สรท.ชี้สงคราม “อิหร่าน-อิสราเอล” ไม่กระทบส่งออกไทย แนะรัฐตรึงราคาน้ำมัน

สรท. ชี้สงครามอิหร่านเปิดฉากยิงขีปนาวุธ-โดรนใส่อิสราเอล ไม่กระทบภาคส่งออกไทย แนะรัฐตรึงต้นทุนน้ำมันช่วย หากสถาณการ์บานปลาย รวมถึงแนะเอกชนเร่งหาตลาดระยะใกล้ปิดความเสี่ยง


นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า กรณีความกังวลสงครามระหว่างอิหร่านและอิสราเอล ที่อิหร่านเปิดฉากยิงขีปนาวุธ และโดรนใส่อิสราเอลชุดใหญ่นั้น ประเมินว่ายังเป็นการหยั่งเชิงกันระหว่าง 2 ประเทศอยู่ ทำให้ผลกระทบต่อภาคการส่งออกยังไทยไม่ได้มีมากขนน่ากังวล ซึ่ง สรท.ได้รวมปัจจัยความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์เป็นปัจจัยเสี่ยงหรือปัจจัยลบที่มีผลกระทบต่อการขยายตัวของภาคการส่งออกแล้ว ทำให้จะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

“ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่ามีผลกระทบรุนแรงเท่าใด แต่หากมีความรุนแรงมากขึ้น อาทิ การตอบโต้ระหว่าง 2 ประเทศ และมีพันธมิตรประเทศอื่นเข้าแทรกแซงด้วย ส่วนนี้รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยดูแลในเรื่องพลังงาน เพราะหากมีความรุนแรงเกิดขึ้น ราคาน้ำมันจะตอบรับผ่านการปรับขึ้นสูงอีกครั้งแน่นอน ซึ่งน้ำมันก็เป็นต้นทุนสำคัญของธุรกิจ จึงเป็นสิ่งเดียวที่อยากให้รัฐบาลช่วยพิจารณาตรึงต้นทุนน้ำมันให้ยาวนานที่สุดได้หรือไม่ หากเกิดกรณีพิพาทรุนแรงจริงๆ แต่ตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นนั้น” นายชัยชาญ กล่าว

ส่วนสถานการณ์ล่าสุดในขณะนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นยังไม่ได้ส่งผลต่อการส่งมอบสินค้าให้ติดชะงักไป เพราะท่าระวางเรือและเส้นทางการเดินเรือผ่านทะเลแดงและช่องแคบฮอร์มุซ รวมถึงค่าระวางเรือยังไม่ได้มีการปรับขึ้นด้วย ทำให้ในอนาคตมองเป็น 3 กรณี คือ 1.หากสถานการณ์ข้อพิพาทระหว่างกันจบลงได้ด้วยดี จะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย 2.สภาวะตึงเครียด ผู้ประกอบการต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น ทั้งการประสานงานกับลูกค้าเร่งการส่งมอบ การชำระเงิน สินค้าส่งออกไปตะวันออกกลางหลักๆ ได้แก่ รถยนต์ สินช่วนยานยนต์ ข้าว เครื่องปรับอากาศ อาหารสำเร็จรูป โดยหากภายใต้ความตึงเครียดแบบนี้ผู้ประกอบการก็ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อรับมือให้ได้

รวมถึง 3.มีความรุนแรงมากขึ้นจนขยายวง ทำการโต้ตอบกันไปมา จนถึงขั้นการปิดท่าระวางเรือ ช่องแคบต่างๆ ต้องยอมรับว่าหากภาพเป็นแบบนั้นจะน่าเป็นห่วงมาก เพราะจะเกิดความสับสนในเส้นทางขนส่งสินค้าผ่านเรือ เกิดความอลหม่านในเหมือนภาพที่เกิดขึ้นช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในตลาดต่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย

สำหรับแนวทางของภาคเอกชน ขณะนี้ควรเร่งหาตลาดระยะใกล้เข้ามาชดเชยตลาดที่มีความเสี่ยงและอาจหายไปในอนาคตได้ อาทิ อาเซียน จีน อินเดีย ที่เป็นตัวเข้ามาช่วยชดเชยได้ จากตลาดตะวันออกกลางที่มีสัดส่วนการส่งออกประมาณ 5% เทียบกับภาพรวม โดยหากมีความรุนแรงมากสุด ภาคเอกชนต้องหารือร่วมกัน และขอการสนับสนุนจากรัฐบาล รวมถึงหารือร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชนด้วย โดยอาจต้องมีการตั้งวอร์รูมเพื่อติดตามสถานการณ์และรับมือให้ได้ดีที่สุด

Back to top button