
ไขทุกข้อสงสัย! ปลัดคลังแจงเอง ปม กยศ.หักเงิน 3,000-หนี้ไม่ตรง แนะผู้กู้เช็กสถานะ
"ปลัดคลัง" ไขทุกประเด็นข้อสงสัย "กยศ."กรณีหักเงินเดือน 3,000 บาท จากกลุ่มค้างชำระ ย้ำหากไม่ต้องการถูกหัก เร่งปรับโครงสร้างหนี้หรือชำระยอดค้างให้ครบถ้วน พร้อมเปิดระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้ดำเนินการได้ผ่านเว็บไซต์-แอปฯ กยศ. Connect พร้อมเดินหน้ายกระดับระบบบริหารหนี้ภายใต้กฎหมายใหม่ ลุยปรับโครงสร้างครอบคลุมผู้กู้ 3.8 ล้านบัญชี
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินงานกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ว่า จากการที่ กยศ. ได้เดินหน้าเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารจัดการหนี้ครั้งสำคัญ ภายใต้กฎหมายใหม่ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 โดย กยศ.ได้มุ่งลดภาระหนี้ให้กับผู้กู้ยืมพร้อมปรับระบบการติดตามเร่งรัดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยสาระสำคัญของกฎหมายฉบับใหม่นี้ ได้แก่ การกำหนดลำดับการชำระหนี้ใหม่ให้เริ่มจากเงินต้น → ดอกเบี้ย → เงินเพิ่ม (แทนแบบเดิมที่เริ่มจากเงินเพิ่ม → ดอกเบี้ย →) พร้อมปรับลดอัตราดอกเบี้ยเหลือไม่เกิน 1% ต่อปี และอัตราเงินเพิ่มไม่เกิน 0.5% ต่อปี โดยมีระยะเวลาปลอดหนี้ 2 ปี และกำหนดระยะเวลาการผ่อนชำระไม่เกิน 15 ปี หรือจนกว่าผู้กู้จะมีอายุครบ 65 ปี
ทั้งนี้ผู้กู้ที่ปรับโครงสร้างหนี้จะได้รับสิทธิประโยชน์ เช่น การหลุดพ้นจากภาระของผู้ค้ำประกัน และการยกเว้นเงินเพิ่มหากชำระตรงตามกำหนด โดยครอบคลุมผู้กู้ยืมทุกกลุ่ม ทั้งที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ ถูกฟ้องคดี หรืออยู่ระหว่างบังคับคดี สามารถทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านเว็บไซต์ กยศ. ได้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2568
สำหรับแผนดำเนินงานของ กยศ. ในช่วงปี 2566–2568 มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องดังนี้ ปี 2666 ได้เริ่มประกาศใช้กฎหมายใหม่ในเดือนมี.ค.66 และกระทรวงยุติธรรมขอให้เร่งรัดคืนเงินกลุ่มที่อยู่ระหว่างบังคับคดีจำนวน 50,000 กว่าราย และประกาศหลักเกณฑ์กระบวนการคำนวณหนี้ใหม่ (Recal) และ KTB Recal นอกระบบ 3.6 ล้านบัญชี
ส่วนในปี 2567 เริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างผู้พัฒนาระบบ Recal ในเดือนม.ค.67 และออกระเบียบ หลักเกณฑ์การคืนเงิน และเริ่มทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แบบกระดาษ ในเดือนก.พ.67 และเริ่มคืนเงินผู้กู้ในมี.ค.67 จากนั้นแถลงข่าวการคำนวณหนี้ใหม่ (Recal) นอกระบบเสร็จสิ้น และให้ลูกหนี้ตรวจสอบยอดหนี้ได้ที่เว็บไซต์กยศ.ในเดือนก.ค.67 และประกาศหลักเกณฑ์ปรับโครงสร้างหนี้ฉบับที่ 2 โดยให้นำยอด Recal ณ วันที่ 30 ก.ย. 2566 มาใช้ในสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ในเดือนส.ค.67และKTB Recal นอกระบบ 3.8 ล้านบัญชี
ขณะที่ปี 2568 เริ่มจัดซื้อจัดจ้างผู้พัฒนาระบบ Recal สำเร็จ และให้ให้นำยอด Recal นอกระบบ ณ วันที่ 30 ก.ย. 67 มาใช้ในสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ในเดือนม.ค.2568 และเริ่มทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ออนไลน์ในเดือนมี.ค.2568 และได้รับจัดสรรงบกลางฉุกเฉินจำนวน 2,838.64 ล้านบาท เพื่อจ่ายคืนให้แก่ผู้กู้ที่ชำระหนีกินในเดือนมี.ค.68
โดยผลการดำเนินงานเบื้องต้นพบว่า มีการ Recal (คำนวณยอดหนี้ใหม่ ณ วันที่ 30 ก.ย. 67) รวม 3.8 ล้านบัญชี โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่หนี้หมด (ปิดบัญชี) จำนวน 80 บัญชี, กลุ่มที่มียอดหนี้ลดลง 3,548,016 บัญชี, กลุ่มที่มียอดหนี้เท่าเดิม 755 บัญชี และกลุ่มที่มีสิทธิได้รับเงินคืนจำนวน 286,362 บัญชี รวมยอดเงินคืนทั้งสิ้น 3,399.12 ล้านบาท ภายในปีงบประมาณ 2569 โดยรอบแรกจะคืน 70% เพื่อเร่งคืนเงินให้ผู้กู้ก่อน โดยกลุ่มดังกล่าสามารถตรจสอบสถานะจากเว็บไซต์ “กยศ.”
ส่วนผู้กู้ที่มีสิทธิได้รับเงินคืนสามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ กยศ. โดยเงินจะถูกโอนผ่านระบบพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชน สำหรับรอบคืนเงินล่าสุด ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2568 มีผู้ลงทะเบียนขอคืนเงินแล้วจำนวน 26,463 บัญชี เป็นวงเงินรวม 426.5 ล้านบาท โดยจะได้รับเงินคืนครบภายในเดือนพฤษภาคมนี้
ในด้านการปรับโครงสร้างหนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 12 พฤษภาคม 2568 ระบุว่า มีผู้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้วทั้งสิ้น 598,334 บัญชี แบ่งเป็นแบบกระดาษ 261,110 บัญชี และแบบออนไลน์ 337,224 บัญชี ซึ่งสามารถดำเนินการผ่านเว็บไซต์ กยศ. และผู้กู้ที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ ทั้งที่ กยศ.ยังไม่ฟ้องคดีและฟ้องคดีแล้ว หรืออยู่ระหว่างบังคับคดี มีสิทธิ์ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แบบอิเล็กทรอนิกส์ทุกราย)
นอกจากนี้ กยศ. ยังชี้แจงกรณีการหักเงินเดือนผู้กู้รายละ 3,000 บาท ว่า เป็นผลมาจาก 1.ผู้กู้ยืมมียอดค้างชำระหนี้ ก่อนการเริ่มหักเงินเดือในระหว่างที่ กยศ. แจ้งการหักเงินเดือน หากผู้กู้ยืมไม่ได้ชำระส่วนต่าง (ยอดที่ค้างชำระ) ในวันที่ 5 กรกฎาคม ของงวดปีนั้นๆ
2.กยศ.แจ้งลูกหนี้ทางหนังสือตามที่อยู่ตามทะเบียนราษฎร, แจ้งผ่าน Application Line และแจ้งผ่าน Application กยศ. Connect
3.ผู้กู้ยืมสามารถตรวจสอบข้อมูลการค้างชำระได้ผ่าน Application กยศ. Connect และ4.หาก ไม่อยากถูกหักเงินเพิ่มเดือนละ 3,000 บาท ผู้กู้ยืมขอปรับโครงสร้างหนี้ออนไลน์ และชำระยอดค้างชำระให้เสร็จสิ้น
อย่างไรก็ตามการจัดการหนี้และการติดตามทวงถาม กฎหมาย กยศ. ให้อำนาจในการติดตามเร่งรัดการชำระเงินคืนได้ กยศ. ได้กำหนดหลักเกณฑ์การบริหารจัดการ ติดตามและเร่งรัดฯ เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงาน ยอดฟ้องคดีของ กยศ. ลดลงตั้งแต่ปี 2563 เนื่องจากมีมติให้ชะลอการฟ้องและฟ้องเฉพาะคดีที่ใกล้หมดอายุความ (10 ปี)
นอกจากนี้ กยศ. ได้ออกมาตรการลดหย่อนหนี้สำหรับผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างระยะเวลาปลอดหนี้และผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ที่ กยศ. ยังไม่ฟ้องคดี โดยใช้ยอด Recal ณ 30 กันยายน 2567 เป็นยอดหนี้ตั้งต้น และจะได้รับส่วนลดต้นเงิน 5-10% และส่วนลดเบี้ยปรับ 100% เมื่อชำระหนี้ปิดบัญชีในคราวเดียวโดยสามารถตรวจสอบรายละเอียดและลงทะเบียนขอรับสิทธิ์ได้ที่เว็บไซต์ กยศ. ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม-31พฤษภาคม 2568