บอร์ด AI แห่งชาติ เล็งประชุมนัดแรก! เคาะแผนลงทุน 5 แสนล้าน ดันไทยสู่ผู้นำภูมิภาค

บอร์ด AI แห่งชาติ” ประชุมนัดแรก เคาะแนวทางการขับเคลื่อน AI มูลค่าไม่น้อยกว่า 500,000 ล้านบาท สร้างความพร้อมประเทศไทย ขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาระดับสูง


ผู้สื่อข่าวรายงาน (1 พฤษภาคม 2568) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อพัฒนาประเทศไทย ครั้งที่ 1/2568 ซึ่งได้มีการกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อให้ประเทศไทยมีระบบนิเวศที่จะสามารถผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนปัญญาประดิษฐ์ของภูมิภาค และสร้างการเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจของประเทศ

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการฯ กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ได้กำหนดแนวทางในการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ของประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนากำลังคนด้าน AI ให้มีจำนวนเพียงพอ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐาน โดยตั้งเป้าหมายที่จะต้องมีการสร้างความรู้ให้แก่บุคลากรที่เป็น AI User ไม่น้อยกว่า 10,000,000 คน AI Professional ไม่น้อยกว่า 90,000 คน และ AI Developer ที่ไม่น้อยกว่า 50,000 คน ภายในเวลา 2 ปี

นอกจากนี้ จะมีการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบคลาวด์ Data Center ระบบประมวลผล GPU และการพัฒนาแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์เปิด (Open Source AI Platform) ให้เพียงพอ

เพื่อส่งเสริมการขยายตัวของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในราคาที่เหมาะสม รวมไปถึงการจัดตั้งศูนย์ข้อมูล (Data Bank) ที่จะรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา AI ในสาขาต่าง ๆ ในส่วนข้อมูลภาครัฐ จะส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐปรับตัวให้เป็นระบบดิจิทัลทั้งหมดภายในปี 2569

คาดว่าการลงทุนด้านโครงสร้างเหล่านี้ จะมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 500,000 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนของรัฐบาลและภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศประกอบกัน

สำหรับการส่งเสริมการประยุกต์ใช้ AI ในงานธุรกิจและอุตสาหกรรมนั้น จะมุ่งเน้นสาขาที่สนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคมเป็นหลัก เช่น การสาธารณสุข การท่องเที่ยว และเกษตรกรรม เป็นต้น ซึ่งการประยุกต์ใช้ AI จะส่งผลให้การแพทย์ของไทยมีประสิทธิภาพและยกระดับขึ้นเป็นศูนย์กลางของการรักษาพยาบาลในอาเซียนได้ พร้อมกับยกระดับการท่องเที่ยวทั้งในด้านจำนวนนักท่องเที่ยวและการใช้จ่าย อีกทั้งการใช้ AI ด้านการเกษตรจะทำให้การเพาะปลูกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างผลผลิตที่สูงขึ้น และสามารถทำงานด้านการพาณิชย์และตลาดอย่างตรงเป้าอีกด้วย ซึ่งคาดว่าการสนับสนุนการประยุกต์ใช้ AI ในด้านต่าง ๆ จะส่งผลดีต่อบริการสาธารณสุข อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเกษตรกรไทยเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ เพื่อเร่งการประยุกต์ใช้ AI รัฐบาลจะสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์แห่งความเป็นเลิศเพื่อบูรณาการการทำงานด้าน AI ในแต่ละสาขาร่วมกับภาคเอกชนอย่างเป็นระบบต่อไป

Back to top button