FSMART รายได้บริการเติมเงินพุ่ง-ต้นทุนลด ดันกำไร Q1 แตะ 93 ล้านบาท

FSMART รายงานงบไตรมาส 1/67 กำไรสุทธิ 93 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อนมีกำไร 78 ล้านบาท รับรายได้บริการเติมเงิน และรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น รวมถึงต้นทุนบริการลดลง


บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ FSMART รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2567 ดังนี้

สำหรับ FSMART รายงานผลประกอบการงวดไตรมาส 1/67 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 93.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.31% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 77.67 ล้านบาท เป็นผลมาจากรายได้รวมจากธุรกิจหลัก 551.39 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น 8.2% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่มาจากรายได้จากการให้บริการผ่านเครื่องรับชำระเงินอัตโนมัติ 436.86 ล้านบาท เพิ่มขึ้น12.8% จากยอดการใช้บริการเติมเงินเข้า E-Wallet และ VAS ผ่านตู้บุญเติมที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งเพิ่มบริการใหม่ๆ เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงบริการทางการเงินเพิ่มมากขึ้น สะท้อนถึงความสะดวกสบายในการใช้บริการผ่านช่องทางของบริษัทและยังมีความต้องการบริการอยู่อย่างมาก

นอกจากนี้มีรายได้ดอกเบี้ย 15.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 107.3% เนื่องจากการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อและโปรแกรมทางการขายต่างๆ เช่น การให้สินเชื่อเครื่องใช้ไฟฟ้า

ขณะที่ต้นทุนการบริการ 401.38 ล้านบาท ลดลง 3.1% เนื่องจากบริษัทมีการควบคุมต้นทุนให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง

นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ FSMART กล่าวว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2567 บริษัทมีรายได้ 551.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน 8.2% ที่มีรายได้ 509.56 ล้านบาท และ 2% จากไตรมาสที่ผ่านมา ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 93.45 ล้านบาท 20.3% จากไตรมาส 1/2566 ที่มีกำไร 77.67 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น  19.2% จากไตรมาส 4 ปีก่อน โดยการเพิ่มขึ้นของรายได้และกำไรดังกล่าว มาจากทุกกลุ่มธุรกิจที่ฟื้นตัว ควบคู่กับการปรับเปลี่ยนการบริการที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้าที่บริษัทวางแผนไว้

สำหรับการดำเนินงานในปี 2567 บริษัทมุ่งมั่นบริหารงานทุกกลุ่มธุรกิจให้เติบโต โดยเฉพาะธุรกิจการเงินและสินเชื่อครบวงจรบริษัทวางแผนเป็นตัวแทนธนาคารเพิ่มอย่างน้อย 1 ราย จากเดิมที่มีอยู่ 8 ธนาคาร พร้อมขยายช่องทางเคาน์เตอร์แคชเชียร์ในร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้าชั้นนำร่วมกับพาร์ทเนอร์เพิ่มเติมอย่างน้อย 1 ราย อีกทั้ง บริการสำหรับลูกค้าต่างด้าว (CLMV) สามารถทำรายการฝากและโอนผ่านได้ตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย ขณะเดียวกัน จะขยายการให้วงเงินสินเชื่อสำหรับกลุ่มลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ที่มีสมาชิกมากกว่า 1 ล้านคน เพิ่ม 500-800 ล้านบาท โดยมีการบริหารการจัดเก็บหนี้ด้วยการหักบัญชีธนาคารจ่ายชำระรายเดือน

ขณะที่ธุรกิจเติมเงิน-รับชำระเงินอัตโนมัติที่เป็นรายได้หลักจะเน้นให้บริการทางการเงินครบวงจรเข้าสู่ชุมชนด้วยจุดติดตั้งตู้บุญเติมมากกว่า 123,000 จุดเพื่อความสะดวกและเข้าถึงบริการ เช่นเดียวกับการขยายช่องทางเคาน์เตอร์แคชเชียร์เพิ่มเติม ให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการของบริษัทมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังจะเพิ่มบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการในปัจจุบัน อาทิ การเติมอินเตอร์เน็ตแพ็คเกจ การเติมเงินเข้า Wallet ที่มียอดการเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน พร้อมขยายบริการทางการเงินเพื่อรองรับการใช้บริการของกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทย รวมไปถึงจัดกิจกรรมทางการตลาดเพื่อกระตุ้นการใช้งานให้มากขึ้นด้วย

นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวถึงกลุ่มธุรกิจเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติและเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าว่า บริษัทยังคงเดินหน้าขยายจุดติดตั้งเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า GINKA Charge point ให้ได้ 1,000 จุดทั่วประเทศเพื่อสอดรับกับจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น โดยบริษัทได้เปิดให้บริการเครื่องชาร์จแบบ AC ไปแล้วมากกว่า 100 จุดบริการ ด้วยจุดเด่นเครื่องที่ผลิตและพัฒนาโดยเครือ FORTH บริษัทของคนไทย สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และปรับปรุงคุณภาพให้ตอบโจทย์ความต้องการใช้งานที่ง่าย สะดวก

สำหรับลูกค้าให้สามารถเข้าถึงบริการได้ไม่ต้องใช้แอปพลิคชันในการใช้บริการ และสามารถเก็บเครดิตคงเหลือไว้ใช้ในการทำรายการครั้งถัดไปได้ ล่าสุดบริษัทเตรียมนำเครื่องชาร์จระบบ DC เครื่องเล็กระบบไฟ  40 กิโลวัตต์มาเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่สนใจ อีกทั้งยังช่วยแก้ pain point สำหรับเจ้าของพื้นที่ที่ต้องการเครื่องชาร์จเร็วรองรับผู้ใช้งานนอกเหนือจากการเข้าชาร์จในสถานีบริการขนาดใหญ่ คาดว่าจะผลิตพร้อมให้บริการได้ในไตรมาส 3 ปีนี้

นอกจากนี้ บริษัทยังวางแผนบริหารจัดการคาเฟ่เต่าบิน ร่วมกับ GINKA Charge Point ที่ FSMART จะเป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดการ โดย 2 โมเดลใหม่ ได้แก่ แบบแรกบริการในลักษณะปั๊ม (EV Station) ที่จะมีร้านคาเฟ่และอาหารรูปแบบเคาน์เตอร์อัตโนมัติ 24 ชั่วโมง โดยมีพื้นที่นั่งและเครื่องจำหน่ายอัตโนมัติในรูปแบบการให้บริการด้วยตนเอง เช่น เคาน์เตอร์เครื่องดื่มชงสดอัตโนมัติเต่าบินที่มีเมนูหลากหลายและชงพร้อมกันได้หลายแก้ว เคาน์เตอร์อัตโนมัติจำหน่ายอาหารพร้อมทานต่าง ๆ เช่น ก๋วยเตี๋ยว ลูกชิ้นทอด ไอศกรีมซอฟเซิร์ฟ เป็นต้น ส่วนแบบที่สองจะเป็นคาเฟ่เต่าบินรูปแบบร้านเล็กๆในจุดพักระหว่างเดินทางที่มีเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า (GINKA) ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจะเปิดให้บริการแห่งแรกในปีนี้

ส่วนตู้จำหน่ายเครื่องดื่มชงสดอัตโนมัติ “เต่าบิน” โรโบติกบาริสต้า มียอดขายเฉลี่ยดีขึ้นทุกเดือนตั้งแต่ต้นปี ส่งผลดีให้มียอดจำหน่ายไปมากกว่า 150 ล้านแก้ว ซึ่งล่าสุดจัดรายการส่งเสริมการขายให้ลูกค้ากลุ่มใหม่ลงทะเบียนผ่านไลน์ เพื่อแลกซื้อเครื่องดื่มในราคาเพียง 1 บาท มุ่งเน้นเมนูกาแฟ 500,000 แก้ว และเมนูชูกำลัง (เต่าทรงพลัง) 500,000 แก้ว รวมทั้งหมด 1 ล้านแก้ว เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าใหม่ได้ลองใช้บริการและสร้างการซื้อซ้ำทั้งจากลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ ควบคู่กับการเลือกทำเลที่มีทั้งศักยภาพที่ดี โดยมั่นใจและยังคงเป้าหมายที่จะขยายจุดบริการ 20,000 จุดทั่วประเทศ ภายใน 3 ปี ซึ่ง FSMART จะได้รับค่าบริการการให้บริการระบบรับชำระเงินในตู้เต่าบิน และรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุน  (Equity Income Method) ในบริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด จากการถือหุ้น 26.71%

Back to top button