
STPI วิ่ง 7% รับข่าวเปิดสวิตช์ “มอนสูน” ขายไฟเวียดนาม 600 เมกะวัตต์
STPI วิ่ง 7% เดินเครื่องโครงการมอนสูน โรงไฟฟ้าพลังงานลมใหญ่สุดในอาเซียน 600 เมกะวัตต์ ที่สปป.ลาว รับรู้กำไรปีนี้ 60-70 ล้านบาท พร้อมเซ็นเอ็มโอยูดึงนักลงทุนรายใหญ่จากจีน สหรัฐฯ และยุโรป ร่วมพัฒนา Green Data Center 100 MW
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (8 พ.ค.68) ราคาหุ้น บริษัท เอสทีพี แอนด์ ไอ จำกัด (มหาชน) หรือ STPI ณ เวลา 10:09 น. อยู่ที่ระดับ 2.62 บาท บวก 0.18 บาท หรือ 7.04% สูงสุดที่ระดับ 2.72 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 2.58 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 5.25 ล้านบาท
นายมาศถวิน ชาญวีรกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสทีพี แอนด์ ไอ จำกัด (มหาชน) หรือ STPI เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า โครงการมอนสูน ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ใหญ่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ (MW) มูลค่าโครงการสูงกว่า 930 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 30,000 ล้านบาท) ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เมืองดากจึง แขวงเซกอง และเมืองซานไซ แขวงอัตตะปือ ทางตอนใต้ของสปป.ลาว มีพื้นที่ 68,000 เฮกตาร์ (425,000 ไร่) เตรียมที่จะจ่ายไฟเข้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์ หรือ COD ในกลางเดือนพฤษภาคมนี้
โดยโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมมอนสูน STPI ถือหุ้นอยู่ประมาณ 16% จะรับรู้กำไรทันที หลังจากเดินเครื่องส่งกระแสไฟฟ้าให้กับสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สำหรับปีนี้บริษัทจะรับรู้กำไรประมาณ 60-70 ล้านบาท และรับรู้กำไรเต็มปีในปี 2569 ประมาณ 150 ล้านบาทต่อปี
“โครงการดังกล่าวสามารถสร้างเสร็จก่อนกำหนดถึง 5 เดือน (กำหนดเดิมเดือน ธ.ค. 68) โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2566 จะทำให้ได้เงินเข้าบริษัทเร็วขึ้น โดยมีบริษัท พาวเวอร์ไชน่า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างในครั้งนี้” นายมาศถวิน กล่าว
ทั้งนี้ โครงการมอนสูนมีสัญญาขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าเวียดนามเป็นเวลา 25 ปี ซึ่งก่อนจะขายไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ ได้มีการทดสอบส่งกระแสไฟฟ้าเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยได้กระแสไฟจากกังหันลมจำนวน 133 ต้น ส่งผ่านสายส่งขนาด 500 กิโลโวลต์ ไปยังนครดานัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม อัตรารับซื้อไฟฟ้า 0.0695 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง
สำหรับโครงการนี้พัฒนาโดยบริษัท มอนสูน วินด์ พาวเวอร์ จำกัด (Monsoon Wind Power Co., Ltd.) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท อิมแพค เอ็นเนอร์ยี่ เอเชีย ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (IEAD) จากประเทศไทย และบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG
ปัจจุบันบริษัท บีซีพีจี จำกัด (บริษัทในกลุ่มบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP) มีสัดส่วนการถือหุ้น 38.25% กำลังผลิตตามสัดส่วน 230 เมกะวัตต์ ขณะที่ STPI ถือหุ้นอยู่ประมาณ 16% กำลังผลิตตามสัดส่วน 96 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ยังมีกองทุนต่างประเทศอีก 2-3 ราย
นายมาศถวิน กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการมอนสูน ระยะที่ 2 กำลังการผลิต 1,000 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างการเจรจา และจะรู้ผลว่าจะได้เข้าร่วมงานภายในไตรมาส 3 นี้ โดยจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 5.5 เมกะวัตต์ต่อต้น เทียบกับเฟสแรกอยู่ที่ 4 เมกะวัตต์ต่อต้น
ทั้งนี้ บริษัทมั่นใจว่าจะได้สัดส่วนการถือหุ้นที่เพิ่มขึ้นมากกว่าโครงการระยะ 1 รวมทั้งปริมาณการขายไฟฟ้าด้วย ขณะนี้ได้ทำแปลนโครงสร้างต่าง ๆ เรียบร้อยหมดแล้ว หากได้ข้อสรุปก็สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ทันที โครงการดังกล่าวจะทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทเติบโตอย่างก้าวกระโดด
บริษัท เอสทีพี แอนด์ ไอ จำกัด (มหาชน) หรือ STPI รายงานผลประกอบการช่วงปี 2563 ถึง 2567 พบว่า มีความผันผวนสูง โดยเฉพาะปี 2563 บริษัทขาดทุนสุทธิสูงถึง 836.68 ล้านบาท นับเป็นปีที่มีผลขาดทุนมากสุดรอบ 5 ปี ขณะที่ปี 2564 พลิกกลับมามีกำไรสุทธิที่ 320.30 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ปี 2565 STPI กลับมาขาดทุนอีกครั้งที่ 144.90 ล้านบาท ก่อนที่จะมีกำไรสุทธิปี 2566 จำนวน 200.99 ล้านบาท และกำไรสุทธิปี 2567 ลดลงเหลือ 90.97 ล้านบาท เมื่อรวมผลกำไรและขาดทุนสุทธิช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2563–2567) STPI มียอดรวมสุทธิขาดทุนอยู่ที่ 369.32 ล้านบาท หรือเฉลี่ยขาดทุนสุทธิปีละ 73.86 ล้านบาท
สำหรับโครงการมอนสูน มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมพลังงานสะอาดและยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน โดยช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ไม่น้อยกว่า 750,000 ตันคาร์บอนเทียบเท่าต่อปี นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างประเทศในภูมิภาค และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของสปป.ลาว ผ่านการสร้างงานและโครงสร้างพื้นฐาน
ทั้งนี้ บริษัทได้ลงนามเอ็มโอยูกับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่จากประเทศจีน สหรัฐอเมริกา และยุโรป ที่สนใจร่วมพัฒนาโครงการ Green Data Center ขนาด 100 เมกะวัตต์ บนพื้นที่ของบริษัท ที่ ต.พลูตาหลวง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ประมาณ 300-400 ไร่ จากทั้งหมด 932 ไร่ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาข้อเสนอของผู้ร่วมลงทุนแต่ละราย
สำหรับโครงการดังกล่าวนี้จะใช้พลังงานสะอาดทั้งหมด ทำให้สามารถจำหน่ายไฟฟ้าในราคาที่จูงใจ การเจรจากับ User ระดับโลก เกี่ยวกับข้อตกลงด้านสัญญาและราคาค่าไฟฟ้า คาดว่าจะมีข้อสรุปภายในไตรมาส 3/2568 นี้ โดยเบื้องต้นบริษัทมีแผนก่อสร้างโครงการโซลาร์ฟาร์มขนาด 188 เมกะวัตต์ ที่ใช้ในเวลากลางวัน และใช้แบตเตอรี่ Maximum Capacity 20 เมกะวัตต์ ในเวลากลางคืน เพื่อรองรับลูกค้าดาต้าเซ็นเตอร์ตลอด 24 ชั่วโมง
“โครงการนี้จะสร้างรายได้หลักจากการขายไฟฟ้า ส่วนดาต้าเซ็นเตอร์เป็นรายได้รองของบริษัท ถือว่าเป็นโครงการที่ใหญ่มาก” นายมาศถวิน กล่าว