปรดพลาสติก PET ที่อ่อนตัวในสหรัฐ สาเหตุจากปริมาณวัตถุดิบที่มากทำให้โรงงานผลิต PET มีอัตราการใช้กำลังการผลิตสูงขึ้นและสเปรดลดลงจะถูกชดเชยด้วยสเปรด PET ที่สูงขึ้นในเอเชีย รวมถึงเห็นแนวโน้มการฟื้นตัวของสเปรด PET ในยุโรปด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ บริษัทจะมีการเพิ่มทุนด้วยการแยกและขายสินทรัพย์บางส่วน (การเสนอขายหุ้นครั้งแรก (IPO) จำนวน 250 ล้านเหรียญสหรัฐและ 750 ล้านเหรียญสหรัฐตามลำดับ) ซึ่งฝ่ายวิเคราะห์เชื่อว่าบริษัทมีเป้าหมายนำเงินทุนมาลดอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุน (net D/E) ให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 1 เท่า ภายในปี 2569

บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK หลังจากบริษัทมีจำนวนงานในมือ (backlog) รวม 1.29 แสนล้านบาทในสิ้นปี 2566 เทียบเท่ารายได้เกือบ 3 ปีซึ่งฝ่ายวิเคราะห์มองว่ายังเป็นระดับที่ปลอดภัย รวมถึงบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM เป็นผู้ชนะประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท แต่โครงการนี้ยังมีคดีอยู่ขั้นตอนรอการพิจารณาจากศาลปกครองสูงสุดเกี่ยวกับการจัดประมูลรอบ 2 ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  หากคำพิพากษาศาลฯ เป็นผลดีกับบริษัท การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีแผนจะยื่นเสนอโครงการให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ 

Back to top button