“กฤษฎีกา” ไขปมคุณสมบัติ “รมต.” พ้นโทษเกิน 10 ปี เข้าดำรงตำแหน่งได้

“กฤษฎีกา” ร่อนหนังสือแจงปมคุณสมบัติ “รัฐมนตรี” ต้องไม่เคยรับโทษจำคุก ชี้หากพ้นโทษเกิน 10 ปี นับว่า สามารถดำรงตำแหน่งได้...


ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ ( 20 พ.ค.67) ทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่งหนังสือตอบกลับของ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่องขอหารือเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรีตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยสอบถามไปเมื่อวันที่ 31 ส.ค. 66 และทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาทำหนังสือตอบกลับเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 66

โดยเนื้อหาในหนังสือตอบกลับของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาลงชื่อ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่า ตามหนังสือที่อ้างถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรีเฉพาะตามมาตรา 16 (6) ประกอบกับมาตรา 98 (7) และมาตรา 160 (7) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยความละเอียดทราบแล้วนั้น

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาขอเรียนว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้พิจารณาข้อหารือดังกล่าว โดยมีผู้แทนสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงรวมถึงมีความเห็นในแต่ละประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง เห็นว่า มาตรา 160 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นบทบัญญัติที่กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลซึ่งจะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี โดยใน (6) ของมาตราดังกล่าวบัญญัติว่ารัฐมนตรีต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 ซึ่งมาตรา 98 (3) กำหนดลักษณะต้องห้ามไว้ว่า “เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลทุโทษ”

ดังนั้นการได้รับโทษจำคุกไม่ว่าโดยคำพิพากษาหรือคำสั่งใดจึงเป็นลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี บุคคลซึ่งเคยได้รับโทษจำคุกในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลจึงเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามดังกล่าว เว้นแต่บุคคลนั้นได้พันโทษเกินสิบปีแล้ว หรือได้รับโทษจำคุกในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลทุโทษอันเป็นข้อยกเว้นที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้

ประเด็นที่สอง เห็นว่า มาตรา 160 (7) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติไว้ชัดเจนว่ารัฐมนตรีต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษเว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลทุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวไม่รวมถึงคำสั่งให้จำคุก ดังนั้น ผู้ซึ่งจะได้รับการแต่งตั้งให้ตำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี จึงต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก

ทั้งนี้การให้ความเห็นในกรณีนี้เป็นการตอบข้อหารือตามที่ผู้แทนสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ขี้แจงต่อกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ว่าประสงค์จะขอหารือเฉพาะกรณีมาตรา 16 (6) ประกอบกับมาตรา 98 (7) และมาตรา 160 (4) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเท่านั้น

อนึ่งข้อหารือนี่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอันเป็นหน้าที่ และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัย การวินิจฉัยชี้ขาดเป็นที่สุด ย่อมเป็นหน้าที่และอำนาจของศาสรัฐธรรมนูญ การให้ความเห็นในกรณีนี้ จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น

Back to top button