“สนค.” เปิดดัชนี “ค่าครองชีพไทย” ปี 67 อันดับ 94 ของโลก

“สนค.” เปิดดัชนี "ค่าครองชีพไทย" ต้นปี 67 แตะอันดับที่ 94 ของโลก ระดับ 36% ต่ำกว่าสหรัฐฯ และอยู่ในอันดับ 5 จาก 9 ในอาเซียน เซ่นดัชนีสินค้าอุปโภคบริโภคหดตัว 41%


ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (30 มี.ค.67) สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่าได้จัดทำดัชนีค่าครองชีพทั่วโลก ของเว็บไซต์ฐานข้อมูลด้านค่าครองชีพโลกที่มีชื่อเสียง Numbeo ต้นปี 67 ซึ่งคำนวณจากค่าใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ ค่าอาหาร, ค่าเดินทาง, เสื้อผ้าและรองเท้า, กีฬาและสันทนาการ และค่าสาธารณูปโภค พบว่า ดัชนีค่าครองชีพของไทย ในช่วงต้นปี 67 อยู่ที่ 36% ต่ำกว่าดัชนีเมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้เป็นฐานในการเปรียบเทียบที่ 100% โดยอยู่อันดับที่ 94 จาก 146 ประเทศทั่วโลก ซึ่งลดลงจากปีที่แล้วที่มีดัชนีค่าครองชีพ 40.7% หรืออันดับที่ 79 จาก 140 ประเทศทั่วโลก

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาประเทศในกลุ่มอาเซียน พบว่า ดัชนีค่าครองชีพของไทยสูงเป็นอันดับที่ 5 จาก 9 ประเทศที่ถูกจัดอันดับ โดยค่าครองชีพของไทยสูงกว่าฟิลิปปินส์ที่มีดัชนี 33.6% สูงอันดับ 104 รองลงมาเวียดนาม 30.8% อันดับ 113 มาเลเซีย 30.5% อันดับ 115 และอินโดนีเซีย 28.5% อันดับ 126 ขณะที่ค่าครองชีพของไทยต่ำกว่า ได้แก่ กัมพูชา 38.5% อันดับ 88 เมียนมา 38.6% อันดับ 87 บรูไน 50.5% อันดับ 48 และ สิงคโปร์ ซึ่งมีค่าครองชีพสูงที่สุดในอาเซียน ที่ 81.9% สูงอันดับ 7 ของโลก

ขณะที่สิงคโปร์ มีค่าครองชีพสูงที่สุดในอาเซียน ค่าดัชนี 81.9% สูงอันดับ 7 ของโลก และ บรูไน ค่าดัชนี  50.5% อันดับ 48, เมียนมา ค่าดัชนี 38.6% อันดับ 87, กัมพูชา ค่าดัชนี 38.5% อันดับ 88, ไทย ค่าดัชนี 36%  อันดับที่ 94, ฟิลิปปินส์ ค่าดัชนี 33.6% สูงอันดับ 104, เวียดนาม ค่าดัชนี  30.8% อันดับ 113, มาเลเซีย ค่าดัชนี 30.5% อันดับ 115, อินโดนีเซีย ค่าดัชนี 28.5% อันดับ 126

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ค่าครองชีพไทยลดลงมาจาก ดัชนีสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำหน่ายในร้านขายของชำ ลดลงจาก 42% เหลือ 41%. อาทิ เนื้อสัตว์ นม ไข่ ขนมปัง ผัก และผลไม้ สอดคล้องกับราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร อาทิ เนื้อสัตว์ และผักและผลไม้ ขณะที่ดัชนีราคาอาหารในร้านอาหารลดจาก 21% เหลือ 18.4% อาทิ เซตอาหารฟาสต์ฟู้ด เบียร์ท้องถิ่น เบียร์นำเข้า และน้ำอัดลม นอกจากนี้ ยังมีสินค้าในหมวดการเดินทาง เสื้อผ้าและรองเท้า กีฬาและสันทนาการ และสาธารณูปโภค ที่ปรับตัวลดลง

ส่วนประเทศที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในโลก 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.เบอร์มิวดา สูงถึง 133.6% ซึ่งเป็นผลมาจากลักษณะภูมิประเทศที่มีข้อจำกัดเรื่องการเพาะปลูก การผลิต และต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากต่างประเทศ ประกอบกับเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จึงทำให้ราคาสินค้าและบริการแพงที่สุดในโลก

ขณะที่รองลงมาสวิตเซอร์แลนด์ สูงถึง 112.2% เนื่องจากเป็นหนึ่งประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูง มีระบบสวัสดิการ เป็นที่ดึงดูดของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และ 3.หมู่เกาะเคย์แมน สูงถึง 111.7% โดยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ถูกจัดว่าร่ำรวยที่สุดในโลก มีชื่อเสียงด้านบริการทางการเงิน

ส่วนประเทศที่มีค่าครองชีพต่ำที่สุดในโลก 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ปากีสถาน อยู่ที่ 18.5% เนื่องจากเผชิญปัญหาหนี้สินที่อยู่ระดับสูง การคอร์รัปชัน และความไม่มั่นคงทางอาหาร ซึ่งกดดันต่อกำลังซื้อและการเติบโตทางเศรษฐกิจ รองลงมาเป็นไนจีเรีย 19.3% เนื่องจากเศรษฐกิจค่อนข้างอ่อนแอ และปัญหาความยากจนสูง และลิเบีย อยู่ที่ 21.2% เพราะมีความเปราะบางทางการเมือง มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย และเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอ

ด้าน นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผอ.สนค. กล่าวว่า ระดับค่าครองชีพของไทยเมื่อเทียบกับ 146 ประเทศทั่วโลก ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ สาเหตุสำคัญคาดว่ามาจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ทั้งสินค้าในกลุ่มพลังงาน (ค่าไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง แก๊สหุงต้ม) และสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ นอกจากนี้ ยังมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งมาตรการเพิ่มรายได้ และการขยายโอกาสในการประกอบอาชีพ

อย่างไรก็ดี แม้สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงไทยยังมีโอกาสเติบโต แต่ยังมีปัจจัยท้าทายหลายด้าน ทั้งนโยบายการผลิตและส่งออกของผู้ผลิตน้ำมันรายสำคัญ ความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐของไทยที่จะสิ้นสุดลง ซึ่งอาจกระทบให้ค่าครองชีพของไทยเพิ่มสูงขึ้นได้

ดังนั้น ผู้บริโภครวมถึงผู้ประกอบการควรเตรียมรับมือกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น โดยวางแผนทางการเงินอย่างรัดกุม สำหรับผู้ประกอบการ ควรพิจารณาประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการลดต้นทุน ช่วยนำพาธุรกิจให้เติบโตผ่านพ้นปัจจัยท้าทายดังกล่าวได้อย่างมั่นคง

Back to top button