ส่อง 3 หุ้นรับประโยชน์ “ราคาสุกร” หน้าฟาร์มพุ่ง หวังดันกำไรปีนี้ฟื้น

ส่อง 3 หุ้นรับประโยชน์ราคาหมูหน้าฟาร์มทั้งในไทยและต่างประเทศปรับตัวขึ้น คาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวของกําไรในปี 67 พร้อมกับมีปัจจัยบวกจากต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวลงต่อเนื่อง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (24 เมษายน 2567) สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ รายงานข้อมูลราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม (สัปดาห์ที่ 17/2567) วันพระที่ 23 เมษายน 2567 เพิ่มขึ้น 4 บาท/กก. จากวันพระก่อนหน้า (16 เมษายน 2567)

สำหรับราคาสุกรภาคตะวันตก จาก 68 เป็น 72 บาท/กก., ภาคตะวันออก จาก 74 เป็น 72-78 บาท/กก., ภาคอีสาน จาก 74 เป็น 74-76 บาท/กก., ภาคเหนือ จาก 75 เป็น 75-78 บาท/กก. และภาคใต้ จาก 70 เป็น 74 บาท/กก

ส่วนลูกสุกรขนาด 16 กิโลกรัม วันจันทร์ที่ 22 เมษายน 2567 ราคา 1,900 บาท บวกลบ 72 บาท เพิ่มขึ้น 100 บาท/ตัว จากวันจันทร์ที่ 15 เมษายน 2567 ที่มีราคา 1,800 บาท บวกลบ 64 บาท

นอกจากนี้สมาคมได้จัดทำข้อมูลราคาสุกรขุนในกลุ่มอาเซียนขยับขึ้นถ้วนหน้ารวมทั้งจีนตอนใต้ เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2567 พบว่า กัมพูชา 80-85 บาท/กก., เวียดนาม 82-85 บาท/กก., สปป.ลาว 73-78 บาท/กก. และจีนตอนใต้ 75-82 บาท/กก

โดยเบื้องต้นจากการสำรวจบริษัทจดทะเบียน (บจ.) จะได้รับประโยชน์จากราคาสุกรปรับตัวดีขึ้นทั้งในส่วนของราคาสุกรในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านตามประเมินของนักวิเคราะห์ได้แก่ TFG, CPF และ BTG

นายเพชร นันทวิสัย ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TFG มั่นใจว่าผลการดำเนินงานของ TFG ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ซึ่งจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 1/67 โดยได้รับปัจจัยหนุนจากราคาสุกรที่ปรับตัวดีขึ้นทั้งในส่วนของราคาสุกรในประเทศไทยและประเทศเวียดนาม ประกอบกับผลการดำเนินงานของร้านค้าปลีก “ไทยฟู้ดส์ เฟรช มาร์เก็ต” (Retail Shop)  เป็นที่น่าพอใจ

ขณะที่ราคาสุกรในเวียดนามเข้าสู่ช่วงขาขึ้นรอบใหม่ จากซัพพลายที่ลดลง โดยตั้งเป้ายอดขายสุกรในเวียดนามเพิ่มขึ้น 20-25% เทียบกับปีที่ผ่านมา อีกทั้งบริษัทฯ ยังมีการบริหารจัดการภายใน ทั้งในส่วนของการบริหารจัดการวัตถุดิบ เพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยง และราคาวัตถุดิบที่มีแนวโน้มลดลง

ขณะเดียวกันบริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ คาดว่า TFG จะขาดทุนสุทธิ 386 ล้านบาทในไตรมาส 1/67 (ลดลง 191% เมื่อเทียบกับงวดเดียวของปีก่อน, และจากขาดทุนสุทธิ 861 ล้านบาทในไตรมาส 4/66) โดยคาดว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับงวดเดียวของปีก่อน และ 2% จากไตรมาสก่อน เป็น 1.48 หมื่นล้านบาท โดยธุรกิจร้านค้าปลีกจะยังคงเป็นตัวหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโต และคาดว่า TFG จะขยายสาขาเพิ่มเป็น 380 ร้าน จาก 350 ร้านในไตรมาส 4/66 อย่างไรก็ตาม ธุรกิจหมูน่าจะยังเป็นตัวถ่วงที่สำคัญ เพราะราคาหมูยังอ่อนแออยู่

อีกทั้งคาดว่า GPM จะเพิ่มขึ้น 5.1ppts จากไตรมาสก่อน เป็น 5.9% โดยสาเหตุสำคัญจะมาจาก margin ที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจไก่ ซึ่งได้อานิสงส์จากการส่งออกที่แข็งแกร่ง, ราคาไก่ในประเทศสูงขึ้น และต้นทุนอาหารสัตว์ลดลง

อย่างไรก็ตาม GPM น่าจะลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับงวดเดียวของปีก่อนเนื่องจากราคาหมูที่ลดลง โดยคาดว่าสัดส่วน SG&A ต่อยอดขายจะลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับงวดเดียวของปีก่อน เพราะยอดขายเพิ่มขึ้น แต่คาดว่า SG&A ต่อยอดขายจะเพิ่มขึ้น 0.2ppt จากไตรมาสก่อน เพราะผลกระทบจากต้นทุนค่าระวางขนส่งที่สูงขึ้น ในขณะเดียวกัน คาดว่าค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจะยังสูงอยู่ที่ 290 ล้านบาท นอกจากนี้ คาดว่า TFG จะบันทึกผลขาดทุนจากสินทรัพย์ชีวภาพ 30 ล้านบาทเนื่องจากราคาหมูสิ้นไตรมาสลดลง (จากขาดทุน 32 ล้านบาทในไตรมาส 1/66 และกำไร 73 ล้านบาทในไตรมาส 4/66)

 โดยธุรกิจหมูน่าจะฟื้นตัวได้ในไตรมาส 2/67 จากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น และสถานการณ์หมูเถื่อนที่ดีขึ้น โดยคาดว่าราคาหมูน่าจะฟื้นตัวได้ในไตรมาส 2/67 ซึ่งเมื่อประกอบกับต้นทุนอาหารสัตว์ที่ลดลง ทำให้คาดว่า GPM น่าจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้คาดว่า GPM ของ TFG จะดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเพราะยอดขายส่วนใหญ่มาจากหมูเป็น ซึ่ง GPM อ่อนไหวกับการเปลี่ยนแปลงของราคามากกว่า อย่างไรก็ตาม ภาระดอกเบี้ยที่สูงยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ฝ่ายวิเคราะห์เป็นห่วงผลการดำเนินงานของบริษัท อย่างไรก็ตามยังคงแนะนำ “ถือ” TFG ประเมินราคาเป้าหมายปี 67 ที่ 3.40 บาท

ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ต่อ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF คาดขาดทุนสุทธิไตรมาส 1/67 ที่ 2.3 พันล้านบาท มีแนวโน้มดีขึ้นจากไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับงวดเดียวของปีก่อน (ในส่วนของจากไตรมาสคาดขาดทุนปกติดีขึ้นจากไตรมาส 4/66 ที่ราว 7 พันล้านบาท มาอยู่ที่ราว 3 พันล้านบาท ในไตรมาส 1/67) โดยการฟื้นตัวหลักๆ มาจากแนวโน้มราคาหมูในเวียดนามปรับตัวดีขึ้น และราคาไก่ไทยที่ปรับตัวดีขึ้นราว 7% จากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่เฉลี่ยราว 40 บาท/กก.

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้การฟื้นตัวไม่เต็มที่และยังเห็นการขาดทุนต่อเนื่องอยู่ มาจากราคาหมูที่กลับมาอ่อนตัวในช่วงเดือน มี.ค. ทําให้ทั้งไตรมาสเฉลี่ยอ่อนตัวลงราว 1% จากไตรมาสก่อน มาอยู่ที่เฉลี่ยราว 66 บาท/กก. ด้านต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์อ่อนตัวลง แต่ผลกระทบยังไม่มาก เนื่องจากยังมีสต็อกวัตถุดิบจากต้นทุนเดิมอยู่ทำให้ในภาพรวมคาดรายได้จะทรงตัวจากไตรมาสก่อน ขณะที่อัตรากําไรขั้นต้นจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 9.54% จาก 9.21% ในไตรมาส 4/66

นอกจากนี้ ยังคาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวของกําไรในปี 2567 โดยมีปัจจัยบวกจากต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวลงต่อเนื่อง ซึ่งจะเริ่มเห็นผลบวกที่ชัดเจนขึ้นในช่วงที่เหลือของปี ขณะที่ราคาไก่ไทยคาดจะยังดีขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน จากอุปสงค์จากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น บวกกับแนวโน้มราคาสัตว์บกในต่างประเทศ โดยเฉพาะเวียดนามเริ่มฟื้นตัว อย่างไรก็ตามราคาหมูไทยยังค่อนข้างผันผวน ซึ่งต้องติดตามแนวโน้มราคาในช่วงที่เหลือของปี โดยยังมีปัจจัยหนุนจากการลดกําลังการผลิตหมูของผู้ผลิตรายใหญ่ในไทย และการฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศ ที่อาจช่วยหนุนให้ราคาหมูฟื้นตัวได้

ดังนั้นคงราคาเป้าหมายปี 2567 ที่ 21 บาท อิง PBV 0.7 เท่า มองปี 2566 ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วและจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวในปี 2567 แม้จะยังไม่เต็มที่จากแรงกดดันของธุรกิจหมู ด้านราคาหุ้นที่อ่อนตัวลงมาค่อนข้างมากทำให้เริ่มเห็น Upside จึงปรับคำแนะนําเป็น “ซื้อ”

รวมทั้งบริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ต่อ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) หรือ BTG โดยคาดขาดทุนสุทธิสําหรับไตรมาส 1/67 ที่ 135 ล้านบาท ดีขึ้นจากขาดทุนสุทธิในไตรมาส 4/66 ที่ 656 ล้านบาท แต่อ่อนตัวจากกําไรสุทธิในไตรมาส 1/66 ที่ 393 ล้านบาท โดยกําไรไตรมาส 1/67 ที่ยังขาดทุนต่อเนื่องเป็นผลจากยอดขายที่อ่อนตัวราว 2% จากไตรมาสก่อน แม้ว่าปริมาณขายจะเพิ่มขึ้น แต่ราคาขายอาจลดลง โดยเฉพาะในส่วนของราคาหมูเฉลี่ยที่อ่อนตัวลงเล็กน้อยราว 1% จากไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 66 บาท/กก. หลังปัญหาหมูลักลอบนําเข้ายังคงอยู่

อีกทั้งด้วยปริมาณการส่งออกไก่ที่ยังสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ราคาไก่ปรับตัวขึ้นราว 7% จากไตรมาสก่อน มาอยู่ที่เฉลี่ย 40 บาท/กก. ขณะที่อัตรากําไรขั้นต้นคาดปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ราว 10.4% จาก 8.5% ในไตรมาส 4/66 ซึ่งเป็นผลจากต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวลง ด้านธุรกิจในกัมพูชาคาดขาดทุนเนื่องจากราคาหมูตกต่ำจากปัญหาหมูลักลอบนําเข้าเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตามคาดว่าจะเห็นการพลิกกลับมาเป็นกําไรในไตรมาส 2/67 ได้ เนื่องจากราคาหมูในช่วงเดือน เม.ย.เริ่มกลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุปทานเริ่มลดลง (อาจเป็นการลดลงของหมูเถื่อน บวกกับการร่วมมือกันลดกําลังการผลิตของผู้ผลิตรายใหญ่) ขณะที่แนวโน้มราคาไก่ยังดีต่อเนื่องจากการส่งออกในอีกด้านหนึ่งไตรมาสนี้จะสามารถรับรู้ต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลงได้เต็มที่เนื่องจากได้มีการใช้สต็อกราคาสูงหมด ทั้งนี้หากราคาหมูยังยืนในระดับปัจจุบันได้ จะทําให้อัตรากําไรขั้นต้นของธุรกิจหมูกลับมาเป็นบวก และอาจเห็นปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากความร่วมมือในการลดกําลังการผลิตของผู้ผลิตรายใหญ่เพิ่มเติม จึงยังคงประมาณการกําไรปี 2567 ที่ 1,564 ล้านบาท พลิกจากขาดทุนในปี 2566

ดังนั้นคงราคาเป้าหมายปี 2567 ที่ 24 บาท อิง PBV ที่ 1.5 เท่า ราคาหุ้นที่อ่อนตัวลงมาทําให้เริ่มมี Upside จึงปรับคำแนะนําเป็น “ซื้อ” จากเดิมที่แนะนํา “ซื้อเมื่ออ่อนตัว”

X
Back to top button