
“คุณสู้ เราช่วย” จ่อคลอด! ค้างหนี้วันเดียว พักดอกเบี้ย 3 ปี บวกต่อ “แบงก์-ไฟแนนซ์”
คลัง เตรียมคลอดเฟสใหม่ 'คุณสู้ เราช่วย' ค้างหนี้แค่ 1 วันก็เข้าร่วมได้ พักดอกเบี้ย 3 ปี หนุนแบงก์-ไฟแนนซ์ ชู KBANK-KTB-MTC รับอานิสงส์ตรงจากลูกหนี้เพิ่ม
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกรณี ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังกำลังอยู่ระหว่างหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อขยายเงื่อนไข มาตรการแก้หนี้ “คุณสู้ เราช่วย” ดังนี้
1.ขยายคุณสมบัติลูกหนี้ของมาตรการ “จ่ายตรง คงทรัพย์” จากเดิมที่ต้องค้างชำระเกิน 30 วันขึ้นไป (ณ วันที่ 30 ต.ค. 67) ปรับเป็น ลูกหนี้ที่เคยมีประวัติค้างชำระ 1 วัน ขึ้นไป และเคยปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อเป็นการขยายโอกาสให้พี่น้องประชาชนเข้าร่วมมาตรการได้มากยิ่งขึ้น
โดยมาตรการ ‘จ่ายตรง คงทรัพย์’ จะช่วยลูกหนี้สินเชื่อบ้าน / Home for Cash ไม่เกิน 5 ล้านบาท สินเชื่อรถยนต์ไม่เกิน 8 แสนบาท สินเชื่อรถจักรยานยนต์ไม่เกิน 50,000 บาท และสินเชื่อ SMEs ไม่เกิน 5 ล้านบาท โดยจะช่วยปรับโครงสร้างหนี้และลดค่างวดในปีที่ 1 เหลือ 50% ในปีที่ 2 เหลือ 70% ในปีที่ 3 เหลือ 90% และ ‘พักภาระดอกเบี้ย’ เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยค่างวดที่จ่ายจะนำไปตัดชำระเงินต้นทั้งหมด ขณะที่ดอกเบี้ยที่พักไว้ตลอดระยะเวลา 3 ปีจะ “ได้รับการยกเว้น” ตามเงื่อนไข
2.ขยายภาระหนี้ของมาตรการ “จ่าย ปิด จบ” จากเดิมที่ภาระหนี้เสียไม่เกิน 5,000 บาท ปรับเป็น หนี้เสียแบบไม่มีหลักประกัน ภาระหนี้ไม่เกิน 10,000 บาท ต่อบัญชี และหนี้เสียแบบมีหลักประกัน ภาระหนี้ไม่เกิน 30,000 บาท ต่อบัญชี โดยในมาตรการนี้ ลูกหนี้ชำระหนี้ขั้นต่ำเพียง 10% ของยอดหนี้คงค้างเพื่อปิดหนี้ได้ทันที
3.เนื่องจากได้รับความสนใจเป็นจำนวนมาก และรัฐบาลต้องการแก้หนี้ประชาชนให้มากขึ้นไปอีก ปัจจุบันมีระยะเวลาโครงการถึง 30 มิ.ย. 68 โดยจะมีการขยายระยะเวลาต่อไปอีก คาดว่าทั้งหมดนี้จะสามารถเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบภายในเดือนมิถุนายน 2568
ทั้งนี้ สอดคล้องกับฝ่ายนักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ฝ่ายวิจัยมีมุมมอง “slightly positive” ต่อข่าวการปรับเกณฑ์โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เนื่องจากมาตรการที่ประกาศปรับปรุงล่าสุดมีแนวโน้มส่งผลเชิงบวกต่อคุณภาพสินทรัพย์ของสถาบันการเงิน โดยคาดว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ (Credit Cost) และลดระดับหนี้เสีย (NPL) ในระบบลงได้ ขณะเดียวกัน รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย (Non-NII) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งน่าจะสามารถชดเชยรายได้ดอกเบี้ย (NII) ที่หายไปจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ได้ในระดับหนึ่ง
รายละเอียดการปรับปรุงมาตรการ ดังนี้
1.มาตรการ “จ่ายตรง คงทรัพย์”
ขยายคุณสมบัติของลูกหนี้จากเดิมที่ต้องมีสถานะค้างชำระมากกว่า 30 วัน เป็นลูกหนี้ที่เคยมีประวัติค้างชำระเพียง 1 วันขึ้นไป รวมถึงลูกหนี้ที่เคยมีการปรับโครงสร้างหนี้ ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2567
2.มาตรการ “จ่าย ปิด จบ”
ขยายขอบเขตความช่วยเหลือครอบคลุมหนี้เสียแบบไม่มีหลักประกันไม่เกิน 10,000 บาทต่อบัญชี และหนี้เสียแบบมีหลักประกันไม่เกิน 30,000 บาทต่อบัญชี จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ไม่เกิน 5,000 บาท
3.การขยายระยะเวลาโครงการ
ปัจจุบันกำหนดสิ้นสุดโครงการในวันที่ 30 มิถุนายน 2568 และมีแนวโน้มที่จะมีการขยายระยะเวลาเพิ่มเติม
กลุ่มสถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ “จ่ายตรง คงทรัพย์” มากที่สุด ได้แก่
ธนาคาร: บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO (74%) > ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP (70%) > ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB (63%) >บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB (56%) > ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK (49%) > ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB (29%)
สินเชื่อรายย่อย (Consumer Finance): MTC (71%) > AEONTS (8%) > KTC (2%)
สำหรับมาตรการ “จ่าย ปิด จบ” ซึ่งมุ่งช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยในกลุ่มสินเชื่อที่เป็นหนี้เสียทุกประเภท
ธนาคาร: TISCO และ KKP (68-69%) > TTB (61%) > SCB (48%) > KTB (46%) > KBANK (27%) > BBL (12%)
สินเชื่อรายย่อย: บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC, บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC, บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AEONTS (มีพอร์ตที่เกี่ยวข้อง 100%)
มุมมองด้านการลงทุน
กลุ่มธนาคาร: ยังคงคำแนะนำ “Neutral” โดยคัดเลือก ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK โดยให้ราคาเป้าหมาย 170 บาท และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB โดยให้ราคาเป้าหมาย 25 บาท เป็นหุ้นเด่น (Top Picks)
กลุ่ม Consumer Finance ยังคงคำแนะนำ “Bullish” โดยเลือก บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC โดยให้ราคาเป้าหมาย 58 บาท เป็นหุ้นเด่น