ลุยต่อ! “สนธิญา” จ่อส่งเอกสาร ป.ป.ช. เพิ่ม ปม “พีระพันธุ์” ถือหุ้นบริษัทเอกชนส่อขัด รธน.

“สนธิญา สวัสดี” เตรียมยื่นเอกสารเพิ่มเติมให้กับ ป.ป.ช. ในวันพรุ่งนี้ (2 พ.ค.68) ขอให้ไต่สวน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ปมถือหุ้นใน 4 บริษัทเอกชน อาจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญและขัดผลประโยชน์ทับซ้อน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันพรุ่งนี้ (2 พ.ค.68) เวลา 10:30 น. นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการ และผู้ติดตามตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เตรียมเดินทางเข้ายื่นเอกสารเพิ่มเติมต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  เพื่อขอให้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รวมถึงหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ

1.ในประเด็นเกี่ยวกับ นายพีระพันธุ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รวมถึงหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ พบว่าเขาเป็นกรรมการบริษัทและถือหุ้นในบริษัท รพีโสภาค รวมถึงบริษัทอื่น ๆ รวมทั้งหมด 4 บริษัท ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 187 ประกอบกับพระราชบัญญัติหุ้นส่วนและหุ้นของคณะรัฐมนตรี รวมถึงพระราชบัญญัติการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ.ศ. 2561 โดยเฉพาะในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการขัดกันแห่งผลประโยชน์

นอกจากนี้ ยังพบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากงบการเงินในรอบบัญชีวันที่ 1 มิถุนายน 2566 ถึง 31 ธันวาคม 2567 จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งแสดงว่า นางโสภาพรรณ สาลีรัฐวิภาค มารดาของนายพีระพันธุ์เสียชีวิต และหุ้นที่เป็นมรดกไม่ได้มีการจัดการปันทรัพย์มรดกแต่อย่างใด ซึ่งเป็นการยึดถือหุ้นเพื่อประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่ได้จัดการในระยะเวลาเกิน 5 ปี จึงถือเป็นการครอบครองทรัพย์สินในลักษณะปรปักษ์ เพราะหุ้นถือเป็นสังหาริมทรัพย์ชนิดหนึ่ง

อีกทั้งยังพบว่ามีการกู้ยืมเพื่อการลงทุนรวม 14 ล้านบาท ในขณะที่นายพีระพันธุ์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลเศรษฐา และยังคงสถานะกรรมการบริษัทบางแห่งก่อนจะลาออกในรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร

โดยการกระทำดังกล่าวอาจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 167 และยังต้องตรวจสอบว่ามีการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จหรือไม่ รวมถึงการเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์สาธารณะ ซึ่งเป็นการกระทำที่อาจถือเป็นจริยธรรมร้ายแรงตามข้อกำหนดจริยธรรมของคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2561 หรือไม่ โดยเอกสารที่ได้ยื่นไปแล้วที่เลขรับที่ 13824 เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 จะถูกนำไปพิจารณาต่อไป

2.ยื่นเอกสารเพิ่มเติมเพื่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนและตรวจสอบข้อเท็จจริงตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 234(1) ประกอบมาตรา 235 วรรคหนึ่ง โดยเกี่ยวข้องกับการกระทำที่อาจฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 219 และข้อกำหนดต่าง ๆ ที่กล่าวถึงในข้อที่ 7, 8, 11, 17, 22 และ 27 ซึ่งได้ขอให้ ป.ป.ช. พิจารณาและไต่สวนตามขั้นตอนต่อไป.

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลการถือหุ้นพบว่า นายพีระพันธุ์ เป็นกรรมการและถือหุ้นในบริษัทเอกชน 4 แห่ง ดังนี้

1.บริษัท วีพี แอโร่เทค จำกัด (VP AEROTECH COMPANY LIMITED) จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2532 ด้วยทุนจดทะเบียนจำนวน 80,000,000 บาท ประกอบกิจการการเช่าและการดำเนินการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของ ตนเองหรือเช่าจากผู้อื่นที่ไม่ใช่เพื่อเป็นที่พักอาศัย

โดย นายพีระพันธุ์ ถือหุ้นจำนวน 588,500 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 73.58 ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด บริษัทมีคณะกรรมการ 3 คน ได้แก่ พลโท เจียรนัย วงศ์สอาด นายสยาม บางกุลธรรม และร้อยเอก พีระภัฏ บุญเจริญ ทั้งนี้ บริษัทมีสถานะทางทะเบียนเป็นกิจการที่ยังดำเนินการอยู่ ตามข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

2.บริษัท พี แอนด์ เอส แลนด์ แอนด์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (P & S HOLDING LIMITED) จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2532 ด้วยทุนจดทะเบียนจำนวน 5,000,000 บาท โดยมีวัตถุประสงค์ ซื้อ ขาย เช่า ให้เช่าที่ดินและสังหาริมทรัพย์เช่าและให้เช่ารถยนต์ขายฝาก จำนอง แลกเปลี่ยนและจัดหาที่ดิน

โดย นายพีระพันธุ์ ถือหุ้นในบริษัทจำนวน 46,500 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 93 ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด ซึ่งบริษัทมีคณะกรรมการจำนวน 2 ท่าน ได้แก่ นางสาวกนกวรรณ ลิ้มสุวรรณ และ พลโท เจียรนัย วงศ์สะอาด

3.บริษัท รพีโสภาค จำกัด (RABHISOBHAGA COMPANY LIMITED) จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2556 ด้วยทุนจดทะเบียนจำนวน 3,000,000 บาท โดยมีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

โดย นายพีระพันธุ์ ถือหุ้นในบริษัทจำนวน 22,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 73.33 ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด บริษัทฯ มีคณะกรรมการจำนวน 2 ท่าน ได้แก่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค และ นางโสภาพรรณ สาลีรัฐวิภาค

4.บริษัท โสภา คอลเล็คชั่นส์ จำกัด (SOPA COLLECTIONS COMPANY LIMITED) จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2561 ด้วยทุนจดทะเบียนจำนวน 1,000,000 บาท โดยมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจการผลิตเครื่องประดับจากอัญมณีและโลหะมีค่า

โดย นายพีระพันธุ์ ถือหุ้นในบริษัทจำนวน 1,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10 ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด บริษัทนี้มีคณะกรรมการ 1 ท่าน ได้แก่ นางสาวภัทรพรรณ สาลีรัฐวิภาค

แหล่งข่าวในแวดวงด้านกฎหมายให้ข้อมูลเพิ่มเติมในประเด็นนี้ การยื่นเรื่องของนายสนธิญา จะเปิดช่องให้มีการตีความใน 2 ประเด็นหลัก เริ่มจากประเด็นการขัดกับบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ เพราะแม้ข้อเท็จจริงนายพีระพันธุ์ ได้ทำสัญญาโอนสิทธิบริหารหุ้นให้นิติบุคคลจัดการ แต่ยังไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์หุ้นจริง ยังถือหุ้นอยู่ตามข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และยังมีสถานะเป็นกรรมการในบางบริษัท ซึ่งมีอำนาจลงนามและบริหารกิจการอยู่จริง ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 187 วรรคสาม ที่ห้ามรัฐมนตรียุ่งเกี่ยวกับบริษัทเอกชน

นอกจากนี้ หากเทียบเคียงกับกรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในการตีความวัตถุประสงค์การจัดตั้งนิติบุคคลในหนังสือบริคณห์สนธิแล้ว มีหนึ่งข้อที่มีการระบุเกี่ยวกับการประกอบกิจการหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชน อันเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) และมาตรา 160(6) ที่ระบุชัดเจนว่า ห้ามรัฐมนตรี หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. ถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชนโดยเด็ดขาด

ข้อนี้ถือเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่วันยื่นสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรครวมไทยสร้างชาติ แม้จะลาออกจากตำแหน่งไปแล้ว ก็ไม่ลบล้างความผิด และ กกต.สามารถดำเนินการสอบสวนเอาผิดย้อนหลังได้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำวินิจฉัยในเรื่องนี้ไว้แล้ว

ส่วนอีกประเด็นคือเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนและการบริหารจัดการที่อาจขัดต่อกฎหมาย เนื่องจากในรายชื่อคณะกรรมการบริษัทที่นายพีระพันธุ์ถือหุ้นมีชื่อของ พล.ท.เจียรนัย วงศ์สะอาด ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ทำให้เกิดข้อสงสัยในเรื่องนี้ และเป็นที่มาที่มีการยื่นเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ  เพื่อให้นายพีระพันธุ์ได้ชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะเรื่องนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาลที่อาจตามมาซึ่งการร้องเรียนให้ตรวจสอบการปฎิบัติหน้าที่ของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในการแต่งตั้งบุคคลเข้ามาเป็นรัฐมนตรีตามที่เคยมีคดีตัวอย่างมาแล้วก่อนหน้านี้

Back to top button