
CGSI คงน้ำหนัก “Overweight” กลุ่มค้าปลีก ชู BJC-CPALL หุ้นปลอดภัย-รายได้มั่นคง
CGSI คงน้ำหนัก Overweight หุ้นค้าปลีกไทย ชี้ BJC-CPALL เด่นด้วยศักยภาพเติบโตแบบมั่นคง ท่ามกลางแรงกดดันจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวที่ลดลงใน Q2/68
ฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (CGSI) เปิดเผยบทวิเคราะห์ล่าสุดเกี่ยวกับภาพรวมกลุ่มค้าปลีกไทย โดยคาดว่าสถานการณ์ในไตรมาส 2/2568 จะเผชิญความท้าทายมากขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก ทั้งจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อ่อนตัวลงและจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยังคงแนะนำ “Overweight” สำหรับกลุ่มค้าปลีก โดยเลือกหุ้น BJC และ CPALL เป็น Top pick ในฐานะหุ้นแนวเติบโตแบบป้องกันความเสี่ยง (Defensive Growth) จากสถานะผู้จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่มียอดขายและกำไรค่อนข้างมั่นคง
CGSI ระบุว่าจากการวิเคราะห์ผลประกอบการของผู้ค้าปลีก 8 บริษัท ได้แก่ BJC, CPALL, CRC, MOSHI, CPAXT, DOHOME, GLOBAL และ HMPRO พบว่ากำไรจากการดำเนินงานปกติในไตรมาส 1/2568 อยู่ที่ 1.67 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (yoy) แต่ลดลง 8.3% จากไตรมาสก่อนหน้า (qoq) โดยบริษัทที่จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคเติบโตโดดเด่นที่สุด มีกำไรปกติรวม 1.15 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.6% yoy นำโดย CPALL ที่มีกำไรเพิ่มขึ้นถึง 25.5% yoy ขณะที่ BigC เป็นบริษัทเดียวในกลุ่มที่มีกำไรลดลงจากยอดขายสินค้าบ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่อ่อนตัว และรายได้จากค่าเช่าที่ลดลง
สำหรับกลุ่มค้าปลีกสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น Home improvement และแฟชั่น ยังคงเผชิญแรงกดดัน โดยกลุ่ม Home improvement มีกำไรปกติลดลง 4% yoy อยู่ที่ 2.6 พันล้านบาท จากความอ่อนตัวของอุปสงค์ด้านการก่อสร้างและปรับปรุงที่อยู่อาศัย ส่วนกลุ่มแฟชั่นเริ่มเข้าสู่ขาลงจากยอดขายสาขาเดิม (SSSG) และอัตรากำไรขั้นต้น (GPM) ที่ลดลง สะท้อนความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ถดถอย และจำนวนนักท่องเที่ยวที่ยังต่ำกว่าคาดการณ์
CGSI ชี้ว่าในไตรมาส 2/2568 ปัจจัยกดดันหลักคือการลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนเมษายน จากผลกระทบของเหตุแผ่นดินไหวในกรุงเทพฯ ช่วงปลายเดือนมีนาคม รวมถึงความไม่แน่นอนด้านนโยบายภาษีของสหรัฐ ส่งผลให้ SSSG ของผู้ค้าปลีกส่วนใหญ่ปรับลด โดยเฉพาะกลุ่ม Home improvement ที่ SSSG ติดลบระหว่าง –3% ถึง –15% และกลุ่มแฟชั่นติดลบราว –5% ขณะที่กลุ่มอุปโภคบริโภคยังประคองยอดขายไว้ได้ในช่วง –2% ถึง +1%
MOSHI ยังคงโดดเด่นด้วย SSSG QTD ที่ +17% แม้ไม่รวมฐานที่ต่ำจากปีก่อนซึ่งอยู่ราว 10% ก็ยังคงบวกได้ 6-7% ซึ่งสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์และการปรับร้านค้าเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า
CGSI ย้ำว่า BJC และ CPALL เหมาะแก่การลงทุนในช่วงที่เศรษฐกิจผันผวน เนื่องจากมีฐานรายได้ที่มั่นคงจากสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ขณะเดียวกันยังคงแนะนำหลีกเลี่ยงหุ้นกลุ่ม Home improvement ที่ขาดปัจจัยสนับสนุนระยะสั้น ส่วน MOSHI เป็นผู้นำในกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ด้วยความยืดหยุ่นด้านกำไรและการเติบโตเชิงโครงสร้าง ด้าน CRC แม้กำไรจะชะลอ แต่ด้วยค่า P/E ปี 2568 เพียง 13.5 เท่า จึงนับเป็นจุดเข้าซื้อที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่เน้นหุ้นคุณค่า
ทั้งนี้ กลุ่มค้าปลีกยังมีความเสี่ยงด้านลบ (downside risk) หากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังคงลดลงและนักท่องเที่ยวไม่ฟื้นตัวตามเป้า ขณะที่ปัจจัยบวกที่ควรจับตาคือแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยและมาตรการทางการคลังของภาครัฐ