
“กิติพงศ์” โชว์ผลงาน 1 ปี ปฏิรูปตลาดทุนดัน บจ.แตะ 1,500 แห่ง-เปิดกระดานใหม่ ฟื้นเชื่อมั่น
“กิติพงศ์” ประธานตลาดหลักทรัพย์ฯ โชว์ผลงานครบ 1 ปี ชูภารกิจฟื้นเชื่อมั่นตลาดทุน พร้อมเปิดแผนยุทธศาสตร์ใหม่ เร่งเพิ่มบจ.แตะ 1,500 แห่ง พร้อมปูทางเปิดกระดาน New Economy ดึงสตาร์ทอัพ-เทคโนโลยี พร้อมเสนอควบรวมโบรกเกอร์ที่ขาดทุน ลดการซ้ำซ้อนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขัน หวังดันตลาดทุนไทยแข็งแกร่งรับอนาคต
ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยในเวที “Meet the Press” ถึงภารกิจสำคัญในการยกระดับการกำกับดูแลและสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดหุ้นไทยในช่วงปี 2567-2568 ว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปี นับจากเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 ได้มุ่งเน้นการฟื้นฟูความเชื่อมั่นในตลาดทุนไทย โดยเฉพาะในช่วงที่ดัชนี SET Index ผันผวนอย่างรุนแรง และนักลงทุนรายย่อยได้รับผลกระทบจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น ปัญหาการฉ้อฉล ความไม่เท่าเทียมในการซื้อขายหุ้นระหว่างนักลงทุนบางกลุ่มกับรายย่อย ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ตลาดทุนไทยสูญเสียความน่าสนใจ
โดยการดำเนินงานที่สำคัญในช่วงปีแรกของการบริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ ถูกจัดวางไว้เป็น 4 แนวทางหลัก ได้แก่
1. การฟื้นฟูความเชื่อมั่นร่วมกับทุกภาคส่วน ได้แก้มีการปรับปรุงกฎเกณฑ์การกำกับดูแลและการคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การห้ามทำ Naked Short Sell โดยนักลงทุนต่างชาติต้องยืนยันการถือครองหุ้นก่อนการทำธุรกรรม การเสนอให้ Short Sell ทำได้เฉพาะหุ้นในกลุ่ม SET100 การควบคุม HFT (High-Frequency Trading) ด้วยการบังคับจดทะเบียน พร้อมเตรียมปรับปรุงระบบ Colocation ให้เกิดความเท่าเทียมในการส่งคำสั่งซื้อขาย
นอกจากนี้ ยังได้ยกระดับคุณสมบัติบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนใน SET และ mai โดยไม่ให้เป็น Investment Company และปรับเกณฑ์การขึ้นเครื่องหมาย “C” เพื่อให้นักลงทุนสามารถรับรู้ความเสี่ยงได้รวดเร็วและชัดเจนยิ่งขึ้น
ในด้านการสนับสนุนการซื้อหุ้นคืน (Treasury Stock) มีการแก้ไขกฎกระทรวงให้สามารถดำเนินการได้ง่ายขึ้น โดยคาดว่ากฎเกณฑ์ใหม่จะมีผลบังคับใช้ในเร็วๆ นี้
ขณะเดียวกัน ยังได้มีการลงนามความร่วมมือกับ ก.ล.ต., DSI และ ปปง. เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายให้รวดเร็วขึ้น รวมถึงผลักดันให้ ก.ล.ต. มีอำนาจในการฟ้องคดีสำคัญโดยตรง ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนพิจารณา พร้อมติดตามความคืบหน้าคดีสำคัญ เช่น MORE และ STARK ที่ได้ส่งเรื่องต่อให้อัยการและตำรวจเป็นที่เรียบร้อย
2. เพิ่มความน่าสนใจให้ตลาดทุน ดำเนินการสนับสนุน Family Business, ส่งเสริมการลงทุนระยะยาวผ่านกองทุนวายุภักษ์และ Thal ESGX รวมถึงขยายเวลาทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์, mai และ TFEX เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและดึงดูดนักลงทุนให้มากขึ้น
3. ผลักดันกฎหมายตลาดทุนในเชิงรุกริเริ่มการให้ความรู้กฎหมายหลักทรัพย์ผ่านหลักสูตรใหม่ พร้อมเตรียม ร่าง Omnibus Law for Capital Market ครอบคลุมการแก้ไขกฎหมายหลักทรัพย์ กฎหมายบริษัทมหาชน และกฎหมายอื่นๆ รวมกว่า 10 ฉบับ เพื่อรองรับบริบทเศรษฐกิจยุคใหม่ และเพิ่มความคล่องตัวในการกำกับดูแลและขับเคลื่อนตลาดทุน
4. ขับเคลื่อนนโยบายด้านความยั่งยืน (ESG) ดำเนินการสนับสนุนโครงการ ESG Data Platform, การยกระดับธรรมาภิบาล (CG), และการประชาสัมพันธ์ศักยภาพตลาดทุนไทยในเวทีนานาชาติ พร้อมเตรียมแผนพัฒนา Carbon Credit Ecosystem เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับเทรนด์เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำในอนาคต
นอกจากนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมีแผนกลยุทธ์ต่อเนื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ อาทิ โครงการ JUMP+ เริ่มในเดือนมิถุนายน โดยหารือกับบริษัทจดทะเบียนกว่า 50-100 แห่ง เพื่อเพิ่มมูลค่าอย่างยั่งยืน,Bond Connect Platform และ Carbon Credit Ecosystem อยู่ระหว่างการออกแบบโครงสร้าง และดึงดูดบริษัทNew Economy, DeepTech, Startup และบริษัทที่แยกตัวจากกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น PTT และ WHA โดยไม่จำเป็นต้องมีกำไรต่อเนื่อง 3 ปี พร้อมทำงานร่วมกับ BOI และ NIA เพื่อสร้างระบบรองรับการระดมทุนจากกลุ่มธุรกิจนวัตกรรม
ขณะเดียวกันเสนอแนวคิดการออมระยะยาวผ่าน Thailand Individual Saving Account (TISA) ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถสะสมหุ้น พร้อมรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ทั้งนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาแก้ไขกฎหมายและการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีนอกจากนี้ตลาดฯยังเร่งศึกษาการใช้ AI เพื่อสนับสนุนงานกำกับดูแล, วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อช่วยนักลงทุนรายย่อย และเพิ่มการเปิดเผยข้อมูลเชิงลึก
ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ ระบุอีกว่า แม้ตลาดหุ้นไทยจะยังผันผวน แต่การรักษาระดับดัชนีที่ 1,200 จุด และราคาหุ้นของบริษัทที่มีคุณภาพยังคงอยู่ในระดับที่มั่นคง ถือเป็นเครื่องสะท้อน “เสถียรภาพพื้นฐาน” ของตลาดในช่วงเปลี่ยนผ่านพร้อมกันนี้ ได้ประกาศแผนการพัฒนาตลาดทุนในระยะต่อไปโดยเน้นการเปลี่ยนโครงสร้างเชิงกลยุทธ์ 3 ด้านสำคัญ ได้แก่
1.การเพิ่มจำนวนบริษัทจดทะเบียน จากปัจจุบันที่มีราว 800 บริษัท ซึ่งถือว่ายังน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับจำนวนกิจการในประเทศ โดยเป้าหมายคือเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1,000-1,500 แห่งในระยะกลาง หากดึงได้เพียง 10% ของกิจการไทยที่เสียภาษีกว่า 100,000 ราย ก็สามารถขยายตลาดทุนได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐ เช่น การให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีจากกระทรวงการคลัง และการเปิดโอกาสให้บริษัทต่างชาติเข้าจดทะเบียนในไทยได้มากขึ้น
2.การแยกกระดานซื้อขายสำหรับธุรกิจ New Economy: เพื่อรองรับกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพที่เติบโตเร็ว มีแผนจะจัดตั้งกระดานใหม่แยกจาก SET หลัก โดยจะรวมทั้งบริษัทใหม่ที่มีศักยภาพ และหน่วยธุรกิจที่แยกออกจากกลุ่มบริษัทใหญ่ (Spin-off) ซึ่งจะช่วยดึงดูดผู้ประกอบการรายใหม่ให้เข้ามาสู่ระบบตลาดทุนอย่างรวดเร็วและมีต้นทุนต่ำ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบ และหากเป็นไปตามเป้าหมายอาจเริ่มได้ภายใน 3-6 เดือนหรือเร็วที่สุดภายใน 100 วัน ก่อนการเปลี่ยนวาระประธานตลาด
3.การควบรวมกิจการในกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) จากจำนวนที่มีอยู่ 39 ราย โดยครึ่งหนึ่งขาดทุนต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประธานตลาดฯ เห็นว่าควรลดจำนวนเหลือครึ่งหนึ่ง เพื่อสร้าง “economy of scale” และยกระดับคุณภาพบริการ โดยเฉพาะในยุคที่ลูกค้านิยมเทรดออนไลน์ การแข่งขันแบบกระจายเกินไปส่งผลต่อการทำกำไร ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์พร้อมสนับสนุนในเชิงนโยบาย เช่น การลดค่าธรรมเนียม หรือการเร่งกระบวนการอนุมัติเปลี่ยนแปลงโครงสร้างให้รวดเร็วขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนดำเนินการซื้อหุ้นคืน (Treasury Stock) โดยระบุว่าช่วง 4 เดือนแรกของปี 2568 มีการซื้อหุ้นคืนแล้วรวมมูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาท จาก 37 บริษัท ซึ่งเทียบเท่ากับยอดรวมทั้งปี 2567 ทั้งนี้ เงื่อนไขเดิมที่บังคับให้รอ 6 เดือนก่อนเปิดโครงการใหม่ และต้องขายหุ้นคืนภายใน 3 ปี ได้รับการผ่อนปรนให้ยืดหยุ่นขึ้นสูงสุด 5 ปี ส่งผลให้บริษัทที่มีฐานะการเงินดีสามารถบริหารโครงสร้างทุนได้คล่องตัวและส่งผลบวกต่อมูลค่าหุ้น
ในส่วนของนโยบายด้าน ESG โดยเฉพาะประเด็น สิ่งแวดล้อมและคาร์บอนฟุตพริ้นท์ย้ำว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่บริษัทไทยต้องเร่งปรับตัว หากไม่ทำจะประสบปัญหาในการขายสินค้าในตลาดโลก โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมเป็นแพลตฟอร์มร่วมสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน ทั้งในด้านการให้ข้อมูล กฎระเบียบ และความร่วมมือกับพันธมิตรต่างประเทศ
อีกทั้งกล่าวทิ้งท้ายเมื่อถูกถามถึงการประเมินผลงานหลังดำรงตำแหน่งครบ 1 ปี ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ตอบอย่างถ่อมตนว่า “ให้คนอื่นเป็นผู้ให้คะแนน” พร้อมยืนยันความพร้อมหากได้รับการต่ออายุจากผู้มีอำนาจ พร้อมประกาศเป้าหมายเร่งเดินหน้าให้ทันภายใน 100 วันก่อนครบวาระ