
“อัสสเดช” เร่งฟื้นตลาดทุน! ชูโครงการ Jump+ หนุน “บจ.” ผลักดัน TISA เสริมนักลงทุน
"อัสสเดช คงสิริ” เดินหน้าฟื้นตลาดทุน ชูโครงการ Jump+ หนุน “บจ.” วางแผนเติบโตชัดเจน พร้อมผลักดันแนวคิด TISA สร้างวินัยการออมระยะยาว เสริมความเชื่อมั่นนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยบนเวทีเสวนาในงาน Thailand’s Capital Market Forum 2025 หัวข้อ “กี่โมง…หุ้นขึ้น” ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นธุรกิจ เมื่อวันที่ (17 พ.ค.68) ว่าเรื่องความผันผวนของตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลกนับภาวะปกติของตลาดการเงินในระดับสากล อย่างไรก็ตาม กลไกของตลาดหลักทรัพย์ไทยเอง ก็มีความยืดหยุ่นและมีการเตรียมความพร้อมไว้ในระดับหนึ่ง
โดยขอยกตัวอย่างเหตุการณ์บังคับใช้ภาษีการค้าสหรัฐฯ วันที่ 2 เมษายน 2568 ซึ่งวันนั้นตลาดหุ้นไทยปิดทำการพอดี ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ ทำให้นักลงทุนมีเวลาติดตามและเห็นภาพรวมของความผันผวนในตลาดโลกได้ชัดเจนขึ้น จึงมีมาตรการออกมาเพื่อรับมือปัญหาได้
ส่วนเรื่องการส่งเสริมตลาดทุน ถ้าถามว่า ณ วันนี้ภาครัฐได้เข้ามาช่วยเหลือภาคตลาดทุนค่อนข้างมาก ย้อนกลับไปตั้งแต่ปีที่แล้วมีการจัดตั้ง “กองทุนรวมวายุภักษ์” นอกจากนี้ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมายังมีโครงการ Thai ESGX ที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษี 3 แสนบาท
อีกทั้ง ฝั่งตลาดตราสารหนี้ไทยเอง เงินลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) ไหลเข้าประเทศอย่างต่อเนื่องสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นศักยภาพ เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยจากมุมมองนักลงทุนทั่วโลก
นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เองก็มีนโยบายที่เข้ามาเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่บรรดานักลงทุน ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องของความเชื่อมั่นในตลาดทุนต้องย้อนกลับไปที่พื้นฐานเป็นหลัก อาทิ เศรษฐกิจ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) หากพื้นฐานดี มีแนวโน้มการเติบโตที่ชัดเจนตลาดทุนก็จะดีตามไปด้วย
สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้จากประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และตลาดทุนอื่นๆ คือการพัฒนาโครงการที่มุ่งเน้นให้ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (บจ.) คือ มีแผนการเติบโตอย่างเป็นระบบ โดยทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เปิดตัวโครงการ Jump+ มีความตั้งใจผลักดันให้วางแผนการเติบโตอย่างชัดเจนในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
โดย Jump+ ได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) และสมาคมนักวิเคราะห์ที่เข้ามามีบทบาทในการช่วยสื่อสารแผนงานของแต่ละบริษัทให้ชัดเจนขึ้น
“กลับมาที่ประเด็นเรื่องพื้นฐานอีกครั้งนะครับ ถ้าเศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ดี และธุรกิจต่างๆ มีการขยายตัว ก็จะเพิ่มความน่าสนใจให้กับนักลงทุน ไม่ใช่เฉพาะในประเทศเท่านั้น แต่รวมถึงนักลงทุนต่างชาติด้วย” นายอัสสเดช กล่าว
นอกจากนี้ ทางนายกรัฐมนตรีเองก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เช่นกัน และได้หารือร่วมกับ ตลท. รวมถึง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ว่าจะสามารถสนับสนุนธุรกิจใหม่ๆ ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย และเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มากขึ้นอย่างไร
ทั้งนี้ เกณฑ์ปัจจุบันการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จำเป็นต้องมีผลประกอบการและมีประวัติการดำเนินงาน (track record) ที่ดี กรณีของบริษัทต่างชาติหลายแห่งที่เข้ามาลงทุนผ่าน BOI หากบริษัทแม่ในต่างประเทศมีความแข็งแกร่ง มีดำเนินงานชัดเจน ประสบความสำเร็จ เช่น กลุ่มธุรกิจ Data Center ที่กำลังลงทุนในไทย หรือ ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จากจีน หากบริษัทเหล่านี้ตัดสินใจใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต ทางเราก็ควรพิจารณาแนวทางที่จะเปิดโอกาสให้สามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดทุนไทยได้
สุดท้ายนี้ นายอัสสเดช กล่าวถึงแนวคิดของนโยบาย “TISA” หรือ Thailand Individual Saving Account ที่จะนำมาใช้ในประเทศไทยว่า จริงๆ แล้วแนวคิดของ TISA เราได้แรงบันดาลใจมาจากญี่ปุ่น ขณะนี้ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำลังร่วมกันศึกษาความเหมาะสมของการนำแนวคิดนี้มาปรับใช้ โดยก่อนหน้านี้กองทุน CMDF ได้ให้การสนับสนุนการศึกษาเบื้องต้น
TISA คือ การสร้างระบบการออมการลงทุนที่มีความต่อเนื่องในระยะยาว ไม่เหมือนกับ LTF ที่เมื่อครบกำหนด 5-7 ปี แล้วมีแรงจูงใจให้ขายทิ้งเพื่อรับเงินคืน ต่างจาก TISA จะเน้นสร้างแรงจูงใจลงทุนแบบต่อเนื่อง ขณะนี้ ยังอยู่ในช่วงต้นของการออกแบบรายละเอียด และคงต้องทำงานร่วมกันระหว่างตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อจัดทำข้อเสนอเสนอต่อกระทรวงการคลังและรัฐบาลต่อไป