NEX รูดอีก 18% เจอฟอร์ซเซลถล่มซ้ำ พ่วงลือหึ่ง “ผู้ถือหุ้นใหญ่” หนี้ท่วม

NEX เจอฟอร์ซเซลถล่มซ้ำ กดราคารูดต่อ 18% สะพัดผู้ถือหุ้นใหญ่ติดหนี้เพียบ ทั้งถือหุ้นด้วยบัญชีมาร์จิ้น วงในเผยมีการกู้ยืมจากบุคคล-นิติบุคคลและกองทุนภายนอกอีกจำนวนมาก โดยใช้ “หุ้นเน็กซ์ พอยท์” เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน หวั่นรูดหนักแบบนี้หากไม่มีการเติมหลักทรัพย์เพิ่ม ส่อโดน “บังคับขาย” อีกระลอก ขณะที่บล.บัวหลวง หั่นเป้าเหลือ 4.40 บาทเท่านั้น


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (24 พ.ค. 67) ราคาหุ้นบริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX ณ เวลา 10:03 น. อยู่ที่ระดับ 2.60 บาท ลบไป 0.56 บาท หรือ 17.72% สูงสุดที่ระดับ 3.04 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 2.56 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 232.10 ล้านบาท

สำหรับราคาหุ้นปรับตัวลงหนักอย่างต่อเนื่อง จากการตรวจสอบเบื้องต้น เป็นผลมาจากหุ้นถูก Forced Sell (ถูกการบังคับขาย) เนื่องจากพบว่าผู้ถือหุ้นใหญ่ NEX ถือครองหุ้น NEX ด้วยบัญชีมาร์จิ้นเป็นจำนวนมาก และนั่นจึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ราคาหุ้น NEX ปรับลงแรงตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา จนถึงล่าสุด (23 พ.ค. 2567) ปรับตัวลงมากว่า 63.89%

แหล่งข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์ เปิดเผยว่า นอกเหนือจากผู้ถือหุ้นใหญ่ของ NEX ดังกล่าวจะถือครองหุ้น NEX ด้วยบัญชีมาร์จิ้นแล้ว ยังพบอีกว่ามีการกู้ยืมเงินจำนวนมาก ทั้งจากบุคคล, นิติบุคคล และกองทุนต่าง ๆ โดยใช้หุ้น NEX เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ด้วยวิธีการดังกล่าว หากราคาหุ้น NEX ปรับตัวลงมาจนต่ำกว่ามูลค่าหลักประกันที่กำหนดไว้ นั่นหมายถึงจะต้องมีการเติมหลักประกันเพิ่ม มิเช่นนั้นจะถูกบังคับขายหุ้น NEX

เฉกเช่นเดียวกับกรณีการถูกฟอร์ซเซลจากการใช้บัญชีมาร์จิ้นที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ขณะนี้ แต่อย่างไรก็ตามล่าสุดยังไม่มีข้อเท็จจริงที่สรุปชัดเจนอย่างเป็นทางการว่าตัวเลขจำนวนหนี้มีอยู่เท่าไหร่ และมีการถูกบังคับขายบางส่วนแล้วหรือไม่

ขณะที่ข้อมูลเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 67 พบว่ามีปริมาณขายชอร์ตที่ยังไม่ได้ซื้อคืน จำนวน 2.13 ล้านหุ้น (ยอด Short Sales สะสมที่ยังไม่ได้ซื้อคืน 2.90 แสนหุ้น)

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลงบการเงินสิ้นสุดไตรมาส 1/2567 พบว่า NEX มีความเสี่ยงทางการเงินสูงอยู่หลายจุด ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเริ่มจากเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด 377.24 ล้านบาท มีลูกหนี้การค้า 5,600 ล้านบาท ขณะที่ระยะเวลาเก็บหนี้เฉลี่ย (A/R day) ที่ใช้วัดความสามารถในการเรียกเก็บหนี้ทางการค้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยปี 2562 อยู่ที่ 58.05 วัน ปี 2563 อยู่ที่ 32.73 วัน ปี 2564 อยู่ที่ 89.75 วัน ปี 2565 อยู่ที่ 100.53 วัน ปี 2566 อยู่ที่ 132.70 วัน ล่าสุดไตรมาส 1/2567 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 184.20 วัน ถือว่า “แย่ลง” อย่างชัดเจน

สำหรับระยะเวลาขายสินค้าโดยเฉลี่ยที่ใช้วัดความสามารถในการขายสินค้า พบว่า “แย่ลง” มาอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากปี 2562 อยู่ที่ 11.25 วัน ปี 2563 อยู่ที่ 21.16 วัน ปี 2564 อยู่ที่ 153.79 วัน ปี 2565 อยู่ที่ 25.02 วัน ปี 2566 อยู่ที่ 72.11 วัน ล่าสุดไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 84.93 วัน

ส่วนระยะเวลาชำระหนี้เฉลี่ย (A/P day) หรือจำนวนวันในรอบปีบัญชีที่บริษัทชำระหนี้ ที่ใช้วัดความสามารถในการชำระหนี้ ถือว่า “ดีขึ้น” จากปี 2562 อยู่ที่ 56.22 วัน ปี 2563 อยู่ที่ 36.71 วัน ปี 2564 อยู่ที่ 110.34 วัน ปี 2565 อยู่ที่ 118.67 วัน ปี 2566 อยู่ที่ 210.68 วัน และล่าสุดไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 287.07 วัน แต่ว่า EBITDA Margin ที่ชี้วัดถึงความสามารถในการทำกำไร ถือว่ามีสถิติ “แย่ลง” โดยปี 2562 อยู่ที่ -14.61% ปี 2563 อยู่ที่ -12.42% ปี 2564 อยู่ที่ -16.88% ปี 2565 อยู่ที่ 4.61% ปี 2566 อยู่ที่ 9.67% ล่าสุดไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 3.51%

ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จํากัด (มหาชน) หรือ BYD ออกบทวิเคราะห์เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2567 กำหนดคำแนะนำ “ซื้อ” หุ้น NEX ราคาเป้าหมาย 17.80 บาท โดยมองว่าหุ้น NEX มีความน่าสนใจอย่างมาก 1) ซื้อขายที่ P/E  6.1 เท่า เทียบกับ P/E กลุ่ม EV ทั่วโลกที่มีค่าเฉลี่ยมากกว่า 20-30 เท่า

2) แนวโน้มกำไรสุทธิรายไตรมาสแข็งแกร่งขึ้นตามลำดับ เริ่มจากกำไรสุทธิ 49 ล้านบาทในไตรมาส 1/2567, กำไรสุทธิ 100 ล้านบาท ในไตรมาส 2/2567, กำไรสุทธิ 600 ล้านบาท ในไตรมาส 3/2567, กำไรสุทธิ 700 ล้านบาท ในไตรมาส 4/2567 และ 3) แนวโน้มการเติบโตของยอดขายในอนาคตจากการผลิต EV ที่มั่นคง จาก Absolute Assembly (AAB) ซึ่งเป็นโรงงานผลิตของ NEX (ถือหุ้น 40%) และ EA (ถือหุ้น 60%)

ทั้งนี้ ประเมินว่าคำสั่งซื้อ EV เชิงพาณิชย์อยู่ที่ 3,000-5,000 คันช่วงปีนี้  โดยจะเพิ่มขึ้นเป็น 40,000-60,000 คันตามสัญญาระยะยาว 5-10 ปี

อย่างไรก็ดี ล่าสุด (23 พ.ค. 2567) บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ราคาหุ้น NEX ปรับตัวลงแรง หลังจากงบไตรมาส 1/2567 โดยภาพกำไรขั้นต้นลดลงและส่วนแบ่งขาดทุนจากโรงงานแอ๊บโซลูท แอสเซมบลี (Absolute assembly) จึงคาดว่า ช่วงไตรมาส 2/2567 จะมีลักษณะคล้ายกัน แต่อาจเห็นภาพรวมส่วนแบ่งกำไรบริษัทร่วมพลิกเป็นบวก เพราะมีการรวมงบบริษัท เทอร์ราไบท์ พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ TERA เข้ามาด้วยช่วงไตรมาส 2/2567 ขณะที่กำไรขั้นต้นจะฟื้นตัวเล็กน้อย และจะไม่ถึงระดับ 10% อย่างที่เคยทำได้ช่วงก่อนหน้านี้

สำหรับภาพรวมทั้งปี 2567 คาดว่ายอดส่งมอบรถจะอยู่ที่ 3,000 คัน (ต่ำกว่าเป้าหมาย NEX ที่วางไว้ 5,556 คัน) โดยคาดว่ายอดซื้อจะเข้ามามากขึ้นช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนกำไรขั้นต้นจะลดลงตามสัดส่วนสินค้าและบริษัท แอ๊บโซลูท แอสเซมบลี จำกัด ( AAB) ที่ยังต้องใช้เวลาเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิตอีกระยะหนึ่ง

ดังนั้น จึงปรับประมาณการลดกำไรปี 2567 ของ NEX ลงมาอีก 19% เหลือ 574 ล้านบาท เนื่องจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการส่งมอบรถ EV และแนวโน้มการเติบโตของกำไรที่อ่อนแอ พร้อมปรับลดเป้าหมาย PER ลงมาอยู่ที่ 16 เท่าจะได้ราคาเป้าหมายใหม่ 4.40 บาท แนะนำ “ถือ” รอจังหวะการลงทุน ภายหลังงบการเงินไตรมาส 2/2567 ออกมาแล้ว จะมีการปรับประมาณการและคำแนะนำอย่างไรต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลข้างต้นเห็นได้ชัดว่าทั้ง 2 โบรกเกอร์ มีมุมมองหุ้น NEX ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เป็นได้ว่าทั้งสองแห่งมีการใช้ข้อมูลและสมมติฐานที่ต่างกันไป อย่างไรก็ดีต้องจับตาหลังงบการเงินไตรมาส 2/2567 ออกมา จะมีการปรับ

นายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NEX เปิดเผยว่า ล่าสุดบริษัทได้ลงนามบันทึกตกลงความเข้าใจ (MOU) เพื่อลงทุนตั้งไลน์การประกอบรถ Mini SUV ของบริษัท DAYUN แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย พร้อมเปิดรับดีลเลอร์เพื่อทำการตลาดและขายรถของบริษัท DAYUN เพิ่มเติม

โดยรถ Mini SUV ที่จะนำมาผลิตและประกอบในประเทศไทยมีจุดเด่นคือภายนอกมีขนาดที่กะทัดรัด แต่ภายในกว้างขวาง มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย อีกทั้งยังมีช่วงล่างอิสระคอยสปริง 4 ล้อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการยึดเกาะถนน โดยคาดว่าจะมีราคาเปิดตัวต่ำกว่า 490,000 บาท เพื่อเจาะตลาดนักเรียน นักศึกษา และพนักงานประจำ

ทั้งนี้ DAYUN Group เป็นบริษัทจีนที่มุ่งเน้นผลิตและประกอบรถเชิงพาณิชย์เป็นหลัก โดยได้เริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก (Mini SUV) ราคาประหยัดซึ่งสามารถขายได้กว่า 20,000 คัน ในปัจจุบัน  มีทุนจดทะเบียนถึงกว่า 5,000 ล้านบาท การร่วมมือกันครั้งนี้ จะมุ่งเน้นการผลิตและประกอบรถ Mini SUV เป็นหลัก โดยมีเป้าหมายมุ่งเน้นกลุ่ม ECO CAR ในประเทศไทยที่ปีที่แล้ว มีจำนวนรถจดทะเบียนเกือบ 100,000 คัน

Back to top button