
“กรภัทร” ชี้ SET ประคองตัว รับข่าวเจรจาการค้า-จับตาหุ้น Infratech หนุน
นายกรภัทร วรเชษฐ์ มอง SET ประคองตัวในกรอบแคบ พร้อมชูธีมลงทุน “Dreaming Play” เน้นกลุ่ม Infratech ได้แก่ ADVANC, GULF, GPSC และ GUNKUL และธีม “Ring Play” ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังรับข่าวเจรจาการค้าสหรัฐ-จีนคืบหน้า เช่น PTTGC, WHA, AMATA รวมถึงหุ้นที่ผลประกอบการแข็งแกร่งอย่าง BJC และ CPF
นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าวันนี้ (15 พ.ค.68) แนวโน้ม SET Index มีลักษณะการเคลื่อนไหวประคองตัวและหากมองที่ ตลาดเอเชีย ยังคงอยู่ในภาวะอ่อนตัวเนื่องจากพัฒนาการในการเจรจาการค้ายังคงดำเนินไปในทิศทางที่เป็นบวก
ล่าสุดประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เดินหน้าในการเจรจาการค้ากับหลายประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง ซึ่งหลายประเทศได้มีการนำเจรจาเพื่อนำเข้าเครื่องบินจากบริษัทโบอิ้ง พร้อมกับมีการทำข้อตกลงใหญ่ (Big Deal) หลายฉบับ นอกจากนี้ตลาดยังจับตาการพบกันระหว่างทรัมป์กับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง และทรัมป์ที่จะเกิดขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์นี้
ขณะเดียวกัน จะเห็นได้ว่า พันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยิลด์) ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนราคาทองคำมีการปรับฐานลง สะท้อนให้เห็นว่าตลาดเริ่มลดน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยเองยังเคลื่อนไหวในกรอบแคบ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากภาพรวมการลงทุนในระดับโลก โดยเฉพาะ MSCI ที่ยังคงลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นไทย ซึ่งหลายคนอาจมีความกังวลว่าอาจจะมีแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติ และหากมองในภาพรวมแล้วหุ้นที่หลุดจากการคำนวณในดัชนี MSCI ส่วนใหญ่ไม่ได้มีผลประกอบการที่แย่แต่อย่างใด
ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุด ประเทศไทยเองก็อยู่ระหว่างการรอความชัดเจนในประเด็นการเจรจาการค้า ซึ่งล่าสุดมีสัญญาณในเชิงบวกมากขึ้น หลังจากที่ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ได้ออกมาเปรยว่า ได้รับข้อเสนอจากไทยแล้ว นอกจากนี้ ยังมีอีก 3-4 ประเทศที่ได้รับการพิจารณาในทิศทางบวกเช่นกัน ได้แก่ เกาหลีใต้ ไต้หวัน อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น สะท้อนว่าไทยเองไม่ได้ตกขบวน และน่าจะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความพร้อมในการเข้าสู่กระบวนการเจรจาอย่างรวดเร็ว
ส่วนธีมหลักของตลาดในช่วงนี้ยังคงเป็นลักษณะของ “Dreaming Play” หรือการเก็งกำไรบนความหวังและความคาดหวังในเชิงบวกจากปัจจัยภายนอก ซึ่งฝ่ายนักวิเคราะห์มองกรอบ SET Index ที่ 1,222-1,230 จุด และมีแนวรับ 1,207 จุด และหากถามถึงกรณีทางรัฐบาลได้ออกมาเปิดเผยถึงข้อเสนอในการเจรจากับสหรัฐฯ อยู่ประมาณ 4–5 ประเด็นในมุมมองของฝ่ายนักวิเคราะห์นั้น ไฮไลต์ที่น่าสนใจมีอยู่ 2 เรื่องหลัก คือ 1.) การยกเลิกข้อจำกัดด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) ซึ่งธีม Infratech โดยเฉพาะหุ้นอย่าง ADVANC และ GULF ถือว่าเป็นจุดที่น่าสนใจมากในช่วงนี้ เพราะสอดรับกับแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศ
2.) เรื่องบังคับใช้กฎหมายถิ่นกำเนิดสินค้าเคร่งครัดผ่านการบังคับใช้กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า เพื่อแก้ปัญหาการสวมสิทธิ์สินค้า “Made in Thailand” โดยสินค้าจากประเทศที่ 3 ส่งออกผ่านไทยไปสหรัฐ ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่ารวมของสิทธิภายในประเทศ โดยเฉพาะในแง่ของการเปิดกว้างให้ต่างชาติสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจไทยมากขึ้น ทั้งนี้ จะส่งผลให้หุ้นในกลุ่มที่เกี่ยวข้องเริ่มถูกจับตามองมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมี ประเด็นด้านพลังงาน ที่น่าจับตา คือการนำเข้า RNG (Renewable Natural Gas) ซึ่งจะเป็นประโยชน์โดยตรงกับกลุ่มโรงไฟฟ้า เช่น PTTGC (GC), GULF, GPSC, GUNKU (GF Energy) สิ่งนี้จะช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานและเอื้อต่อการผลักดันโครงการ Data Center ภายในประเทศ ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ หากประเทศไทยไม่เร่งลงทุนใน Data Center ภายในช่วง 3–5 ปีข้างหน้า ก็มีความเสี่ยงที่จะพลาดโอกาส
ในส่วนของกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายนักวิเคราะห์ยังคงแนะนำธีม “Ring Play” ซึ่งเน้นไปที่หุ้นที่ได้ประโยชน์จากปัจจัยภายนอกหรือกระแสเศรษฐกิจรอบข้างที่กำลังฟื้นตัว สำหรับวันนี้หุ้นที่น่าสนใจอาจเน้นไปที่กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมและพลังงาน เช่น PTTGC ที่มีแนวโน้มได้ประโยชน์จากต้นทุนพลังงานที่ลดลง กลุ่มนิคมฯ อย่าง WHA, AMATA นอกจากนี้ ยังมีหุ้นที่ผลประกอบการออกมาดีและน่าสนใจอย่าง BJC และ CPF
สุดท้ายนี้ กรณี OSP (โอสถสภา) แม้ยอดขายในช่วงที่ผ่านมาจะยังชะลอตัวลงเล็กน้อย และส่วนแบ่งตลาดในประเทศหดตัวไปประมาณ 1% แต่ราคาหุ้นก็ได้มีการปรับฐานลงมาแล้ว สะท้อนปัจจัยลบนั้นไประดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม จุดที่น่าสนใจคือ กำไรขั้นต้น (Gross Profit) ที่ออกมาดีมาก และหากดูในแง่ของผลประกอบการ ไม่ว่าจะเป็น Bottom Line หรือ อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (Operating Margin) ก็อยู่ในระดับ ใกล้เคียงกับจุดสูงสุดใหม่ (Record High)
เหตุผลหลักมาจากต้นทุนที่ลดลง โดยเฉพาะต้นทุนวัตถุดิบและพลังงาน เช่น น้ำมัน ที่ปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก ซึ่งถือเป็นต้นทุนสำคัญของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม โดยทั่วไปต้นทุนด้านพลังงานอาจคิดเป็นสัดส่วนถึง 30% ของต้นทุนรวม
ด้วยเหตุนี้ หุ้น OSP จึงมีโอกาสที่จะ รีบาวด์ ได้ในระยะสั้น แม้รายได้จะยังไม่กลับมาเร่งตัวแรงก็ตาม ซึ่งหากมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากกำลังซื้อในประเทศหรือยอดขายที่ฟื้นตัวชัดเจน ก็จะยิ่งเป็นบวกมากขึ้น
นอกจากนี้ ด้วยระดับ P/E ที่ไม่แพง และยังมี เงินปันผลในระดับที่น่าสนใจ หุ้นตัวนี้จึงอาจมีโอกาสปรับขึ้นไปเหนือระดับ 16 บาทได้ นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้อาจพิจารณาเข้าเก็งกำไรระยะสั้นในช่วงนี้